เลขาธิการเครือข่ายปัญญาสยาม เรียกร้องให้รัฐบาลออกมาสร้างวัฒนธรรมการเมืองใหม่ ด้วยการรับผิดชอบกรณีเหตุรุนแรงเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่รัฐบาลไม่สามารถควบคุมและแก้ไขสถานการณ์ได้ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ด้วยการขอโทษและลาออก ฟันธงหนักแน่นหากรัฐไม่ทำ จ่อปฏิวัติแน่นอน
ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) และเลขาธิการเครือข่ายปัญญาสยาม เปิดเผยว่า ขณะนี้กลุ่มอาชีพต่างๆ มาจากนักวิชาการมหาวิทยาลัย ผู้ประกอบอาชีพอิสระ แพทย์ วิศวกร นักกฏหมาย นักบัญชี เภสัชกร สถาปนิก และนักธุรกิจรวมกลุ่มภายใต้ชื่อ เครือข่ายปัญญาสยาม เพื่อทำงานทางการเมือง โดยทางเครือข่ายพยายามจะทำก็คือให้ความรู้ และแนวทางการแก้ปัญหาทางการเมืองแก่สังคมไทย
โดยต้องการบอกให้สังคมรู้ว่าแนวทางการแก้ปัญหาชาตินั้นต้องมาจากภาคส่วนต่างๆ และต้องการบอกให้สังคมรู้ว่าประเทศไทยไม่ได้มีแค่กลุ่มพันธมิตรและฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น ยังมีผู้คนในแวดวงอื่นๆ ที่เขาเป็นห่วงและรักบ้านเมืองเช่นเดียวกัน เครือข่ายปัญญาสยามเป็นเครือข่ายที่เสนอแนวคิด แนวทางในการที่จะพัฒนาการเมืองไทยให้มีคุณภาพและอยู่กันอย่างสันติสุข เราจะทำงานทั้งในภาวะวิกฤต และภาวะปกติ
“ในขณะนี้สังคมอาจจะเห็นว่ากลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นเพื่อเสนอทางออกให้กับการเมืองไทยหลายกลุ่ม แต่กลุ่มเครือข่ายปัญญาสยามจะยึดหลักความถูกต้องเป็นหลัก มีความเป็นกลางที่อยู่บนหลักการความถูกต้อง โดยมี ศ.นพ.ประมวล วีรุตมเสน ตอนนี้ทางเครือข่ายปัญญาสยามอยากจะเรียกร้องว่า
1.เหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เรายังหาข้อสรุปไม่ได้ว่าใครถูกใครผิด แต่เราอยากเรียกร้องรัฐบาลให้มีวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ ออกมารับผิดชอบ เพราะในขณะที่คุณดำเนินหน้าที่อยู่นั้น มีเหตุการณ์ที่ร้ายแรงเกิดขึ้น ไม่สามารถดูแลสถานการณ์บ้านเมืองเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมาได้ ดังนั้น ควรจะลาออก พร้อมทั้งต้องขอโทษที่ไม่สามารถดูแลสถานการณ์บ้านเมืองให้เกิดความสงบได้ ทางกลุ่มเราไม่ได้เรียกร้องให้ขอโทษที่ทำผิด แต่เราต้องการให้ขอโทษและลาออกถือเป็นการรับผิดชอบ ไม่ใช่อยู่อย่างลอยนวลอย่างนี้
2.เมื่อรัฐบาลชุดนี้ลาออก เราก็ขอเสนอให้ใช้กระบวนการทางรัฐสภา ทั้งส.ส.และส.ว.โดยใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งถือเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกต้องตามกฏหมาย ให้ได้มาซึ่งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เป็นการโหวตเพื่อให้ได้รัฐบาลเข้ามาทำงานแทนรัฐบาลชุดนี้ ต้องมีการปรึกษาหารือกัน ดังนั้นรัฐบาลชุดใหม่จะมีรูปแบบใหม่เพื่อเข้ามาทำงานเฉพาะกิจ คือ 1.เข้ามาสอบผู้กระทำผิดในวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา 2.ให้เข้ามาพัฒนาการเมืองใหม่โดยร่างรับธรรมนูญเพื่อพัฒนาการเมืองใหม่ โดยไม่ได้ให้ ส.ส.ร.3 ทำ เนื่องจากหลายฝ่ายไม่ยอมรับ เมื่อร่างไปก็ไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นควรจะหากลุ่มคนที่ฝ่ายขัดแย้งทั้งสองฝ่ายยอมรับได้เข้ามาเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ขณะนั้นฝ่ายขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นพันธมิตรฯ หรือ นปช. เลิกราการชุมชน เพื่อให้คณะกรรมการที่เรายอมรับได้ร่างรัฐธรรมนูญ โดยใช้เวลาประมาณ 3 เดือน จากนั้นก็ค่อยให้ทุกผ่านได้เข้าดูว่ามีส่วนไหนบ้างต้องเพิ่มเติม แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทุกคนต้องยอมรับ อาจจะมีการแก้ไขได้บ้าง
และ 3.เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จถึงจะเข้าสู่การยุบสภา โดยใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
ผศ.นพ.เฉลิมชัย กล่าวอีกว่า เมื่อมีการเลือกตั้งผลออกมาอย่างไรเราก็ต้องยอมรับ ไม่ว่าใครจะได้รับคัดเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้านก็ต้องเปิดโอกาสให้เขาได้ทำงานครบ 4 ปี แนวทางที่เครือข่ายปัญญาสยามเสนออาจจะไม่มีฝ่ายไหนยอมรับ และคงจะปล่อยให้บ้านเมืองเป็นไปอย่างนี้ ท้ายที่สุดอาจนะไปสู่การปฏิวัติ หรือการต่อสู้บาดเจ็บกันอีก