xs
xsm
sm
md
lg

ออกประกาศสิทธิ-หน้าที่ผู้ป่วย หวัง “คนไข้-หมอ” เข้าใจ ลดฟ้องร้อง เครือข่ายผู้ป่วย หวั่น รพ.อ้างไม่รับผิดชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


นายกแพทยสภา เผย ออกประกาศสิทธิผู้ป่วยครั้งแรก ส่งผลคนไข้ฟ้องร้องมากขึ้น 3 - 4 เท่า เหตุ ปชช. รู้สิทธิตัวเองมากขึ้น แต่ไม่รู้หน้าที่พึงปฏิบัติ คลอดประกาศสิทธิผู้ป่วยครั้งที่สอง พร้อมระบุหน้าที่ ความรับผิดชอบผู้ป่วย ญาติ แจกตาม รพ. และคลินิกหวังสร้างความเข้าใจคนไข้ ลดการฟ้องร้อง ด้านเครือข่ายผู้ป่วยห่วง “แพทย์ - โรงพยาบาล” ใช้เป็นข้ออ้างไม่รับผิดชอบ หากเกิดความผิดพลาด

วันนี้ (16 ก.ย.) เมื่อเวลา 13.30 น. สภาวิชาชีพด้านสุขภาพ ประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ และสภากายภาพบำบัด นำโดย ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา แถลงข่าวการประกาศใช้ “คำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย” เพื่อพิทักษ์สิทธิและรักษาประโยชน์สูงสุดของประชาชนในการรับการรักษาพยาบาล

ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า สภาวิชาชีพด้านสุขภาพและคณะกรรมการการประกอบโรคศิลปะ ได้ประกาศใช้สิทธิของผู้ป่วยมาตั้งแต่ปี 2541 ส่งผลให้ประชาชนรู้สิทธิในการรักษาพยาบาลของตัวเองมากขึ้น ขณะเดียวกัน ก็เกิดการฟ้องร้องแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย โดยอัตราการฟ้องร้องเพิ่มขึ้นประมาณ 3 - 4 เท่า และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่วนหนึ่งมองว่ามาจากการออกประกาศสิทธิของผู้ป่วย แต่ไม่ได้ระบุถึงหน้าที่ หรือข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยไว้ด้วย ทำให้ผู้ป่วยและบุคลากรด้านสาธารณสุขมีความไม่เข้าใจกัน ด้วยเหตุนี้และการออกประกาศที่ใช้มานาน 17 ปีแล้ว ซึ่งความก้าวหน้าทางการแพทย์มีการเปลี่ยนแปลง จึงออกประกาศฉบับใหม่เป็นครั้งที่สอง เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ในเรื่องสิทธิชัดเจนขึ้น ที่สำคัญคือ ประชาชนยังต้องมีหน้าที่ที่จะต้องรับผิดชอบด้วย เช่นเดียวกับต่างประเทศที่ประกาศสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของผู้ป่วยควบคู่กัน

ยืนยันว่า สิทธิของผู้ป่วยยังคงเหมือนเดิมกับการออกประกาศสิทธิผู้ป่วยครั้งแรก แต่ทำให้กระชับ และเข้าใจมากขึ้น ส่วนข้อพึงปฏิบัติทั้งของผู้ป่วยและญาติที่เพิ่มเข้ามา เช่น จะต้องสอบถามเพื่อความเข้าใจข้อมูลและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นก่อนลงนามให้ความยินยอมหรือไม่ยินยอมรับการตรวจวินิจฉัย หรือรักษาพยาบาล ต้องให้ข้อมูลสุขภาพที่เป็นจริงและครบถ้วน พึงรับทราบข้อควรรู้ทางการแพทย์ ยกตัวอย่าง การรักษาพยาบาลทุกชนิดมีความเสี่ยงที่จะเกิดผลอันไม่พึงประสงค์ได้ นอกจากนี้ เหตุสุดวิสัยอาจเกิดขึ้นได้แม้ผู้ประกอบวิชาชีพฯ จะใช้ความระมัดระวังแล้วก็ตาม เป็นต้น ซึ่งหากผู้ป่วยและญาติมีความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้แล้ว โอกาสการฟ้องร้องก็จะลดน้อยลง เพราะมีความเข้าใจกันมากขึ้น ผู้ป่วยรู้ว่าหน้าที่ของตนเองต้องทำอะไร และมีส่วนร่วมในการรักษาพยาบาลช่วยดูแลตนเอง” นายกแพทยสภา กล่าวและว่า หลังจากนี้ จะแจกประกาศฉบับนี้ออกไปทั่วประเทศ เพื่อติดประกาศที่สถานพยาบาลทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชนรวมถึงคลินิก และจะนำประกาศขึ้นเว็บไซต์ของแต่ละสภาวิชาชีพด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า การรักษามีความเสี่ยงและเหตุสุดวิสัยเกิดขึ้นได้ ทำให้เครือข่ายผู้ป่วยมองว่าจะทราบได้อย่างไรว่าเป็นความผิดพลาดหรือเหตุสุดวิสัยจริง ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า อยากให้ทุกคนเข้าใจว่าการรักษาพยาบาลทุกอย่างนั้นมีความเสี่ยง อยากให้เข้าใจเรื่องการแพทย์ตรงนี้ด้วย ซึ่งเหตุสุดวิสัยที่จะเกิดขึ้นนั้นก็พิจารณาจากโอกาสในการเกิด เช่น การผ่าตัดสักอย่างหนึ่ง หากโอกาสความผิดพลาดเกิดขึ้นได้ 1 ต่อแสน เมื่อเกิดเหตุขึ้นก็อาจเป็นความผิดพลาดของแพทย์ได้ แต่หากอัตราการเกิดความผิดพลาดสูง เช่น 10 ใน 100 ผู้ป่วยก้ต้องเข้าใจในเรื่องนี้ด้วยว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นนั้นมี ซึ่งก็จะย้อนกลับไปที่เรื่องข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยที่ก่อนรักษาพยาบาลต้องสอบถามเพื่อให้เข้าใจข้อมูลก่อน

