xs
xsm
sm
md
lg

เตรียมหางบสู้เอดส์ วัณโรค มาลาเรีย หลังกองทุนโลกเลิกหนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รมว.สธ. ชี้ สร้างหลักประกันสุขภาพฯ เป้าหมายขจัดความยากจน เตรียมแผนรองรับจัดหางบประมาณต่อสู้เอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย หลังกองทุนโลกยุติสนับสนุน พร้อมร่วมมือโครงการของภูมิภาค จัดการปัญหา 3 โรคตามแนวชายแดน

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อภิปรายเรื่องการเงินการคลังที่ยั่งยืนสำหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในการประชุมเตรียมการสำหรับการจัดสรรงบกองทุนโลกรอบที่ 5 (Preparatory Meeting for the Global Fund’s Fifth Voluntary Replenishment 2017 - 2019) ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ว่า เหตุผลหลักที่ทำให้การสร้างหลักประกันสุขภาพมีความสำคัญกับประเทศไทย เนื่องจากการเข้าถึงบริการสุขภาพเป็นสิทธิของคนไทยทุกคนตามรัฐธรรมนูญไทย และมีเป้าหมายเพื่อการมีสุขภาพดีให้กับประชาชนทุกคน นอกจากนี้ การมีสุขภาพดีจะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และยังช่วยขจัดความยากจนของประชาชนไม่ให้ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล ดังนั้น การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านอกจากเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสุขภาพ ยังช่วยขจัดความยากจนจากค่ารักษาพยาบาลของประชาชนด้วย

“สำหรับการเตรียมการของไทยเพื่อการเปลี่ยนผ่านจากการสนับสนุนของกองทุนโลกนั้น ไทยได้มีการเตรียมการมานานแล้วจากการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนโลกมาตั้งแต่ปี 2546 รวมทั้งความร่วมมือของท้องถิ่น และความสำเร็จของการบรรจุการรักษา และป้องกัน 3 โรคนี้ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทำให้การดำเนินงานประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง อีกทั้งไทยได้เตรียมแผนในระยะเปลี่ยนผ่านการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนโลกไว้ โดยคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์แห่งชาติเป็นกลไกขับเคลื่อนการดำเนินงาน ได้เตรียมการด้านการเงินในการจัดการปัญหาครอบคลุมทั้ง 3 โรค ใช้กลไกการมีส่วนร่วมของภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม รวมทั้งการจัดบริการกลุ่มประชาการเสี่ยง เช่น กลุ่มคนที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ แรงงานข้ามชาติ ผู้ใช้ยาเสพติดชนิดฉีด และกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเป็นความท้าทายสำคัญในการดำเนินงาน” รมว.สธ. กล่าว

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ไทยยินดีที่จะร่วมมือกับกองทุนโลก โดยเฉพาะในระดับภูมิภาคเพื่อยุติโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย ตามแนวชายแดน และยินดีบริจาคให้กองทุนโลก ทั้งในด้านเงินและการให้ความช่วยเหลือ (In cash and in kind contributions) เช่นเดิม และขอให้มีความร่วมมือระหว่างไทยกับกองทุนโลกในการจัดทำการทบทวนและรวบรวมประสบการณ์ช่วงการเปลี่ยนผ่านของไทย (Transitioning process) และร่วมตั้งเครือข่ายประเทศที่กำลังทำการเปลี่ยนผ่าน (Networks of Countries in Transition) ในภูมิภาคอีกด้วย

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น