xs
xsm
sm
md
lg

หมอจุฬาฯ จี้ปฏิรูประบบสาธารณสุข ทำ สธ.เป็นลูกจ้าง ตระกูล ส.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


แพทย์จุฬาฯ จี้ ปฏิรูประบบสาธารณสุข ห่วง สธ. ทำงานลำบาก เหตุเป็นเหมือนลูกจ้างตระกูล ส. ถูกคุมด้วยเม็ดเงิน ทั้งด้านรักษาจาก สปสช. และส่งเสริมป้องกันโรค จาก สสส.

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thiravat Hemachudha” มีใจความโดยสรุปว่า กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทำงานต่างๆ ไม่ได้ เพราะองค์กรตระกูล ส. อย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) รวบเงินการเบิกจ่าย สธ. เป็นเหมือนลูกจ้าง จึงต้องปฏิรูปโดยคงหลักประกันสุขภาพเท่าที่จะทำได้ ช่วยคนด้อยโอกาสที่สุดก่อน ยุบตระกูล ส. และเสริมพลัง สธ. ด้วยการปฏิรูป พัฒนาประสิทธิภาพการเงินการคลัง ดูแลประชาชนโดยตอบสนองการฟื้นฟูป้องกัน ส่งเสริมการรักษาสุขภาพ และเฝ้าระวังโรค

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวว่า การทำงานที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะ สธ. ทำอะไรไม่ได้เลย ไม่สามารถควบคุมคุณภาพการรักษา สร้างหลักเกณฑ์อะไรก็ใช้ไม่ได้ เพราะ สธ. เป็นเหมือนลูกจ้างหน่วยงาน ส. ต่างๆ ทั้ง สปสช. สสส. สวรส. แม้แต่มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) และหน่วยงาน ส. อื่นๆ อีก เพราะมีกฎหมาย บทบาท อำนาจมากมาย จน สธ. ซึ่งมี รพ. ทุกระดับเป็นหมื่นแห่ง ทำหน้าที่เหมือนลูกจ้าง ทั้งการรับเงินเหมาจ่ายรายหัวจาก สปสช. ก็มีกฎเกณฑ์มากมาย ต้องทำแบบนี้ถึงจะได้งบ ขณะที่บุคลากรก็ไม่เพียงพอต่อปริมาณงานอยู่แล้ว ส่วนการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งสำคัญมากที่จะป้องกันไม่ให้คนเจ็บป่วย และมา รพ. ก็ทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งที่ สสส. รับหน้าที่ตรงนี้ ได้งบประมาณจากภาษีบาปรวม 13 ปี งบประมาณกว่า 35,000 ล้านบาท แต่การส่งเสริมสุขภาพ ยังมุ่งเน้นไปที่โฆษณา ประชาสัมพันธ์ ซึ่งหากระบบสาธารณสุขไม่ดีกกระทบก็จะส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้รับบริการ

“เสนอว่าถึงเวลาต้องปฏิรูป โดยองค์กรตระกูล ส. ต้องเข้าใจบทบาทตัวเองว่า ทำได้แค่ส่งเสริมไม่ใช่เป็นตัวตั้ง และกำหนดไปทุกเรื่อง ซึ่งองค์กรเหล่านี้มักมีคนกลุ่มเดิมๆ บริหาร ก็ต้องปรับเปลี่ยนใหม่ หาคนใหม่ๆ มาทำงาน ไม่ใช่ไปอิงแค่คำว่า คนกลุ่มนี้มีความดีล้นเหลือ ต้องดูสภาพความเป็นจริงในปัจจุบันด้วย อย่างการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคไม่ควรให้อำนาจบทบาททั้งหมดไปที่ สสส. เพราะผลลัพธ์ก็อย่างที่เห็น ควรให้หลากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วม และต้องทำให้ประชาชนตระหนักถึงสุขภาพตัวเอง” ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น