xs
xsm
sm
md
lg

จาก K Pop ถึง “เซจง” เมื่อ ร.ร.สอนภาษาเกาหลีบุกไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ยังไม่ทันที่กลิ่นอายของกระแส J Pop ฟีเวอร์ จะจางหายไป ก็โดนแรงกระแทกของแฟชั่นแนวตี๋อินเตอร์อย่าง K Pop หรือ แฟชั่นสไตล์เกาหลี ส่งความแรงมาเบียดจนฉุดไม่อยู่ เล่นเอาเด็กสยามฯ บ้านเราเป็นอันต้องหลงใหลได้ปลื้มตามกันไป ซึ่งสิ่งหนึ่งที่ตามมากับตัวซุปเปอร์สตาร์ หรือที่ได้กลายเป็นไอดอลในใจเด็กรุ่นใหม่ไปแล้ว ก็คือวัฒนธรรม ที่หมายรวมถึงการแต่งกาย อาหารการกิน และภาษา ซึ่งเห็นได้จากการลงทุนธุรกิจเกี่ยวกับแดนกิมจิที่แข่งกันเบ่งบานขึ้นทุกขณะ


หนึ่งในธุรกิจที่ว่านั้นคงต้องรวมโรงเรียนสอนภาษาเกาหลีที่เข้ามาเปิดตัวไว้ด้วย แม้กระทั่งในสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งก็ได้เปิดคอร์สแก่นักศึกษาที่สนใจ แต่นั่นก็ถือว่ายังไม่ครบกระบวนการอย่างแท้จริง ซึ่งเราได้มีโอกาสแวะเข้าไปสัมผัสกับโรงเรียนสอนภาษาเกาหลีแห่งใหม่ย่านสีลม ที่เพิ่งเปิดตัวไปได้ไม่นาน และมาพร้อมคอนเซปต์ที่ว่าด้วยเรื่องของวัฒนธรรมกับภาษาที่ไม่อาจแยกออกจากกันได้โดยเด็ดขาด


ลี จง อิล ผู้อำนวยการโรงเรียนสอนภาษาเกาหลีเซจง อธิบายให้ฟังถึงความสนใจมาขยายธุรกิจในไทยว่า เพราะในปัจจุบันมีนักเรียนไทยสนใจไปศึกษาต่อที่ประเทศเกาหลีมากขึ้น ไม่ว่าจะด้วยกระแสจากนักร้องซูเปอร์สตาร์หรือจากความสนใจส่วนตัวก็ตามแต่ จึงทำให้เกิดความต้องการในตลาดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในเรื่องของภาษาซึ่งมีความสำคัญมาก แม้ขณะนี้จะมีสถาบันที่เปิดสอนภาษเกาหลีในประเทศไทยไปแล้วกว่า 20 แห่ง แต่อย่างไรเสียหลักสูตรที่จัดการเรียนการสอนเท่าที่สำรวจดู ยังไม่ใช่วิธีที่เหมาะสมในการนำเสนอแก่ผู้เรียนมากนัก


ขณะที่โรงเรียนเซจง ให้ความสำคัญกับผู้เรียนในด้านวัฒนธรรมไม่แพ้ไปกว่าการสอนเฉพาะภาษาอย่างเดียว เพราะเชื่อมั่นว่าภาษากับวัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแยกออกจากกันได้ ต้องเรียนรู้ควบคู่กันไป ดังนั้นแต่ละหลักสูตรที่คิดค้นขึ้นมา ไม่ว่าจะใช้สอนในกลุ่มผู้เรียนประเภทใดก็จะนำเอาเรื่องของวัฒนธรรมเกาหลีเข้ามาสอดแทรกเสมอ เช่น สอนเรื่องการทำอาหาร ขนบธรรมเนียมประเพณี ไปพร้อมๆ กับการสื่อสารกันเป็นภาษาเกาหลี การเรียนรู้ลักษณะนี้จะทำให้ผู้เรียนมองเห็นภาพและเข้าใจภาษาได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น