เมื่อถามถึงกรณีการตรวจเชื้อเอชไอวีที่มีความผิดพลาดเกิดขึ้น ศ.นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า การตรวจเชื้อเอชไอวีมีความแม่นยำมาก โอกาสเกิดเหตุสุดวิสัยประมาณ 1 ในหมื่น สำหรับกรณีที่เป็นข่าวนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อน ปัจจุบันการตรวจเชื้อเอชไอวีมีวิธีการที่รอบคอบสูงมาก อย่างตรวจพบว่าเจอเชื้อก็ต้องตรวจซ้ำใหม่เพื่อยืนยัน โดยต้องเจาะเลือดใหม่มาตรวจซ้ำ ซึ่งในอดีตเคยมีกรณีผู้ป่วยขอให้ใช้เลือดเก่า ซึ่งความผิดพลาดอาจเกิดขึ้นได้ เพราะเลือดอาจมีการปนเปื้อน นอกจากนี้ ปัจจุบันคือหากตรวจพบเชื้อเอชไอวีก็จะให้ยาต้านไวรัสทันที ต่างจากอดีตที่ต้องรอจนค่าภูมิคุ้มกัน (CD4) ตกถึงเกณฑ์ที่กำหนดก่อน

ด้านกลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยประกอบด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย เครือข่ายเพื่อนโรคไต เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง เครือข่ายผู้ป่วยโรคฮีโมฟีเลีย เครือข่ายผู้ป่วยโรคหัวใจ รวมทั้งองค์กรเอกชนด้านเอดส์และสุขภาพ ต่างมีข้อกังขาต่อคำประกาศสิทธิผู้ป่วยและข้อพึงปฏิบัติที่ประกาศใหม่ โดยนายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีฯ กล่าวว่า ข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย มีหลายข้อที่ไม่ชัดเจนและขัดแย้งกับสิทธิผู้ป่วยในประกาศ เช่น สิทธิในการได้รับการปกปิดข้อมูล แต่ในข้อพึงปฏิบัติกลับบอกว่าผู้ป่วยต้องให้ข้อมูลด้านสุขภาพและข้อเท็จจริงต่อแพทย์ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้มีการบังคับทางอ้อมให้ผู้ป่วยต้องเปิดเผยข้อมูลความลับ เช่น การติดเชื้อเอชไอวี เป็นต้น นอกจากนี้ อาจตีความข้อพึงปฏิบัติได้ว่า หากผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตามและเกิดข้อผิดพลาดทางการแพทย์ขึ้น แพทย์และโรงพยาบาลก็ไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบ เพราะแจ้งไว้แล้วในข้อพึงปฏิบัติ รวมถึงกรณีที่ระบุว่าเหตุสุดวิสัยอาจเกิดขึ้นได้ แม้จะทำด้วยความระมัดระวังแล้ว หมายความว่า ผู้ให้บริการทางการแพทย์ย่อมไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะแจ้งให้ทราบไว้แล้ว ทำให้รู้สึกได้ว่าประกาศนี้ไม่ได้มุ่งหวังคุ้มครองสิทธิผู้ป่วย แต่ทำเพื่อปกป้องกันเองหรือไม่

นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า การเพิ่มข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วยนั้น จะต้องให้ทุกฝ่าย คือ ผู้ป่วยและผู้ให้บริการได้เข้ามามีส่วนร่วมในการให้ความเห็น แต่คำประกาศฉบับใหม่นี้กลับออกมาโดยไม่มีกระบวนการดังกล่าว ซึ่งการทำเช่นนี้ไม่ได้เป็นการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย แต่กลับสร้างความขัดแย้งให้รุนแรงมากยิ่งขึ้น

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่



กำลังโหลดความคิดเห็น