xs
xsm
sm
md
lg

สธ.เร่งวางแผนจัดการงบกลางปี 5 พัน ล.แก้ รพ.ขาดทุนเบื้องต้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


สธ. เร่งวางแผนบริหารจัดการงบกลางปี 5 พันล้านบาท แก้ปัญหาเบื้องต้น รพ. ขาดทุน คาด วันที่ 10 เม.ย. จัดทำรายละเอียดชัดเจน ประธานชมรม รพศ./รพท. ขอบคุณนายกฯ ช่วยเหลือ พร้อมไขมปมเหตุ รพ. สังกัด สธ. ขาดทุน

จากกรณีปัญหาโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขาดสภาพคล่อง ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้อนุมัติงบกลางปีช่วยเหลือเป็นมาตรการเร่งด่วน จำนวน 5,000 ล้านบาทนั้น

วันนี้ (8 เม.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เรื่องปัญหา รพ. ขาดสภาพคล่องมีมานาน ตั้งแต่ที่ตนเข้ามาเป็น รมว.สาธารณสุข ก็เห็นความพยายามในการแก้ไขปัญหามาตลอด และดีขึ้นเรื่อยๆ จากเดิมที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องระดับวิกฤตหนัก หรือระดับ 7 เป็นร้อยๆ แห่ง ตอนนี้ไม่มีระดับ 7 แล้ว ซึ่งท่านนายกฯ ก็รับรู้ปัญหา และอนุมัติงบกลางปีให้ 5 พันล้านบาท ซึ่งตนได้มอบหมายให้ พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัด สธ. ดำเนินการจัดทำรายละเอียดการใช้งบประมาณ 5 พันล้านบาท ว่า จะมีการจัดสรรหรือใช้อย่างไร คาดว่า น่าจะสามารถเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาได้ในเร็วๆ นี้ ตอนนี้ทุกฝ่ายกำลังพยายามแก้ไขปัญหา ต้องดูแหล่งเงินมาจากไหน ถ้ารัฐบาลยังให้อยู่ก็ไม่มีปัญหา และต้องมาบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องช่วยกัน นี่คือ การปฏิรูปให้เกิดความยั่งยืน

ด้าน พญ.ประนอม กล่าวว่า ขณะนี้กลุ่มงานประกันสุขภาพ สธ. กำลังดำเนินการศึกษาและจัดทำรายละเอียด คาดว่า ภายในวันที่ 10 เม.ย. นี้ น่าจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้และการจัดสรรงบก้อนนี้ มากขึ้น

นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และ ผอ.รพ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า ต้องขอขอบคุณนายกฯ ที่เห็นความสำคัญของปัญหา เชื่อว่า งบประมาณ 5,000 ล้านบาท จะมาช่วยบรรเทา รพ. ที่กำลังประสบปัญหาได้ แม้จะเป็นระยะสั้น แต่ก็ดีกว่าไม่มีเลย ซึ่งที่ผ่านมาปัญหา รพ. ขาดสภาพคล่องมีมานานแล้ว เนื่องจากรายได้หลักของ รพ. สังกัด สธ. คือ กองทุนหลักประกันสุขภาพ หรือบัตรทอง บริหารจัดการโดย สปสช. ซึ่งเป็นการเหมาจ่ายรายหัวตามยอดประชากร มีการหักเงินเดือนบุคลากร กองทุนย่อยเฉพาะโรค กองทุนตำบล ฯลฯ สุดท้ายเหลือเงินเหมาจ่ายรายหัวมายัง รพ. ไม่ถึงครึ่งในการใช้รักษาผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก และส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เช่น ปี 2560 รัฐจัดสรรให้ 3,109 บาทต่อหัวประชากร สุดท้ายคาดว่าคงเหลือถึง รพ. ไม่เกิน 1,400 บาทต่อหัวประชากร ซึ่งตรงนี้เป็นค่าเฉลี่ย รพ. ที่มีประชากรน้อย เมื่อมีการหักเงินเดือนบุคลากร ก็จะได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนี้ ทำให้โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และ โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ขนาดเล็ก มีประชากรน้อย ต้องขาดทุน ขาดสภาพคล่องมานานเรื้อรังเกือบสิบปี

“ที่ผ่านมา สธ. พยายามแก้ปัญหามาโดยตลอด เช่น การปรับเกลี่ยเงินเดือนบุคลากร การกันเงินเพื่อช่วยเหลือ รพ. ที่ยากลำบาก การช่วยเหลือกันในหมู่ รพ. ด้วยกันแบบ “พี่น้องช่วยกัน” ในเรื่องการตามจ่ายค่ารักษา มีการค้างหนี้ ลดหนี้ ตลอดจนยกหนี้ให้กันมาโดยตลอด จนกระทั่งมาในปีนี้ได้มีการจัดสรรเงินเหมาจ่ายรายหัวในผู้ป่วยนอกแบบขั้นบันไดโดยให้เพิ่มในกลุ่ม รพ. เล็ก ที่อยู่ห่างไกลยากลำบากและมีประชากรน้อย เช่น ตามเกาะ ลดหลั่นไปจนได้น้อยใน รพ. ที่ใหญ่ และจัดสรรเงินเพิ่มในผลงานผู้ป่วยในให้ รพ. ขนาดเล็ก โดยจะได้น้อยลงใน รพ. ใหญ่ ซึ่งจุดนี้ทุกคนเข้าใจ แต่ก็ทำให้ประสบปัญหากับ รพ. ใหญ่ ซึ่งเริ่มมีสัญญาณการขาดสภาพคล่องมา 2 - 3 ปีแล้ว จุดสำคัญอีกเรื่องในปีนี้ คือ สปสช. มีการนำค่าใช้จ่ายในการรักษาทารกแรกเกิดซึ่งแต่เดิมอยู่ในกองทุนเฉพาะโรคไปอยู่ในเหมาจ่ายรายหัวผู้ป่วยในโดยไม่ได้เอาเงินตามลงมาให้ 2,000 - 3,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งค่าใช้จ่ายในทารกแรกเกิดต้องใช้ทรัพยากรและผู้เชี่ยวชาญในการรักษา ส่วนใหญ่จึงเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของ รพศ. และ รพท. ซึ่งอัตราการจ่ายในผู้ป่วยในของสปสช.ก็ไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่เป็นจริงมานับสิบปีแล้ว” นพ.ธานินทร์ กล่าว

นพ.ธานินทร์ กล่าวว่า จากที่กล่าวมา จึงส่งผลให้เห็นภาพของการขาดสภาพคล่องใน รพศ. และ รพท. ที่ชัดเจนมากในปีนี้ และหากไม่มีการแก้ไขที่เหมาะสม ในไตรมาส 3 และ 4 นี้ จะมีปัญหาใน รพ. ทุกระดับแน่นอน เนื่องจากเงินเหมาจ่ายจะเหลือเพียงกองทุนผู้ป่วยใน ส่วนผู้ป่วยนอกและส่งเสริมสุขภาพได้ครบแล้วตั้งแต่ไตรมาส 1 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีปัญหาการขาดสภาพคล่อง แต่พวกเราทุกคนก็พยายามอย่างเต็มที่ในการให้บริการประชาชน ไม่ให้กระทบคุณภาพและมาตรฐานแน่นอน ขอให้พี่น้องประชาชนสบายใจได้
กำลังโหลดความคิดเห็น