xs
xsm
sm
md
lg

จ่อชง ครม.ของบ "บัตรทอง" ปี 61 รวม 1.84 แสนล้านบาท ขอเพิ่มขึ้นกว่า 1.8 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


บอร์ด สปสช.เห็นชอบงบขาขึ้นบัตรทอง ปี 2561 จำนวน 1.84 แสนล้านบาท ขอเพิ่มขึ้นจากงบปี 60 กว่า 1.8 หมื่นล้านบาท เหตุงานบริการ ปริมาณใช้บริการ และขอบเขตบริการเพิ่มขึ้นตามนโยบาย เผยเป็นงบเหมาจ่ายรายหัว 1.64 แสนล้านบาท เฉลี่ย 3,374 บาท/ประชากร ชี้หลังหักเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุข 4.3 หมื่นล้านบาท เหลืองบสู่กองทุน 1.2 แสนล้านบาท เตรียมเสนอ ครม.พิจารณา

วันนี้ (6 ม.ค.) ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมีวาระการพิจารณาเรื่องข้อเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2561 และกรอบงบประมาณปี 2562 โดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. กล่าวว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบข้อเสนองบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ปีงบประมาณ 2561 หรืองบขาขึ้น ซึ่งเสนอจำนวน 184,744.21 ล้านบาท ขอเพิ่มขึ้นจากงบกองทุนบัตรทองในปีงบประมาณ 2560 ที่ได้รับจำนวน 165,773.01 ล้านบาท หรือขอเพิ่มขึ้นประมาณ 18,971 ล้านบาท คิดเป็น 11.4% และกรอบข้อเสนองบกองทุนบัตรทองปีงบประมาณ 2652 เสนอที่ 187,558.19 ล้านบาท ซึ่งเตรียมที่จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า งบขาขึ้นปี 2561 แบ่งเป็น งบเหมาจ่ายรายหัว เสนองบประมาณจำนวน 164,675.24 ล้านบาท หรือ 3,374.70 บาทต่อประชากร เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 จำนวน 12,904.56 ล้านบาท คิดเป็น 8.5% สาเหตุที่ต้องปรับเพิ่มงบกองทุนฯ ในปี 2561 เป็นผลจากต้นทุนบริการ ปริมาณการใช้บริการ และขอบเขตการบริการรวมถึงนโยบายที่เพิ่มขึ้น ซึ่งงบประมาณดังกล่าวเมื่อหักเงินเดือนบุคลากรจำนวน 43,828.28 ล้านบาท คงเหลือเป็นงบประมาณที่เข้าสู่กองทุนบัตรทอง จำนวน 120,846.96 ล้านบาท ส่วนค่าบริการอื่นๆ นอกงบเหมาจ่ายรายหัว เสนองบประมาณจำนวน 15,756.47 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 1,754.13 ล้านบาท คิดเป็น 12.5% แบ่งเป็น 1.งบบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ จำนวน 3,418.20 ล้านบาท 2.งบบริการสาธารณสุขไตวายเรื้อรัง จำนวน 8,332.32 ล้านบาท 3.งบบริการสาธาณสุขเพื่อควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง 1,356.46 ล้านบาท 4.ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ จำนวน 1,490.29 ล้านบาท และ 5.ค่าบริการสาธาณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง จำนวน 1,159.20 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีค่าบริการกรณีผลงานปี 2556-2559 เกินเป้าหมายที่ได้รับงบประมาณอีกจำนวน 4,312.50 ล้านบาท

นพ.จเด็จ กล่าวว่า การจัดทำงบกองทุนบัตรทองปี 2561 ที่เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2560 อาทิ ปรับงบประมาณสำหรับบริการเจ็บป่วยฉุกเฉิน (EMCO) สีแดง จากการจ่ายด้วยระบบดีอาร์จี เป็นการจ่ายตามราคากลาง (Fee schedule) จำนวน 4.48 บาท/ประชากร รายการวัณโรคเน้นขยายการค้นหาไปยังกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้ต้องขัง เป็นต้น การส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย เพิ่มอัตราการใช้ยาสมุนไพรในสถานพยาบาลเป็น 2 เท่า เพิ่มรายการค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว จำนวน 240 ล้านบาท การปรับประสิทธิภาพระบบการบริหารจัดการ 3 รายการ ได้แก่ บริการไตวายเรื้อรัง, บริการหัตถการขยายหลอดเลือดหัวใจ และบริการเปลี่ยนข้อเข่า เป็นต้น การเพิ่มงบสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค จำนวน 10 บาท/ประชากร และเพิ่มเงินช่วยเหลือเบื้องต้นผู้ให้บริการ จำนวน 0.02 บาท/ประชากร
กำลังโหลดความคิดเห็น