xs
xsm
sm
md
lg

สพฐ.กรุยทางตลาดแรงงานรองรับเด็กพิการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

สพฐ. ขับเคลื่อน การจัดการศึกษาพิเศษ เดินหน้าทำวิจัย เพื่อศึกษาความพร้อมการสอนอาชีพในโรงเรียน เล็งหาเครือข่ายรองรับนักเรียนพิการ

ดร.กมล รอดคล้าย เลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ตระหนักถึงการสร้างโอกาสที่เท่าเทียมทางการศึกษาในสังคมไทย จึงได้จัดการเรียนการสอนให้เด็กพิการทุกคนได้เรียนหนังสือ ตามวิธีการที่เหมาะสมตามความแตกต่างเป็นรายบุคคล เพื่อให้เด็กพิการมีทักษะ เจตคติ และองค์ความรู้ที่จะดำเนินชีวิตเป็นอิสระรวมทั้งมีอาชีพอิสระ หรือ อาชีพรับจ้างต่างๆ ได้ เนื่องจากคนพิการที่เข้าเรียนในโรงเรียนการศึกษาพิเศษเฉพาะความพิการ จำนวน 46 โรงเรียน ใน 37 จังหวัด สังกัดสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. ถือเป็นคนพิการที่ผ่านกระบวนการคัดกรองที่จัดอยู่ในกลุ่มที่สามารถเรียนรู้ได้ ฝึกประสบการณ์ได้ แต่ต้องถูกวิธีและมีอุปกรณ์ วัสดุ ครุภัณฑ์ สถานที่ในการเรียนรู้ฝึกประสบการณ์ให้เสมือนจริงมากที่สุด

ดร.กมล กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการวิเคราะห์ วิจัย ในทักษะความรู้และเจตคติของเด็กพิการและผู้ด้อยโอกาส ในด้านกระบวนการจัดการเรียนการสอน รูปแบบการดำรงชีวิต การสร้างอาชีพ และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ของนักเรียนว่าตรงกับความต้องการและบริบทของนักเรียนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ถือว่ายังไม่ครอบคลุมโรงเรียนการศึกษาพิเศษในทุกแห่ง ดังนั้น สพฐ. จึงได้จัดทำงานวิจัยด้าน “การศึกษาปัจจัยความพร้อมด้านการจัดการศึกษาอาชีพให้กับโรงเรียนการศึกษาพิเศษตามนโยบายการสร้างโอกาสทางการศึกษา ในสังคมไทย” โดยได้ดำเนินการวิจัยกับโรงเรียนการศึกษาพิเศษเฉพาะความพิการ 46 โรง ใน 37 จังหวัด ซึ่งถือเป็นเด็กพิการที่ผ่านกระบวนการคัดกรองจัดอยู่ในกลุ่มที่สามารถเรียนรู้ได้ ฝึกประสบการณ์ได้ ด้วยการเก็บข้อมูลการวิจัยจากนักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง รวมถึงประธานกรรมการสถานศึกษา เพื่อหาทางออกในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาการจัดการเรียนการสอนด้านอาชีพให้แก่เด็กพิการ และนำผลที่ได้มายกร่างเสนองานวิจัยฉบับสมบูรณ์และจัดพิมพ์เป็นคู่มือการจัดการเรียนการสอนด้านอาชีพแก่โรงเรียนการศึกษาพิเศษ ต่อไป สพฐ. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจากการดำเนินงานศึกษาปัจจัยความพร้อมด้านการจัดการศึกษาอาชีพให้กับโรงเรียนการศึกษาพิเศษตามนโยบายการสร้างโอกาสทางการศึกษาในสังคมไทย” ในครั้งนี้ จะทำให้ สพฐ. ได้มาซึ่งข้อมูลเชิงประจักษ์ในการกำหนดนโยบาย และปรับปรุงแนวทางการจัดการเรียนการสอนอาชีพให้กับเด็กพิการด้อยโอกาส ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษเฉพาะความพิการได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ สพฐ. จะได้ดำเนินการจัดหาเครือข่าย หรือ ตลาดแรงงานเพื่อรองรับนักเรียนพิการที่จบชั้น ม.3 และ ม.6 เข้าทำงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และได้ค่าตอบแทนในอัตราที่เหมาะสมต่อไป...“เด็กพิการ ก็ทำงานได้ พร้อมอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขและเท่าเทียม”

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น