xs
xsm
sm
md
lg

วธ.เชิญ 9 กวี แต่งกลอน 9 พระราชดำรัส ในหลวง ร.๙

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สำนักวรรณกรรมฯ เผยหนังสือที่ระลึกงานพระราชพิธีถวายพระเพลิง เล่มแรก “นวมินทราศิรวาทราชสดุดี ร้อยกรองเฉลิมพระเกียรติฯ” เชิญ 9 กวี แต่งกลอน 9 พระราชดำรัส ของในหลวง ร.๙ ระบุ “เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์” ประพันธ์กวี “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม” เสร็จแล้ว เร่งรวบรวมต้นฉบับให้ครบสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้

น.ส.อรสา สายบัว ผู้อำนวยการสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้มอบหมายให้สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ จัดทำหนังสือที่ระลึกงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช 4 รายการ เพื่อแสดงความจงรักภักดีและบันทึกไว้เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ของชาติ ประกอบด้วย หนังสือ “นวมินทราศิรวาทราชสดุดี ร้อยกรองเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” โดยเชิญกวี 9 คน ร่วมประพันธ์ร้อยกรองที่เกี่ยวข้องกับ 9 พระราชดำรัส ในหลวง ร.๙ ประกอบด้วย บทที่ 1 เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม โดย นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ บทที่ 2 เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม โดย นายสถาพร ศรีสัจจัง ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ บทที่ 3 คำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของชาติ สื่อเรื่องคุณธรรมของสังคม การปกครอง โดย นายชมพร เพชรอนันต์กุล บทที่ 4 การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญยิ่งของมนุษย์ สื่อเรื่องการศึกษา โดยหม่อมราชวงศ์ อรฉัตร ซองทอง

บทที่ 5 เราโชคดีที่มีภาษาของตนแต่โบราณกาล สื่ออัจฉริยภาพด้านภาษา โดย นายมะเนาะ ยูเด็น บทที่ 6 ขอจงมีความเพียรที่บริสุทธิ์ มีปัญญาที่เฉียบแหลม กำลังกายที่สมบูรณ์ สื่อพระอัจฉริยภาพด้านศิลปะ โดย นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย บทที่ 7 กล้าและบากบั่นที่จะทำความดี ความถูกต้องและเป็นธรรม สื่อเรื่องเกษตร ทรัพยากรของชาติ โดย นายวรวุฒิ ภักดีบุรุษ บทที่ 8 ความซื่อสัตย์สุจริตเป็นพื้นฐานของความดี สื่อศาสนา ศีลธรรมของบ้านเมือง วัฒนธรรม ประเพณี โดย รศ.นภาลัย สุวรรณธาดา บทที่ 9 น้อมรำลึกพระผู้สู่สวรรค์ โดย นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวรรณกรรม กรมศิลปากร

“หนังสือ “นวมินทราศิรวาทราชสดุดี ร้อยกรองเฉลิมพระเกียรติฯ” คืบหน้ากว่า 40% ซึ่งบทที่ 1 เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เขียนบทกวีเสร็จเรียบร้อยแล้ว ส่วนต้นฉบับบทกวีที่เหลือจะต้องส่งภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ ต่อจากนั้น จะประสานสำนักจดหมายเหตุแห่งชาติเพื่อจัดหาภาพประกอบที่เหมาะสม อาทิ พระบรมฉายาลักษณ์ และภาพพระราชกรณียกิจ ร.๙ ภายในเดือนมิถุนายน และจัดพิมพ์หนังสือในเดือนกรกฎาคม หรือ สิงหาคม เพื่อแจกจ่ายให้ผู้ได้รับบัตรเชิญเข้าร่วมงานพระราชพิธีปลายเดือนตุลาคมนี้ที่ท้องสนามหลวง” นางสาวอรสา กล่าว

น.ส.อรสา กล่าวว่า หนังสือที่ระลึกเล่มที่ 2 ชื่อ บทกวีภาคประชาชน ทางสำนักวรรณกรรมฯ จะรวบรวมบทกวีที่ประชาชนได้เขียนเพื่อแสดงความอาลัยต่อในหลวง ร.๙ และเผยแพร่ทางสื่อออนไลน์ โดยคณะกรรมการจะจัดประชุมและดำเนินการคัดเลือกบทกวีที่มีความงดงามทางวรรณศิลป์มาจัดทำหนังสือที่ระลึกภายในสัปดาห์หน้า

สำหรับหนังสือเล่มที่ 3 ชื่อ หนังสือพระเมรุมาศสมัยรัตนโกสินทร์ เป็นการรวบรวมพระเมรุมาศของพระมหากษัตริย์และพระราชินี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๙ ข้อมูลมาจากหอจดหมายเหตุแห่งชาติและเอกสารประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เล่มนี้เคยจัดทำแล้วในงานพระเมรุมาศสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ ๗ แต่ครั้งนี้จะปรับปรุงและเพิ่มเติมให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ขณะนี้คืบหน้าแล้ว 30%

ส่วนหนังสือเล่มที่ 4 ชื่อ “พระเมรุมาศในสมัยรัชกาลที่ ๙” จะรวบรวบพระเมรุมาศที่จัดสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๙ คืบแล้วกว่า 30% โดยทุกเล่มทำควบคู่กันไป

นางสาวอรสา กล่าวว่า ในขณะนี้เร่งดำเนินการรวบรวมและจัดทำต้นฉบับหนังสือที่ระลึกทั้ง 4 เล่ม โดยแต่ละเล่มจะมีคณะอนุกรรมการรับผิดชอบ ซึ่งหนังสือที่ระลึกในพระราชพิธีครั้งนี้ถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญของแผ่นดิน ทุกคนรวมใจจัดทำถวายในหลวง ร.๙ ทั้งกวีของแผ่นดิน ประชาชน ถ่ายทอดบทกวีแสดงความอาลัยต่อในหลวง ร.๙ หนังสือที่ระลึกแต่ละเล่มจะจัดพิมพ์จำนวน 25,000 เล่ม เพื่อร่วมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และรักษามรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น