xs
xsm
sm
md
lg

รับมือภาวะเพลียแดด ลมแดด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.นพ.พิสิฏฐ์ เลิศวานิช
ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด

ด้วยอุณหภูมิที่ร้อนแรงขึ้นจากสภาพอากาศ อาจส่งผลต่อสภาพร่างกาย จนเกิดภาวะเพลียแดดลมแดดขึ้น

ภาวะเพลียแดด ลมแดด เป็นการเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากร่างกายไม่สามารถปรับตัวสู้กับสภาพอากาศที่ร้อนจัดได้

โดยปกติแล้วร่างกายคนเรามีอุณหภูมิ ประมาณ 36 - 37 °c ในภาวะเพลียแดด ร่างกายจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น แต่ยังไม่ถึง 40 °c อาจทำให้เกิดอาการเพลียแดดโดยจะมาพร้อมกับอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ไม่มีแรง แต่ยังรู้สติดีอยู่ ส่วนโรคลมแดดเป็นภาวะการเจ็บป่วยจากความร้อนที่รุนแรงที่สุด โดยมีอุณหภูมิสูงเกิน 40 °c ร่วมกับมีอาการทางสมอง เช่น หมดสติ พูดจาสับสนหรือชัก หากไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที สามารถทำให้เกิดตับและไตวายหรือเสียชีวิตได้

ภาวะนี้เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่ถูกแดดจัด หรืออยู่ในที่ร้อนจัดเป็นเวลานาน แต่ผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเพลียแดด ลมแดด ได้ง่ายขึ้น กลุ่มผู้ที่ปรับตัวต่อความร้อนได้ไม่ดีนัก คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ที่ติดเหล้า ผู้ที่รับประทานยาบางชนิด เช่น ยาเสริมธัยรอยด์ ยาแก้แพ้ยาทางจิตเวช อีกกลุ่มหนึ่งที่ความเสี่ยงคือ นักกีฬาที่เล่นกีฬาในสภาพอากาศที่ร้อนจัด เพราะมีความร้อนจากภายในร่างกายที่เกิดผลิตจากกล้ามเนื้อระหว่างการออกกำลังกายด้วย

วิธีการปฐมพยาบาล สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ การลดระดับความร้อนของร่างกายให้เร็วที่สุด นำผู้ป่วยเข้าสู่ที่ร่ม ที่อากาศถ่ายเท คลายหรือถอดเสื้อผ้าออกตามความเหมาะสม จัดผู้ป่วยนอนราบ ยกขาสูง อาจหาพัดลมเปิดเป่าตัวผู้ป่วย ใช้การเช็ดตัวหรือประคบเย็นด้วยผ้าชุบน้ำเย็น หรือถุงน้ำแข็ง ในส่วนคอ ลำตัว แขนขา และข้อพับต่าง ๆ ในผู้ป่วยที่ยังรู้ตัวดีอยู่ อาจให้ดื่มน้ำเย็นได้ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยมักมีอาการดีขึ้นเมื่ออุณหภูมิกายลดลง หากผู้ป่วยยังไม่รู้สึกตัว สับสน หรือชัก ควรขอความช่วยเหลือ นำส่งโรงพยาบาล

สำหรับการรับมือกับภาวะนี้ สิ่งที่เราสามารถปรับตัวเพื่อสู้กับอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น เริ่มจากภายในบ้านไม่ควรร้อนอบอ้าว ระบายความร้อนด้วยการเปิดพัดลมส่ายไปส่ายมา เพื่อไล่อากาศร้อนๆ ในห้อง และเปิดหน้าต่าง เพื่อให้ลมร้อนในห้องมีทางระบายออกไปถ้าห้องอยู่ในทิศที่แดดส่องโดยตรง ก็ควรจะหาผ้าม่านหรือแผ่นฟิล์มกรองแสงมาปิดกันแสงแดด เพื่อป้องกันไม่ให้ห้องร้อนมากเกินไป

การหลั่งเหงื่อเป็นกลไกการลดความร้อนของร่างกายที่สำคัญที่สุด การดื่มน้ำให้เพียงพอ วันละประมาณ 2-3 ลิตร ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยป้องกันการขาดน้ำ ในภาวะที่มีการเสียเหงื่อมาก เช่น การออกกำลังกายต่อเนื่องกันนานๆ อาจดื่มน้ำเกลือแร่ชดเชยแต่การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของชา กาแฟ จะทำให้ร่างกายเราสูญเสียน้ำมากขึ้น

และถ้าจะต้องออกไปเผชิญกับแสงแดดและความร้อนนอกบ้าน ควรเลือกเสื้อผ้าที่มีลักษณะโปร่งบาง ระบายอากาศได้ดี หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าหนาๆ ที่มีสีเข้ม เพราะจะทำให้ดูดซับความร้อนไว้ได้มาก ก่อนออกจากบ้านควรทาครีมกันแดดที่มีค่า SPF สูงกว่า 15 ซึ่งจะช่วยป้องกันผิวหนังจากรังสียูวีได้ดีกว่ารวมถึงการอาบน้ำหลังจากทำกิจกรรมกลางแดด เป็นเทคนิคการคลายความร้อนที่ดีอีกอย่างหนึ่ง และช่วยให้รู้สึกสดชื่นดีทีเดียวครับ

ส่วนนักกีฬาที่ออกกำลังกายกลางแจ้ง ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายในสภาพอากาศร้อนจัดต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน หากเป็นไปได้ควรพักเข้าร่มบ้างในการแข่งขันที่มีคนจำนวนมาก ควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในส่วนกลางของกลุ่มคน เพราะจะได้รับรังสีความร้อนที่กระจายมาจากคนอื่น และการถ่ายเทของอากาศไม่ดี ควรดื่มน้ำบ่อยๆ ไม่ควรรอจนรู้สึกกระหายน้ำและไม่ควรเล่นกีฬาในขณะที่เป็นไข้

ท้ายสุดผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุที่ช่วยเหลือตัวเองได้น้อย เด็กเล็ก และผู้มีโรคประจำตัว ควรระมัดระวังเรื่องการเจ็บป่วยจากสภาพอากาศร้อน ในแต่ละวันควรดื่มน้ำอย่างเพียงพอครับ

-------------------------------------------

                                                                 พบกิจกรรมดีๆ ที่ศิริราช

อบรมผู้ฝึกสอนด้านสุขภาพ

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จัดโครงการ “อบรมหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ฝึกสอนส่วนบุคคล รุ่นที่ 7” ระหว่างวันที่ 5 กรกฎาคม - 10 สิงหาคมนี้ รับสมัครผู้มีประสบการณ์ทำงานด้านสุขภาพหรือเกี่ยวข้อง วันนี้ - 4 กรกฎาคม สอบถาม โทร. 0-2419-9668-9
 

กำลังโหลดความคิดเห็น