xs
xsm
sm
md
lg

รื้อแผนพีอาร์ “อาชีวะ” หลังพบรับ นร.พลาดเป้าอย่างแรง พ่อแม่ยังฮิตส่งลูกเข้าสายสามัญ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รับ นร. อาชีวะ ไม่ได้เป้า “ชัยพฤกษ์” คาดไม่ใช่เพราะประชากรลด แต่เพราะค่านิยมพ่อแม่ยังมุ่งให้ลูกเรียนสายสามัญ ระบุมอบสำนักวิจัยฯ ไปวิเคราะห์วิธีการพีอาร์เพิ่มยอดผู้เรียนที่ผ่านมาทำถูกทางหรือไม่ หรือมีปัญหาอะไรให้เห็นภาพชัดและปรับแก้ไข
แฟ้มภาพ
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า จากนโยบายการรับนักเรียนสายอาชีวศึกษากับสายสามัญ ในปีการศึกษา 2557 ที่สัดส่วน 45:55 เพื่อให้เด็กมาเรียนสายอาชีวะให้ได้ 295,040 คน โดยเป็นเป้าหมายของวิทยาลัยในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) 185,285 คนนั้น การสำรวจข้อมูลล่าสุดพบว่า มีนักเรียนมารายงานตัวเพื่อเข้าเรียนกับวิทยาลัยในสังกัด สอศ. แล้ว 150,240 คน คิดเป็น 81.09% ยังต่ำกว่าเป้าหมาย 35,045 คน แต่หากเทียบกับจำนวนผู้มารายงานตัวในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่า ปีนี้มีผู้มารายงานตัวมากกว่าปีที่แล้ว 404 คน และคาดว่าเมื่อถึงวันที่ 10 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันสรุปตัวเลขนักเรียนอาจมีจำนวนนักเรียนที่เลือกเรียนต่ออาชีวะมากกว่าปีที่แล้วเล็กน้อย แต่ในภาพรวมการรับนักเรียนสายอาชีวะน่าจะอยู่ที่ 38% ไม่ถึง 45% ตามนโยบายที่วางไว้

เลขาธิการ กอศ. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้มอบให้สำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สอศ. ไปวิเคราะห์ว่า หลังจากที่ สอศ. ได้ทุ่มกำลังในการทำทุกวิธีการ เพื่อให้นักเรียนหันมาเรียนต่อสายอาชีพเพิ่มมากขึ้นแล้ว ผลที่ออกมาเป็นอย่างไรบ้าง เช่น การสมัครเข้าเรียนในภาพรวม ในแต่ละพื้นที่ และแต่ละสาขาวิชามีความแตกต่างจากเดิมอย่างไร ทั้งนี้ เมื่อผลวิจัยออกมาแล้วจะทำให้เห็นภาพชัดว่า ยังมีจุดใดที่ต้องเข้าไปเร่งแก้ไข ส่วนสาเหตุที่ สอศ. ยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมาย 45% ที่วางไว้นั้น มีหลายคนเคยอธิบายว่าเป็นเพราะประชากรลดลง แต่ส่วนตัวเห็นว่าไม่จริงเพราะพิจารณาข้อมูลจะพบว่า เด็กที่จบชั้น ม.3 ไม่ได้มีจำนวนลดลงจากทุกปี โดยตนคิดว่าสาเหตุใหญ่น่าจะอยู่ที่ค่านิยมของผู้ปกครองที่ต้องการส่งลูกเรียนสายสามัญมากกว่า อีกทั้งโรงเรียนสายสามัญทั้งรัฐ และเอกชน ก็ยังเปิดรับอยู่อย่างต่อเนื่อง

ในปีนี้ สอศ. ดำเนินการประชาสัมพันธ์เพียงแค่ครึ่งปีเท่านั้น ซึ่งผมมองว่าถ้าจะประชาสัมพันธ์เพื่อจูงใจให้เด็กมาเรียนอาชีวะให้ได้ผลต้องเริ่มประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจให้เด็กรู้จักทุกอาชีพ ตั้งแต่เรียนอยู่ชั้น ม.1 และทำต่อเนื่องจนถึงชั้น ม. 3 ซึ่งมั่นใจว่าเมื่อเด็กจบชั้น ม.3 แล้วจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะเลือกเรียนต่อในสายใด” นายชัยพฤกษ์ กล่าว

ติดตาม Instagram และ Facebook Fanpage ของ "Quality of Life" ได้ที่




กำลังโหลดความคิดเห็น