“เราเน้นให้ผู้เรียนการลงมือปฏิบัติกันจริงๆ อย่างการทำอาหารก็ลงมือทำกันเลย พร้อมกับการสนทนากับผู้เรียน วิธีนี้จะทำให้ผู้เรียนไม่เบื่อหน่าย และรู้สึกสนุก ได้เรียนรู้วัฒนธรรม อีกทั้งในแต่ละห้องเรียนจะมีอาจารย์ผู้สอน 2 คนต่อห้อง เพื่อช่วยกันดูแลได้ทั่วถึง ซึ่งผู้สอนจะเป็นเจ้าของภาษา บางคลาสก็จะมีอาจารย์คนไทยอยู่ด้วยในกรณีที่อาจารย์ชาวเกาหลีไม่ค่อยพูดภาษาไทยไม่ค่อยจัดเจนมากนัก แต่ส่วนใหญ่อาจารย์เกาหลีทุกคนจะต้องเรียนภาษาไทยก่อนแล้วเพื่อการสื่อสารกันอย่างถูกต้องและง่ายขึ้น”

ไม่ใช่เพียงแต่การเข้ามาลงทุนเพื่อกอบโกยผลประโยชน์ในไทยเท่านั้น แต่ ลี จง อิล กลับมองว่าถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทำการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ระหว่าง 2 ชาติ เพราะก่อนหน้านี้ทางโรงเรียนเซจง ได้มีโครงการจัดครูจากโรงเรียนอนุบาลของประเทศเกาหลี มาเรียนรู้วิธีการเรียนการสอนของโรงเรียนหมู่บ้านเด็ก ที่จังหวัดกาญจนบุรี รวมทั้งโรงเรียนอนุบาลระดับแนวหน้าในส่วนกรุงเทพ ซึ่งแนวคิดที่เป็นจุดกำเนิดของโครงการดังกล่าวนั้นเนื่องจากการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลของเกาหลีมีความก้าวหน้ากว่าประเทศไทยค่อนข้างมาก ทั้งเป็นไปในลักษณะก้าวกระโดด นั่นเพราะเกาหลีให้ความความสำคัญกับการเรียนสูงมาก ทำให้เด็กเกิดความแข่งขันสูงตามไปด้วย ผลเสียคือเกิดความกดดันกับตัวเด็กตั้งแต่ยังเล็ก


ทว่าในเมืองไทยถือเป็นประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ดังนั้น เห็นได้ชัดว่าการเรียนการสอนก็เป็นไปในรูปแบบของการเดินทางสายกลาง สถาบันการศึกษาหลายต่อหลายแห่งจึงเน้นที่สภาพแวดล้อมรอบๆ ตัวผู้เรียน บรรยากาศการเรียนการสอนไม่ถูกบีบบังคับด้วยการตีกรอบจนเกินไป เด็กสามารถแสดงออกได้อย่างเต็มที่มีอิสระ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของการศึกษาไทยที่เกาหลีควรได้เรียนรู้ ขณะเดียวกันในด้านที่ยังอ่อนด้อยอยู่ก็พยายามเสริมให้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนซึ่งกันและกันระหว่าง 2 ประเทศ อย่างไรเสียทั้ง 2 ชาติก็ถือได้ว่ามีความเป็นตะวันออกเหมือนกัน ฉะนั้นควรส่งเสริมซึ่งกันและกัน

