xs
xsm
sm
md
lg

วงประชุมแก้ร่าง กม.บัตรทอง ไม่ถอดมาตราร่วมจ่าย แต่ยันไม่มีจ่ายจุดบริการแน่นอน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กก. ยกร่าง กม. บัตรทอง เผย ยังคงมาตราร่วมจ่าย แต่ยันไม่มีร่วมจ่ายจุดบริการแน่นอน เผย เรื่องแยกเงินเดือน ยังให้ สปสช. คำนวณค่าแรงตามเดิม การจัดซื้อยาต้องทำร่วมกันระหว่าง สธ.- สปสช. ต่อรองราคายาทั้ง 3 กองทุนเสนอเป็นนโยบาย รบ. ระบุ เพิ่มผู้ให้บริการในบอร์ด สปสช. แค่ 2 คน ปลัด สธ. ไม่ต้องนั่งรองประธานบอร์ด

วันนี้ (13 ก.ค.) เมื่อเวลา 09.30 น. มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เพื่อพิจารณาความคิดเห็นต่อร่างกฎหมายบัตรทอง ที่รวบรวมจากการทำประชาพิจารณ์ ซึ่งยังเหลืออีก 2 ประเด็นจากการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ผ่านมา คือ การแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว และการจัดซื้อยาที่ สปสช. ไม่มีอำนาจดำเนินการ โดยทางกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพได้มาเฝ้ารอผลการประชุม ว่า จะออกมาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะ 5 ประเด็นที่ยังเห็นต่าง โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการร่วมจ่าย

ต่อมาเวลา 13.00 น. นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการพิจารณาร่างฯ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ว่า ที่ประชุมมีการหารืออย่างกว้างขวาง และละเอียดรอบคอบ และพิจารณาแล้วเสร็จทุกประเด็น แต่ยังไม่ได้เป็นมติแต่อย่างใด เนื่องจากต้องมีการส่งข้อสรุปจากที่ประชุมทำเป็นหนังสือเวียนรับรองมติจากกรรมการก่อน จากนั้นจึงสรุปและรวบรวมให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในสัปดาห์หน้า ส่วน 5 ประเด็นเห็นต่างของภาคประชาชนนั้น เบื้องต้นที่ประชุมไม่ได้มีการแยกพิจารณา แต่พิจารณาภาพรวมจากทั้ง 14 ประเด็น

นพ.ณรงค์ศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับประเด็นเรื่องร่วมจ่ายนั้น ยังคงมาตราเดิม และยืนยันเห็นพ้องต้องกันว่า ต้องไม่ร่วมจ่าย ณ จุดบริการแน่นอน แต่เรื่องนี้เป็นเรื่องระยะยาว ยังต้องรอผลการศึกษาจากคณะทำงานที่มี ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธาน ศึกษาเรื่องความยั่งยืนทางการเงินการคลังด้านสุขภาพก่อน ส่วนประเด็นการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากงบเหมาจ่ายรายหัวนั้น วิธีคิดเรื่องเงินในอดีต เม็ดเงินจะไปตามจำนวนประชากร ซึ่งมีทั้งค่าแรงและค่าบริการ แต่โรงพยาบาลสังกัด สธ.ยังไม่สามารถบริหารได้อย่างอิสระ การแยกเงินเดือนจึงเห็นว่า ตัวเลขการคิดคำนวณยังคงเป็นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) อยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ตัวเลขบอกมาทาง สธ. เพื่อจะมาบริหารจัดการให้เหมาะสมกับบุคลากร และจะนำมาสู่การกระจายบุคลากรที่เหมาะสมใน รพ. ทุกระดับ

นพ.ณรงศักดิ์ กล่าวว่า การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์นั้น สปสช. สามารถจัดซื้อได้ถูกและช่วยให้คนเข้าถึงยามากขึ้น แต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินท้วงว่า สปสช. ไม่มีอำนาจจัดซื้อยาตามกฎหมาย ก็ต้องทำให้ถูกต้อง โดยการแก้กฎหมายจึงให้ สธ. เข้ามาทำงานร่วมกันกับ สปสช. ไม่ใช่การโยกอำนาจกลับไป สธ. แต่อย่างใด โดยจะเป็นการต่อรองราคายาให้ทั้งสามกองทุนสุขภาพ แต่ในปีงบประมาณ 2560 ยังให้ สปสช. ดำเนินการตามเดิม แต่ปีงบประมาณ 2561 จะเริ่มรูปแบบใหม่ โดยจะเสนอต่อรัฐบาลว่า ควรทำเป็นนโยบายการจัดซื้อยาในทุกกองทุน หากเป็นนโยบายต่อไปการปรับแก้ก็จะเป็นไปตามนโยบายรัฐบาล และภาคประชาชนก็จะมั่นใจในระบบมากขึ้น ส่วนสัดส่วนบอร์ด สปสช. แบ่งเป็นคณะกรรมการบริหาร และคณะกรรมการควบคุมคุณภาพมาตรฐานการบริการ ให้เพิ่มสัดส่วนผู้ให้บริการ 2 คนอย่างละบอร์ด ส่วนเรื่องปลัด สธ. ให้เป็นรองประธานบอร์ด สปสช. ได้ตัดออกไปแล้ว เพราะปลัด สธ. ก็เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมี
กำลังโหลดความคิดเห็น