xs
xsm
sm
md
lg

อย.ยันไม่มีแก้ข้อมูล “อาหารเสริม” หลังตรวจสอบพบปนเปื้อน เพราะล็อตผลิตนั้นพบจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บริษัทยาแจงไม่พบสารปนเปื้อนใน “อาหารเสริม” แล้ว พร้อมขอความเป็นธรรม อย. ชี้ ต้องดูล็อตการผลิตที่ตรวจสอบตรงกันหรือไม่ ยันแม้ทำให้ถูกต้องแล้วก็ไม่มีการแก้ข้อมูล

จากกรณีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) อุบลราชธานี ทำหนังสือเลขที่ อบ. 0032.008/ว 1077 ลงวันที่ 7 ก.พ. 2560 ส่งถึง ผอ.รพ.และสาธารณสุขอำเภอทุกแห่งในจังหวัด เพื่อแจ้งผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร 2 ยี่ห้อ เนื่องจากพบการปนเปื้อน ยาฟลูออกซิทีน หรือ ยารักษาโรคซึมเศร้า คือ 1. เลขสารบบอาหาร 74-2-03357-1-0091 รุ่นที่ผลิต AA000308 วันที่ผลิต 02.09.16 วันหมดอายุ 01.09.19 และ 2. เลขสารบบอาหาร 13-1-13653-1-0112 รุ่นที่ผลิต 112974C วันที่ผลิต 08062016 วันหมดอายุ 18062018

ล่าสุด ทางบริษัทยาได้ส่งหนังสือชี้แจงว่า คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และ สสจ.นนทบุรี เข้ามาตรวจสอบผลิตภัณฑ์ของบริษัท ปรากฏว่า ไม่มีสารปนเปื้อนตามที่มีข่าวก่อนหน้านี้ และขอความเป็นธรรมในการนำเสนอข้อมูล เนื่องจากบริษัทเสียหาย แต่ไม่ได้มีการบอกล็อตหรือรุ่นการผลิตที่มีการตรวจสอบแต่อย่างใด

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และโฆษก อย. กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องกลับไปดูรายละเอียดล็อตการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ดังกล่าวที่พบการปนเปื้อน เนื่องจากจะมีรุ่นที่ผลิตและวันที่ผลิตชัดเจน และหนังสือที่บริษัทกล่าวอ้างว่าไม่พบสารปนเปื้อนนั้นเป็นล็อตการผลิตที่เท่าไร ตรงกันกับที่ตรวจพบก่อนหน้านี้หรือไม่ ทั้งนี้ โดยปกติเมื่อมีการตรวจสอบพบสารปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ใดๆ ทางหน่วยงานรัฐจะประกาศแจ้งให้บริษัทผู้ผลิตดำเนินการแก้ไข และจะระบุล็อตการผลิตที่มีปัญหา ดังนั้น เมื่อบริษัทมีการปรับปรุงแก้ไขจนไม่พบสารปนเปื้อนแล้วก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง

เมื่อถามว่า จำเป็นต้องสื่อกับสาธารณะให้ทราบหรือไม่ว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทดังกล่าวปลอดสารปนเปื้อนแล้ว ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า โดยหลักการ อย. เอง คงไม่จำเป็นต้องมีการสื่อสาร หรือแก้ข้อมูลเนื่องจากการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่พบสารปนเปื้อนเป็นเรื่องจริงสำหรับล็อตการผลิตนั้นๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น