ผู้แทน อ.ก.ค.ศ.เขต โคราช วอนหาทางออกการอายัดบัญชีครูผู้ช่วย 29 ตำแหน่งหลังค้างมา 2 ปี ระบุ ขณะนี้ ร.ร.เดือดร้อน เพราะขาดครู ขณะที่ ปลัด ศธ.ย้ำ อ.ก.ค.ศ.เขต ต้องสุจริต เที่ยงธรรม เสมอภาค
ที่โรงแรมอะเดรียติค พาเลซ กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการบริหารงานบุคคลของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ใน อนุ ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา ภาคกลาง และ อ.ก.ค.ศ.ส่วนราชการ โดยมีนายอภิชาติ จีระวุฒิ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) เป็นประธานเปิดการประชุมพร้อมบรรยายพิเศษ มีใจความสำคัญตอนหนึ่งว่า ขอให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ระมัดระวัง และลงไปตรวจสอบการประเมินครูผู้ช่วย ซึ่งจะต้องปฏิบัติงานให้ครบ 2 ปี ระหว่างนั้นจะต้องประเมินรวม 8 ครั้ง ซึ่งเคยพบว่าบางพื้นที่โรงเรียนให้การช่วยเหลือให้คะแนนประเมินครูผู้ช่วยค่อนข้างสูง มีบางคนได้คะแนนเต็ม 100 ซึ่งจุดนี้ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่จะได้คะแนนสูงขนาดนั้น เพราะฉะนั้นเพื่อความเที่ยงธรรม อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ จะต้องลงไปตรวจสอบด้วยว่าพัฒนาการของครูผู้ช่วยเป็นเช่นไร และหากเห็นว่าคะแนนมากเกินไปก็ควรจะต้องท้วงติง เพื่อให้คะแนนเป็นไปตามความเป็นจริง รวมถึงเรื่องการประเมินวิทยฐานะก็เป็นเรื่องที่ยากที่สุดในการทำงานแต่ก็ขอให้ตรวจสอบรายละเอียดทุกอย่างถี่ถ้วนก่อนอนุมัติ
“อยากให้ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ให้ความสำคัญในเรื่องการพิจารณาโทษทางวินัย ตรวจสอบเอกสารสรุปรายงานอย่างละเอียดว่าการลงโทษนั้นเป็นโทษที่เหมาะสมต่อการกระทำผิดหรือไม่ ที่สำคัญ อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ตระหนักและยึดมั่นคือ ความสุจริต เที่ยงธรรม เสมอภาค โดยเฉพาะเรื่องการโยกย้าย การสรรหาต้องทำให้ชัดเจน เพราะเรามีอำนาจให้คุณให้โทษอย่าให้ใครมาว่าได้หรือที่เขาเอาไปอ้างว่าจ่ายกิโลละเท่านั้นเท่านี้ก็ได้ตำแหน่งหรือได้ประโยชน์”นายอภิชาติ กล่าว
ด้าน นางศิริพร กิจเกื้อกูล เลขาธิการ ก.ค.ศ.กล่าวว่า ก.ค.ศ.อยู่ระหว่างดำเนินการทำประชาพิจารณ์มาตรฐานโทษทางวินัย โดยสอบถามความเห็นจากกลุ่มผู้บริหาร ครู อาจารย์ ผู้แทนใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ ซึ่งสาเหตุที่ต้องทำประชาพิจารณ์กฎหมายใหม่นั้น เพราะว่าพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553 มีการปรับเปลี่ยนหลายครั้ง ทำให้บทลงโทษบางอย่างอาจจะต้องมาดูและปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม เช่น การคัดลอกผลงาน ลอกเลียนผลงานวิชาการ ในระดับการศึกษาพื้นฐานถือว่าเป็นโทษทางวินัยร้ายแรง แต่หากเป็นระดับอาจารย์มหาวิทยาลัยโทษจะอีกแบบหนึ่ง อีกทั้งต้องมาดูด้วยจะต้องกำหนดว่ากี่บรรทัดจึงจะถือว่าเป็นการคัดลอกผลงาน ซึ่งก่อนหน้านี้ ศาลปกครองเคยตีความว่า แม้จะมีเพียง 3 บรรทัดก็ถือว่าลอกเลียนผลงาน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ต้องใช้เวลาสักระยะในการทำประชาพิจารณ์และสรุปความเห็นต่อไป รวมทั้งในวันที่ 15 ส.ค.นี้ ก.ค.ศ.จะจัดประชุมเชิงปฏิบัติการชี้แจงทำความเข้าใจแก่ผู้อ่านผลงานวิทยฐานะสายการสอนระดับเชี่ยวชาญประมาณ 300 คน ตามที่ได้มีการปรับเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะเป็นรูปแบบ ว 17 ด้วย
ด้าน นายวิรัส ภูบุญศรี ผู้แทนคุรุสภาใน อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่ นครราชสีมา เขต 7 กล่าวว่า ขณะนี้โรงเรียนในเขตกำลังประสบปัญหาการขาดครู ทั้งนี้ ก่อนหน้าในการสอบบรรจุครูผู้ช่วยปี 2551 ทางเขตได้ครูผู้ช่วยมา 29 ตำแหน่ง แต่เนื่องจากมีการร้องเรียนกรณีว่ามีกรรมการบางคนใน อ.ก.ค.ศ.เขต ชุดก่อนหน้า ตนได้แก้ไขกระดาษคำตอบของผู้เข้าสอบ ดังนั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จึงได้ตั้งกรรมการสอบสวนเป็นเหตุให้ครูผู้ช่วยทั้ง 29 ตำแหน่งถูกอายัติไม่สามารถนำอัตรามาใช้หรือนำอัตราอื่นมาทดแทนได้ ซึ่งขณะนี้ล่วงเลยมาเป็นระยะเวลา 2 ปีแล้ว ทั้งนี้ ตนทราบมาว่า ทาง สพฐ.ได้สรุปข้อมูลแล้วรอเพียงการนำเรื่องเข้าสู่การประชุม ก.ค.ศ.แต่ว่าก็ยังไม่มีการนำเรื่องเข้าแต่อย่างใด ซึ่งตนอยากให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพราะสงสารโรงเรียน และนักเรียนที่ประสบปัญหาขาดครู