xs
xsm
sm
md
lg

มีลูกเพื่อชาติ..เน้นคุณภาพมากกว่าปริมาณดีกว่าไหม? / สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


และแล้วสิ่งที่เชื่อว่าจะต้องเกิดขึ้นสักวัน ก็เกิดขึ้นแล้วจนได้ !

กระทรวงสาธารณสุขประกาศนโยบาย “สาวไทยแก้มแดง มีลูกเพื่อชาติ ด้วยวิตามินแสนวิเศษ” เพื่อกระตุ้นในคนในชาติตระหนักว่าตอนนี้มาถึงขั้นต้องเร่งให้ประชากรมีลูกได้แล้วจ้า เพราะตอนนี้โครงสร้างประชากรในบ้านเรากำลังจะเปลี่ยนไปเป็นสังคม ส.ว. ที่แปลว่าสังคมผู้สูงอายุ หรือ Aging Society ตามประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ ในโลกกำลังเผชิญอยู่

จากการเปลี่ยนแปลงพบว่า ในช่วง 20 - 30 ปีที่ผ่านมา ประชากรไทยในวัยเด็ก (อายุต่ำกว่า 15 ปี) ลดลง ในขณะที่จำนวนประชากรสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ในปี พ.ศ. 2533 มีผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 75 ปีขึ้นไปเพียงประมาณ 700,000 คน เพิ่มเป็น 1,400,000 คน ในราวปี พ.ศ. 2553 และคาดว่า จะเพิ่มเป็นกว่า 2 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2563

นโยบายฉบับต้อนรับวันแห่งความรักพอดิบพอดีมีจุดเน้น 3 เรื่อง ได้แก่

หนึ่ง - เพิ่มจำนวนการเกิด เพื่อทดแทนจำนวนประชากร โดยส่งเสริมการเกิดในหญิงอายุ 20 - 34 ปี ที่มีความพร้อม และตั้งใจมีครรภ์

สอง - การเกิดทุกรายมีความพร้อม มีการวางแผน มีการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ และได้รับความช่วยเหลือในการมีบุตร

สาม - ทารกแรกเกิดแข็งแรง พร้อมเติบโตอย่างมีคุณภาพ โดยส่งเสริมให้ลูกเกิดรอด แม่ปลอดภัย ได้รับการดูแลหลังคลอดที่ดี เด็กได้รับการเลี้ยงดูในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการสมวัย พร้อมที่จะเรียนรู้ในช่วงวัยต่อไปอย่างมั่นคง

จะว่าไปก็เป็นนโยบายที่ดี เพราะสอดคล้องกับทิศทางที่เปลี่ยนไป เมื่อจำนวนการเกิดลดลง คนสูงอายุเพิ่มมากขึ้น ก็กระตุ้นให้คนในชาติมีลูกเพิ่มขึ้นก็แล้วกัน เพื่อให้เกิดสังคมที่สมดุลในชาติของตน มิเช่นนั้น ก็ต้องเผชิญการขาดแคลนผู้คนในวัยแรงงาน วัยหนุ่มสาวที่ต้องเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศ

หลายประเทศที่เผชิญปัญหานี้ก็เตรียมตัวเรื่องนี้มาพอสมควร เช่น สิงคโปร์ ญี่ปุ่น ก็พยายามหามาตรการมากมายในการกระตุ้นการเกิดของคนในชาติ ทั้งมาตราการลดภาษี ให้เงินค่าเลี้ยงดู และพยายามทดแทนบุคลการด้วยการให้ผู้สูงอายุยังสามารถทำงานได้ และพยายามสร้างคุณภาพของประชากรเด็กให้เติบโตมาเป็นผู้ใหญ่คุณภาพด้วย

แม้ประเทศไทยไม่ได้น้อยหน้ากำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเช่นกัน แต่สภาพปัญหาของเรา แตกต่างจากชาติที่เขาเตรียมความพร้อมกับเรื่องเหล่านี้มาก่อน

เนื่องเพราะในขณะที่ประชากรผู้สูงอายุเราเพิ่มมากขึ้น เด็กเกิดน้อยลง แต่ประเด็นเพิ่มเติมของบ้านเราก็คือ เด็กที่เกิดน้อยแล้วนั้นยังด้อยคุณภาพเสียอีก

โครงสร้างและรูปแบบเปลี่ยนไป ยังพอจะหาแนวทางอื่นๆ ทดแทนในเชิงโครงสร้างได้ แต่ถ้าเกิดปัญหาเรื่องคุณภาพด้วย นั่นแหละคือปัญหาใหญ่ที่บ้านเรากำลังเผชิญ

ปัญหาเด็กด้อยคุณภาพที่ทำให้บ้านเรากำลังเผชิญปัญหาหนักมากเรื่องสภาพสังคมและโครงสร้างของประชากรที่กำลังเข้าสู่วิกฤตสังคมครั้งใหญ่ เป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องคำนึงถึง และมีมาตรการควบคู่ขนานไปกับนโยบายกระตุ้นการเกิดเพียงอย่างเดียว

