xs
xsm
sm
md
lg

บุหรี่ตัวร้ายทำลายการพัฒนา “สุขภาพ-การเงิน”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ .เตรียมจัดงานวันงดสูบบุหรี่โลก ชี้ เป็นตัวร้ายทำลายการพัฒนา ทั้งสุขภาพและการขจัดความยากจน เผย คนไทยสูบบุหรี่ถึง 10.9 ล้านคน เด็กหันเป็นนักสูบหน้าใหม่ปีละ 2 - 2.5 แสนคน

วันนี้ (29 พ.ค.) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2560 ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พ.ค. ของทุกปี ว่า ประเด็นการรณรงค์ประจำปี 2560 คือ “บุหรี่ : ตัวร้ายทำลายการพัฒนา” เพื่อแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ความรุนแรง ภัยคุกคามที่เกิดจากอุตสาหกรรมยาสูบ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพประชาชนของประเทศในด้านสุขภาพ รวมถึงความเป็นอยู่ที่ดีทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้ จากผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติครั้งปี 2558 พบว่า ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 54.8 ล้านคน สูบบุหรี่ร้อยละ 19.9 หรือประมาณ 10.9 ล้านคน แยกเป็นเพศชายร้อยละ 39.3 เพศหญิงร้อยละ 1.8 และอัตราการสูบบุหรี่ของเพศชายมากกว่าเพศหญิง 21.8 เท่า ที่สำคัญพบว่า ในแต่ละปีจะมีเด็กและเยาวชนเข้าสู่วงจรการเสพติดบุหรี่มากถึง 2 - 2.5 แสนคน ส่งผลให้สูญเสียทรัพยากรบุคคลในอนาคต และสูญเสียด้านเศรษฐกิจและสังคม เนื่องจากความเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร จากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่และได้รับควันบุหรี่

นพ.เจษฎา กล่าวว่า สำหรับกิจกรรมรณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2560 จัดขึ้นในวันที่ 31 พฤษภาคม 2560 เวลา 11.00 - 20.00 น. ณ Cascata ชั้น G Future Park และ Zpotlight ชั้น G Zpell โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสด็จเป็นองค์ประธานเปิดงานและประทานรางวัล World No Tobacco Day Award 2017 รวมทั้งมอบโล่ประกาศเกียรติคุณแก่ภาคีเครือข่ายฯ และบุคคล/หน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการดำเนินงานด้านการควบคุมยาสูบ

นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญที่สุดของการเสียชีวิตที่ป้องกันได้ โดยแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตกว่า 7 ล้านคนทั่วโลก ปัจจุบันทุกประเทศ รวมทั้งประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมากในการกำจัดความยากจนทุกรูปแบบและไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยที่การควบคุมยาสูบได้รับการยอมรับว่าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน และขอแสดงความยินดีกับประเทศไทยที่ได้ผ่าน พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 กฎหมายฉบับนี้มีความทันสมัยและได้รวมข้อแนะนำต่างๆ ของ WHO FCTC ไว้ครบถ้วน การออกกฎหมายฉบับนี้จึงสะท้อนถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยต่อการพัฒนาประเทศ และการใช้นโยบายภาครัฐเพื่อสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพความเป็นอยู่ที่ดีของคนไทย

ส่วน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ยาสูบส่งผลลบต่อ 8 ใน 17 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ โดยประเทศไทยถือเป็นภัยต่อเป้าหมายที่ 3 มากที่สุด คือ การทำให้ประชากรมีสุขภาพดี เนื่องจากมีคนไทยที่เสพติดบุหรี่และเลิกไม่ได้ถึง 11 ล้านคน ทำให้แต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ปีละกว่า 5 หมื่นคน ร้อยละ 30 เสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี ทำให้ครอบครัวขาดที่พึ่ง เนื่องจากผู้สูบบุหรี่เกือบทั้งหมดเป็นผู้ชายที่จำนวนมากเป็นผู้ที่ต้องหาเลี้ยงครอบครัว และมีผู้ป่วยด้วยโรคร้ายแรงที่เกิดจากการสูบบุหรี่ที่ยังมีชีวิตอยู่หนึ่งล้านคน การสูบบุหรี่สร้างภาระการเจ็บป่วย และเสียชีวิตก่อนเวลา รองลงมาคือเป้าหมายที่ 1 ว่าด้วยการขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ โดยข้อมูลปี 2557 พบว่า มีคนไทยที่ฐานะจนและจนที่สุด ที่มีรายได้เฉลี่ยเดือนละหกพันบาท และสองพันบาทต่อเดือน ตามลำดับ รวมกันแล้วมีจำนวนถึงสามล้านหนึ่งแสนคน เสียเงินค่าซื้อบุหรี่รวม 7,674 ล้านบาทต่อปี ซึ่งการเสียเงินค่าบุหรี่ในคนจนเหล่านี้ส่งผลกระทบถึงเป้าหมายการพัฒนาอื่นๆ เช่น การศึกษาของบุตรหลาน การมีโภชนาการที่เพียงพอ และผู้สูบบุหรี่ส่วนใหญ่จะสูบุหรี่ในบ้าน ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อเป้าหมายการทำสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัยด้านที่อยู่อาศัยด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น