ทั้งนี้ดูเหมือนว่าปัจจุบันกระแสเกาหลีฟีเวอร์ในบ้านเราดูท่าจะประทุความร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่คลั่งไคล้ดารา นักร้อง ดูจะเป็นกลุ่มเป้าหมายอันดับหนึ่งเลยทีเดียวฉะนั้นการเข้ามาเปิดโรงเรียนสอนภาษาเกาหลีจึงจะไม่ผิดนักหากจะมองว่านี่เป็นเสมือนโอกาสทองที่ต้องรีบคว้าไว้ แต่ผู้อำนวยการโรงเรียนเซจงกลับบอกว่า เขาไม่ได้เล็งไปที่จุดนั้น แต่ก็ยอมรับว่านักเรียนส่วนใหญ่เป็นเด็กวัยรุ่นที่ชื่นชอบดารา นักร้องเกาหลี แต่ทางโรงเรียนเลือกให้น้ำหนักกับคนกลุ่มคนทำงานที่มาเรียนเพื่อหวังเอาไปต่อยอดในการเข้าทำงานกับบริษัทของเกาหลีมากกว่า เพราะถ้าสามารถใช้ภาษาเกาหลีได้จะเป็นที่ถูกอกถูกใจเจ้าของบริษัทซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดี อีกทั้งในอนาคตไทย-เกาหลี ก็จะมีการทำสัญญาเอฟทีเอ ดังนั้นตลาดของผู้เรียนก็จะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น


ขณะที่ ศิริภักตร์ ธนพรสวัสดิ์ หรือ ส้ม นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีปทุม ชั้นปีที่ 3 ซึ่งเป็นหนึ่งในนัเรียนของเซจงได้มาเล่าถึงเหตุผลที่เธอเลือกเรียนภาษาเกาหลีว่า เพราะทุกวันนี้ต้องทำงานพาร์ทไทม์กับบริษัทของเกาหลี อีกทั้งพี่สาวของเธอก็มีแฟนเป็นคนเกาหลี ซึ่งแม้ส้มจะพอได้ภาษาอังกฤษบ้างแต่บางครั้งก็ฟังภาษาอังกฤษของคนเกาหลีที่ทำงานอยู่ด้วยไม่ค่อยจะรู้เรื่อง อีกเหตุผลที่ทำให้อยากเรียนภาษาเกาหลีคงไม่แตกต่างจากวัยรุ่นทั่วไปคือเพราะชื่นชอบดารา นักร้องแดนกิมจิ จึงอยากศึกษาไว้ เพราะความคลั่งไคล้ของเธอไม่เพียงแต่เอาเวลาไปตามผลงานของซุปเปอร์สตาร์เหล่านั้นเพียงอย่างเดียว แต่หากรู้ภาษาจะได้เอาไปแปลเพลงเขาได้ เกิดประโยชน์กับตัวเองด้วย โดยการหลุดเข้ามาในวงจร K–POP นี้เริ่มเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว


แม้จะเป็นหนึ่งในสาวกเกาหลีฟีเวอร์ แต่ส้มบอกว่าเธอจะไม่ยอมกลืนไปกับกระแสจนลืมวัฒนธรรมไทย หากเลือกหยิบมุมดีๆ มาใช้ในชีวิตประจำวัน ถือเป็นข้อดีที่ได้เรียนรู้วัฒนธรรมของคนอีกชาติหนึ่ง เพราะถ้ามัวแต่เรียนรู้เฉพาะของตนเองคงไม่ต่างอะไรกับกบในกะลา ไม่อาจพัฒนาให้ทัดเทียมนานาประเทศ ทั้งนี้ต้องแยกแยะให้ออกว่าอันไหนดีไม่ดี “เห็นพวกที่เขาบ้าแฟชั่นมากๆ ก็จะแต่งตัวตามนักร้องไป ส้มว่าก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิด คืออะไรที่ทำแล้วให้ตัวเองมีความสุขก็ทำไปเถอะ แค่เรารู้ตัวว่าเราเป็นคนไทย ไม่ให้เขากลืนเรา ดีกว่าเอาเวลาไปเล่นเกมอินเตอร์เน็ต อย่างพวกที่บ้า COSPLAY ก็ยังไปบ้าข้างนอก ยังถือว่าได้เปิดโลกทัศน์ของตัวเองรู้เท่าทันคนอื่น แต่ติดเกมจะไม่เห็นใครเลย ” ส้มบอกไว้ทิ้งท้าย
กำลังโหลดความคิดเห็น