เพราะปัญหาบ้านเรามีความซับซ้อนและผกผันอยู่มากทีเดียวกับกลุ่มคนสองกลุ่มนี้

กลุ่มแรก - กลุ่มคนที่มีความพร้อม

กลุ่มนี้มีความพร้อมทางด้านฐานะการเงิน ซึ่งนอกจากมีแนวโน้มแต่งงานช้าลง กลับมีค่านิยมที่ไม่อยากมีลูกมากขึ้นเรื่อยๆ หรือมีก็มีคนเดียว เพราะไม่ต้องการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายที่นับวันสูงขึ้นเรื่อยๆ คำกล่าวในอดีตที่ว่ามีลูก 1 คน จนไป 7 ปี น่าจะใช้ไม่ได้แล้ว เพราะมีลูก 1 คนยุคนี้อาจจนไปกว่า 2 เท่าในยุคคนเป็นพ่อแม่เราทีเดียว คนกลุ่มนี้จึงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ที่ไม่ต้องการมีลูก

ฉะนั้น นโยบายที่ภาครัฐต้องการกระตุ้นควรเน้นไปที่คนกลุ่มนี้ ว่า จะทำอย่างไรที่จะกระตุ้นกลุ่มคนเหล่านี้ให้มีลูกได้ ด้วยมาตรการที่โดนใจจริงๆ มิใช่เพียงแค่แนวทาง

กลุ่มที่สอง - ท้องไม่พร้อม

ตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติและสำนักอนามัยเจริญพันธุ์ พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2555 จนถึงปัจจุบัน กลุ่มวัยรุ่นไทยที่มีอายุระหว่าง 10 - 19 ปี มีอัตราการคลอดบุตรหรือท้องไม่พร้อม มากถึงปีละประมาณ 130,000 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงมาก ติดอันดับ 1 ของเอเชีย และติดอันดับ 2 ของโลก

ประมาณว่าคนที่พร้อมก็ไม่ท้อง ส่วนคนไม่พร้อมกลับท้องนั่นแหละ

และแน่นอนเมื่อท้องไม่พร้อม ปัญหาที่ตามมาก็มีมากมาย แม่ของเด็กไม่มีความรู้ในการเลี้ยงเด็ก ต้องปล่อยให้อยู่กับคนอื่น และเด็กๆ ที่เกิดมาท่ามกลางความไม่พร้อม ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทั้งทางด้านอารมณ์ สติปัญญา พฤติกรรม และสังคม มากกว่าเด็กที่เกิดมาในครอบครัวที่พร้อม

กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ยังขาดความพร้อมในทุกๆ ด้าน แต่ดูเหมือนกลับมีอัตราการเกิดจากกลุ่มนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วนโยบายที่กระตุ้นให้มีลูกเพื่อชาติได้มีการคิดถึงคนกลุ่มนี้อย่างไร มีการเตรียมความพร้อม ให้ข้อมูลที่ถูกต้อง หรือมีแนวทางป้องกันแค่ไหนอย่างไร เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องคำนึงถึงอย่างมาก ไม่ใช่แค่แจกยาแจกวิตามินเท่านั้น

ลองคิดดูว่าในเมื่อโครงสร้างประชากรกำลังเปลี่ยนไป เป็นเรื่องที่สังคมโลกพยายามหาทางรับมือและแก้ไขปัญหา แต่ถ้าบ้านเราต้องเผชิญปัญหาเด็กเกิดน้อย แต่ยังด้อยคุณภาพอีก แล้วสถานการณ์บ้านเราจะเป็นอย่างไร

ถึงเวลาต้องให้ความสำคัญกับรากฐานของประเทศได้แล้วหรือยัง ต่อให้โครงสร้างประชากรเปลี่ยน แม้เด็กเกิดน้อย แต่มีคุณภาพ ก็ยังสามารถหาทางขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าต่อไปได้

ส่วนมาตราการสำคัญของนโยบายเรื่องนี้ 7 ข้อ ที่ต้องการกระตุ้น มีดังนี้

1. พัฒนาระบบการให้บริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพตั้งแต่ระยะก่อนสมรส ระยะก่อนมีบุตร ระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอด

2. จัดกิจกรรมรณรงค์ให้คนไทยมีลูก

3. ปรับปรุงแก้ไขสิทธิการลาคลอดสำหรับหญิงตั้งครรภ์และคู่สมรส ส่งเสริมการเลี้ยงดูบุตร

4. จัดสวัสดิการเรื่องที่อยู่อาศัย เอื้อให้คู่สมรสมีที่อยู่ใกล้ที่ทำงาน มีความสะดวก เพียงพอต่อการมีบุตร

5. กำหนดมาตรการทางภาษีช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตร

6. ขยายจำนวนสถานรับเลี้ยงเด็กหรือศูนย์เด็กเล็กคุณภาพเพิ่มขึ้น ช่วยลดภาระในการดูแลบุตรระหว่างทำงาน

7. ปรับปรุงนโยบายเวลาการทำงานให้ยืดหยุ่น สร้างสมดุลการทำงานและชีวิตครอบครัว

เห็นมาตรการทั้ง 7 ข้อที่จะเป็นจุดเน้นในการกระตุ้นอัตราการเกิดแล้ว อยากบอกว่านี่เป็นเรื่องที่ภาครัฐพยายามมาตั้งนานแล้ว แต่ยังทำไม่ได้เลย มาตรการเหล่านี้ยังเป็นปัญหาอยู่จนทุกวันนี้

เอาเป็นว่า ช่วยทำทั้ง 7 ประการให้สำเร็จเป็นรูปธรรมจริงๆ บางทีไม่ต้องแจกวิตามิน คนไทยก็น่าจะยินดีมีลูกกันมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น