xs
xsm
sm
md
lg

แพทยสภาเร่งสอบ “หมอ” เขียนหนังสือยุคนเลิกใช้ยา ชวนซื้อยาสมุนไพรแพงๆ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทยสภาเร่งสอบจริยธรรม “หมอ” เขียนหนังสือยุคนเลิกใช้ยาแผนปัจจุบัน - สมุนไพร แต่ให้ซื้อสมุนไพรราคาแพงของตัวเอง ด้าน อย. ชี้ หากพูดถึงผลิตภัณฑ์ชัดเจนเข้าข่ายขายยา

จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์ออกมาเตือนภัยถึงหนังสือขายดีติดอันดับที่เขียนโดยแพทย์ แต่กลับมีเนื้อหายุให้คนเลิกใช้ยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพรไทย ให้ซื้อสมุนไพรราคาแพงที่ตัวเองขายแทน โดนเรียกร้องให้แพทยสภาตรวจสอบ

วันนี้ (22 เม.ย.) พญ.ชัญวลี ศรีสุโข โฆษกแพทยสภา กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า แพทยสภาทราบเรื่องแล้ว โดยทางเลขาธิการแพทยสภาจะมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการแพทยสภา ว่า แพทย์คนดังกล่าวเป็นไปตามที่สื่อนำเสนอถึงการเขียนหนังสือทางการแพทย์ที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือไม่ และต้องพิจารณาว่าการเขียนหนังสือดังกล่าวเขียนในฐานะแพทย์หรือไม่อย่างไร เนื่องจากตรวจสอบแล้วพบว่า แพทย์คนนี้มีใบประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นแพทย์จริง ทั้งนี้ ต้องมาพิจารณาจะผิดหลักข้อบังคับแพทยสภาข้อใดบ้าง

พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ กรรมการแพทยสภา กล่าวว่า ขณะนี้ทางนายกแพทยสภาได้รับเรื่องร้องเรียนผ่านทางสื่อ แหม่มโพธิ์ดำ จ่าพิชิต ขจัดพาลชน และตัวบุคคลในการกล่าวโทษหนังสือเล่มดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว จากการตรวจสอบรายละเอียดหนังสือเบื้องต้นของฝ่ายจริยธรรม พบมีหลายประเด็นพิจารณา ทางแพทยสภารับเรื่องนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยผ่านอนุกรรมการบริหารและกรรมการแพทยสภา เพื่อตั้งคณะกรรมการจริยธรรม ไต่สวนข้อเท็จจริงในเนื้อหาที่ถูกกล่าวโทษว่าจะเข้าข่ายผิดข้อบังคับจริยธรรมในมาตราใดบ้าง อย่างไร โดยเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องมาสอบสวน และผู้เชี่ยวชาญมาให้ข้อมูลต่อไป ประกอบคดีต่อไป

“เมื่อตรวจสอบแล้ว พบว่า เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของยาสมุนไพร และการโฆษณายา ทางแพทยสภาจึงได้หารือ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในกรณีดังกล่าว และ ทาง อย. ได้รับเรื่องไว้เรียบร้อยแล้ว ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายแล้ว ในกรณีมีผู้เสียหายที่ต้องการร้องเรียนเพิ่ม กรุณาแจ้งได้ที่ email tmc@tmc.or.th ฝ่ายจริยธรรม แพทยสภา” พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าว

เมื่อถามว่ากรณีนี้จะเข้าข่ายผิดจริยธรรมตามข้อบังคับแพทยสภาข้อใดบ้าง พล.อ.ต.นพ.อิทธพร กล่าวว่า หากพิจารณาแล้วพบว่า ผิดกฎหมายของ อย. ในเรื่องการโฆษณายาจริง ก็จะเข้าข่ายผิดข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 หมวด 2 หลักทั่วไป ในข้อ 5 ระบุว่า ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมดำรงตนให้สมควรในสังคมโดยธรรม และเคารพต่อกฎหมายของบ้านเมือง

ด้าน ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องดูว่ามีการเอ่ยถึงตัวผลิตภัณฑ์โดยตรงหรือไม่ เพราะหากเป็นการเขียนถึงการดูแลสุขภาพตัวเอง ให้หันมากินหรือมาใช้สมุนไพรธรรมดา เช่น กระชาย ขมิ้นชัน เป็นต้น ก็ไม่เข้าข่ายโฆษณาผลิตภัณฑ์ ส่วนที่ระบุว่าเป็นแพทย์แต่กลับเขียนให้ประชาชนเลิกใช้ยา ให้มาใช้สมุนไพรแพงๆ คงต้องให้แพทยสภาพิจารณาว่าละเมิดการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือไม่

ภก.ประพนธ์ กล่าวว่า ทั้งนี้ หากพบว่าหนังสือดังกล่าวมีการพูดถึงผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน ก็ต้องมาดูว่า เป็นผลิตภัณฑ์แบบใด หากเป็นผลิตภัณฑ์ยาก็ต้องตรวจสอบว่า มีการขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือไม่ เข้าข่ายขายยาหรือไม่ เพราะตามกฎหมายแล้วห้ามขายยานอกสถานที่ ซึ่งก็ต้องตรวจสอบอีกว่ามีใบอนุญาตขายยาหรือไม่ ซึ่งหากมีการบอกชื่อยี่ห้อเฉพาะก็จะเข้าข่ายขายยา หรือดูว่าเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร ก็ต้องพิจารณาเช่นกันว่ามีการขึ้นทะเบียนถูกต้องหรือไม่และเป็นการโฆษณาเกินจริงหรือไม่ เพราะผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่สามารถโฆษณาเรื่องของการบรรเทาอาการรักษาโรคได้
กำลังโหลดความคิดเห็น