xs
xsm
sm
md
lg

มอบ คร.เร่งเคลียร์ “ชาวไร่ยาสูบ” เข้าใจผิด พ.ร.บ.ยาสูบฉบับใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คกก. ช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบ มีมติมอบ กรมควบคุมโรค เคลียร์ความเข้าใจผิดเกษตรกรชาวไร่ยาสูบต่อ ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ พร้อมตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาผลที่อาจจะกระทบและกำหนดมาตรการช่วยเหลือชาวไร่ยาสูบในระยะยาว ภายใน พ.ค. นี้

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และ นายอนันต์ ลิลา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานร่วม ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ยาสูบกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมสรรพสามิต กรมควบคุมโรค กรมการปกครอง สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สถาบันการศึกษา ผู้แทนจากศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ และนักวิชาการอิสระที่ทำการศึกษาวิจัยในพื้นที่ เข้าร่วมประชุมเพื่อศึกษาถึง ผลที่อาจจะกระทบ รวมทั้งพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ยาสูบที่อาจจะได้รับผลกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้มีการศึกษาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างรอบด้าน

นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติใน 2 เรื่อง คือ 1. ให้กรมควบคุมโรค ดำเนินการสื่อสารเจตนารมณ์ และสาระสำคัญที่แท้จริงตาม พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ไปยังเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ เพื่อทำความเข้าใจในประเด็นข้อกังวลเกี่ยวกับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อน และประสานขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ โรงงานยาสูบ กรมสรรพสามิต เพื่อนำมาชี้แจงในประเด็นอื่น ๆ ที่เกษตรกรมีความกังวล เช่น โควตาการปลูก การรับซื้อใบยาสูบ เป็นต้น โดยใช้สำนักงานยาสูบภูมิภาค 8 แห่งทั่วประเทศ เป็นช่องทางการสื่อสาร ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกยาสูบประมาณร้อยละ 80 จะอยู่ใน 4จังหวัด ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด สุโขทัย เพชรบูรณ์ และ หนองคาย และ 2. ให้ตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาผลที่อาจจะกระทบและกำหนดมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่ยาสูบในระยะยาว นำข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องมาศึกษาวิเคราะห์ผลที่อาจจะกระทบจากการบังคับใช้ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกับเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือในระยะยาว โดยมีทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียร่วมเป็นคณะอนุกรรมการชุดนี้ ซึ่งจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเดือนพฤษภาคม 2559 เพื่อเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการชุดนี้อีกครั้งภายใน 1 เดือน ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายควบคุมการบริโภคยาสูบที่ใช้มาเกือบ 25 ปี ทั้ง 2 ฉบับ คือ พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันและพันธกรณีตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมลงนามเป็น 1 ใน 180 ประเทศทั่วโลก เช่น การห้ามโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ เพื่อป้องกันการใช้กลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบใหม่ และจะครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ เช่น บุหรี่ไฟฟ้า บารากู่ รวมทั้งการจำกัดอายุผู้ซื้อบุหรี่ จากเดิม 18 ปี เป็น 20 ปี เป็นต้น เพื่อป้องกันการเข้าถึงของเยาวชน โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติในหลักการร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา

สาระสำคัญในร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ ไม่มีบทบัญญัติใดที่เกี่ยวข้องกับการจำกัดพื้นที่เพาะปลูก การกำหนดโควตาการเพาะปลูกและรับซื้อใบยาสูบ การบังคับให้เกษตรกรปลูกพืชอื่นทดแทนหรือเปลี่ยนอาชีพ หรือแม้แต่การห้ามเกษตรกรชาวไร่ยาสูบติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐตามที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้แต่อย่างใด นอกจากนี้ ในส่วนของประเด็นที่หลายฝ่ายมีความกังวลเกี่ยวกับการห้ามบริษัทบุหรี่ทำกิจกรรม CSR นั้น ในร่าง พ.ร.บ. ได้กำหนดข้อยกเว้นให้ยังคงทำได้เช่นเดิมทั้งในระหว่างผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจยาสูบ เช่น กิจกรรมหรือความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ที่บริษัทบุหรี่ทำให้กับเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ หรือแม้แต่การให้ทุนการศึกษาแก่บุตรหลานของชาวไร่ยาสูบ หรือผู้ค้าปลีกยาสูบ รวมทั้งยังยกเว้นให้สามารถบริจาค หรือให้ความช่วยเหลือในกรณีที่เกิดสาธารณภัยร้ายแรงได้ด้วยเช่นกัน

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น