xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก 4 วายร้ายอันตราย ไวรัสตับอักเสบ เอ บี ซี อี(จบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


  • ไวรัสตับอักเสบ ซี
    ไวรัสตับอักเสบ ซี คือ อาร์เอ็นเอไวรัส ที่มีขนาดเล็กมาก ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าหรือกรรมวิธีใดๆ แม้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนก็ยังไม่สามารถมองเห็นได้ การศึกษาที่ทำอยู่ได้จากการสกัดสารพันธุกรรมของไวรัสแล้วนำมาขยายเพิ่มจำนวนนับล้านๆเท่า

  • ไวรัสตับอักเสบ ซี พบได้บ่อยไหม
    ประมาณว่ามีผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี ราว 100 ล้านคนทั่วโลก สำหรับในประเทศไทยข้อมูลจากผู้บริจาคเลือดพบราวร้อยละ 1.5 ถึง 4.0 โดยเฉพาะทางภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือพบมากกว่าทางภาคกลาง นั่นแสดงว่าอาจมีประชากรไทยนับล้านคนป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบ ซี

  • ไวรัสตับอักเสบ ซี ติดต่อกันอย่างไร
    ทางติดต่อที่สำคัญของไวรัสตับอักเสบ ซี คือการได้รับเลือดและส่วนประกอบของเลือด โดยเฉพาะหากได้รับเลือดก่อนปี พ.ศ. 2532 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีการตรวจหาไวรัสตัวนี้ แม้ในปัจจุบันในโรงพยาบาลบางแห่งก็ไม่สามารถตรวจไวรัสตับอักเสบซีได้เพราะค่าตรวจมีราคาแพง ในโรงพยาบาลที่ตรวจไวรัสซีได้ก็ยังไม่ได้หมายความว่าเลือดจะปลอดภัยนะครับ เพราะยังมีไวรัสหรือสิ่งมีชีวิตอื่นๆอีกมากมายในเลือดมนุษย์ที่ยังไม่ได้ค้นพบ

    ดังนั้น การให้เลือดหรือส่วนประกอบของเลือดแต่ละครั้งแพทย์ต้องคำนึงแล้วว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งหากผู้ป่วยไม่ได้รับอาจเกิดอันตรายได้ การให้เลือดจึงไม่ใช้เพียงเป็นการบำรุงร่างกาย นอกจากการติดต่อทางเลือดแล้วไวรัสตับอักเสบ ซี ยังติดต่อได้ในผู้ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น การสักตามตัว การเจาะหู การฝังเข็มรักษาโรค หากเครื่องมือไม่ได้รับการฆ่าเชื้อที่ถูกต้องก็อาจเป็นสาเหตุของการติดต่อได้ ในผู้ป่วยที่ฟอกเลือดล้างไตก็พบบ่อยขึ้น ส่วนน้อยอาจติดโดยทางเพศสัมพันธ์และการติดต่อจากมารดาไปยังทารกได้ มีรายงานติดต่อกันในครอบครัวบ้าง แต่มักเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์หรือการใช้สิ่งของที่ปนเปื้อนเลือด เช่น มีดโกน แปรงสีฟัน เป็นต้น การอยู่บ้านเดียวกัน รับประทานอาหารร่วมกันหรือใช้ห้องน้ำร่วมกันไม่ใช่ทางติดต่อ

  • หากเป็นตับอักเสบจากไวรัสตับอักเสบ ซี จะมีอาการอย่างไร
    เป็นที่น่าเสียดายว่าผู้ป่วยตับอักเสบจากไวรัสตับอักเสบ ซี มักไม่มีอาการ ในกรณีที่เป็นตับอักเสบ ซี จากการได้รับเลือดมักมีระยะฟักตัวประมาณ 6 ถึง 8 สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ราวร้อยละ 25 อาจมีอาการอ่อนเพลียบ้าง และน้อยกว่าร้อยละ 10 อาจมีอาการดีซ่านได้ หากไม่สังเกตผู้ป่วยมักไม่ทราบว่าเป็นตับอักเสบ ในระยะนี้หากตรวจเลือดดูการทำงานของตับจะพบว่าผู้ป่วยทุกรายมีการทำงานของตับผิดปกติโดยเฉพาะการตรวจหาระดับ AST (SGOT) และ ALT (SGPT) ผู้ป่วยมักผ่านระยะนี้เข้าสู่ระยะเรื้อรังทั้งนี้มีผู้ป่วยเพียงราวร้อยละ 15 เท่านั้นที่สามารถกำจัดไวรัส ออกไปจากร่างกายได้ โดยมีถึงร้อยละ 85 ที่โรคกลายเป็นเรื้อรัง

    ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักไม่มีอาการหรืออาจมีเพียงอ่อนเพลียเล็กน้อยเท่านั้น โดยส่วนใหญ่มักตรวจพบการทำงานของตับผิดปกติ แต่บางรายก็ปกติซึ่งแม้ว่าจะมีการทำงานของตับปกติ หากตรวจชิ้นเนื้อตับก็พบว่ามีตับอักเสบเช่นกัน จึงไม่มีภาวะที่เรียกว่าพาหะอย่างในไวรัสตับอักเสบ บี ผู้ป่วยที่เป็นไวรัสตับอักเสบ ซี นี้อาจตรวจทราบโดยบังเอิญจากการตรวจร่างกายประจำปีพบว่ามีการทำงานของตับผิดปกติแล้วตรวจเพิ่มเติม การดำเนินโรคจะเป็นไปอย่างเงียบๆโดยเมื่อติดตามผู้ป่วยไปราว 20 ปีประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ป่วยจะเกิดตับแข็งจากไวรัส ซี และผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งนี้จะมีโอกาสเกิดมะเร็งตับได้ร้อยละ 1-4 ต่อปี ดังนั้นหลังจากเกิดตับแข็งแล้ว 10 ปี ผู้ป่วย 1-4 คนในสิบคนจะเกิดมะเร็งตับ

  • หากต้องการทราบว่าท่านเป็นไวรัสตับอักเสบ ซี หรือไม่จะทำอย่างไร
    การวินิจฉัยไวรัสตับอักเสบ ซี ทำได้ง่ายๆโดยการตรวจเลือดแล้วนำส่วนน้ำเหลืองไปตรวจหาภูมิต่อไวรัสตับอักเสบ ซี ที่เรียกว่า แอนตี้ เอช ซี วี (anti-HCV) ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายราว 300-400 บาท โดยอาจต้องรอผล 3-7 วัน ภูมิต่อไวรัสตับอักเสบ ซี นี้เป็นหลักฐานว่าร่างกายเคยได้รับเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี ไม่ใช่เป็นภูมิต้านทานต่อไวรัส การตรวจนี้มีความไวดีมากหากผลการตรวจให้ผลลบ ค่อนข้างมั่นใจว่าท่านไม่มีไวรัส ซี แต่หากให้ผลบวกก็อย่าพึ่งตกใจนะครับ ผู้ที่มี anti-HCV ให้ผลบวกร่วมกับมีการทำงานของตับผิดปกติ และมีประวัติปัจจัยเสี่ยงชัดเจนโดยเฉพาะการได้รับเลือดหรือส่วนประกอบของเลือดก็ค่อนข้างมั่นใจว่าท่านผู้นั้นมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี

    แต่หากท่านไม่มีปัจจัยเสี่ยงและมีการทำงานของตับปกติ การตรวจเลือดให้ผลบวกต่อไวรัส ซี ท่านมีโอกาสเป็นไวรัสตับอักเสบ ซีเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น โดยส่วนที่เหลือเกิดจากผลบวกปลอม แพทย์จะต้องมีการตรวจพิเศษเพื่อยืนยันอีกโดยอาจเป็นการตรวจหาไวรัสโดยตรงซึ่งทำได้ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ดังนั้นหากท่านไม่มีปัจจัยเสี่ยงและมีการทำงานของตับปกติก็ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจเลือดหาไวรัสตับอักเสบ ซี

  • หากท่านทราบว่าเป็นไวรัสตับอักเสบ ซี จะทำอย่างไร
    หากท่านอยู่ในกลุ่มที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี ก็ไม่ต้องตกใจ ท่านยังสามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ ท่านสามารถออกกำลังกายที่ไม่หักโหมได้ตามปกติเช่นการวิ่ง ว่ายน้ำหรือแม้แต่การตีเทนนิส ท่านควรพักผ่อนให้เพียงพอ การรับประทานอาหารท่านก็สามารถรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ได้ทุกอย่าง

    สิ่งที่สำคัญที่สุดคือควรงดดื่มสุราเพราะมีหลักฐานชัดเจนว่าจะสามารถทำให้การทำงานของตับทรุดลงเร็วมากและหลีกเลี่ยงการใช้ยาพร่ำเพรื่อรวมถึงยาสมุนไพรโดยเฉพาะกรณีที่ไม่ทราบส่วนประกอบของยานั้น การรับประทานยาวิตามินบำรุงตับอาจทำได้แต่ไม่มีหลักฐานว่าได้ประโยชน์ ท่านควรไปพบแพทย์เป็นระยะๆเพื่อประเมินอาการ การตรวจระดับ AST และ ALT ช่วยบอกว่ามีการอักเสบแต่อย่าตกใจกับระดับของ AST, ALT ทั้งนี้เพราะระดับของค่านี้ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความรุนแรงของการอักเสบและโดยธรรมชาติของไวรัสตับอักเสบ ซี จะมีระดับขึ้นๆลงๆอยู่แล้ว

  • ในปัจจุบันมีการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี หรือไม่
    ในปัจจุบันมียาที่รักษาไวรัสตับอักเสบ ซี ที่ยอมรับกันคือ ยาอินเตอร์เฟอรอน (Interferon) ยานี้เป็นยาฉีดโดยทั่วไปจะฉีดขนาด 3 ล้านยูนิต สัปดาห์ละ 3 วันเป็นเวลา 6-12 เดือนเป็นอย่างน้อย จากการศึกษาพบว่าหากได้รับยาเป็นเวลา 12 เดือนจะมีโอกาสหายขาดประมาณร้อยละ 20 คือ 1 คน ใน 5 คนเท่านั้นที่รักษาได้ผล

    ยานี้มีราคาแพง การใช้ยาเป็นเวลา 12 เดือนต้องเสียค่าใช้จ่ายเกือบสองแสนบาทเป็นอย่างน้อยและตัวยาก็มีฤทธิ์ข้างเคียงมากพอสมควรโดยเฉพาะเป็นไข้ ปวดเมื่อย ผมร่วงและกดการทำงานของไขกระดูก ดังนั้นการใช้ยาควรอยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ระบบทางเดินอาหารและโรคตับซึ่งโดยทั่วไปแพทย์จะติดตามผู้ป่วยสักระยะจนแน่ใจว่ามีการอักเสบจริงและแพทย์มักเจาะตับตรวจซึ่งมีความสำคัญมากเพราะจะสามารถประเมินการอักเสบของตับได้ดีที่สุด เนื่องจากการดำเนินของโรคช้าและยังไม่มีการรักษาที่ได้ผลดีกว่านี้

    กลุ่มที่ควรได้รับการรักษาคือกลุ่มที่มีการอักเสบมากๆ ในกลุ่มที่มีการอักเสบน้อยๆอาจติดตามไปก่อนจนกว่าจะมีการรักษาที่ให้ผลการรักษาดีกว่านี้และฤทธิ์ข้างเคียงน้อย ข้อมูลล่าสุดพบว่าการให้ยาอินเตอร์เฟอรอน(Interferon) ร่วมกับยารับประทาน ไรบาไวริน (Ribavarin) จะให้ผลการรักษาดีกว่าโดยพบว่าการบริหารยาทั้งสองอย่างเป็นเวลาเพียง 6 เดือนสามารถทำให้หายขาดได้ถึงร้อยละ 50 ยานี้ได้รับการจดทะเบียนในประเทศสหรัฐแล้วแต่ยังไม่มีขายในประเทศไทย ในปี พ.ศ 2542 จะมีเพียงการศึกษาวิจัยตามโรงเรียนแพทย์

  • ข้อแนะนำเกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบ ซี
    1. การรับประทานอาหารร่วมกันในครอบครัวที่มีผู้ป่วยเป็นไวรัสตับอักเสบ ซี ไม่ใช่สาเหตุของการติดต่อกัน เนื่องจากไวรัสตับอักเสบ ซี ติดต่อส่วนใหญ่ทางเลือด โอกาสที่จะติดต่อกับสมาชิกในบ้านผ่านการรับประทานอาหารร่วมกันจึงเป็นไปได้ยาก และยังไม่มีข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าสมาชิกในครอบครัวจะมีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อหรือเสี่ยงต่อการติดเชื้อ HCV เพิ่มมากกว่าครอบครัวที่ไม่ได้เป็น

    2. ในกรณีที่คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นไวรัสตับอักเสบ ซี จะมีโอกาสติดต่อไปยังฝ่ายตรงข้ามได้มากน้อยเพียงไร และจะป้องกันอย่างไร ถึงแม้ว่าจะมีรายงานการตรวจพบไวรัสตับอักเสบ ซี ในน้ำอสุจิและสารคัดหลั่งจากช่องคลอดแต่ก็มีปริมาณน้อยมากๆ ข้อมูลที่ได้จากการศึกษา เกี่ยวกับการติดต่อไวรัสตับอักเสบ ซี ผ่านทางเพศสัมพันธ์ ยังมีทั้งตัวเลขสนับสนุนและคัดค้านในกลุ่มประชากรที่มีความสำส่อนทางเพศ, ผู้ที่ขายบริการทางเพศ พวกรักร่วมเพศ และผู้ป่วยที่มาที่คลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์พบว่ามีอัตราการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี สูงกว่าประชากรทั่วไป

    จากการศึกษาทางระบาดวิทยาในสหรัฐอเมริกาประมาณว่าโอกาสในการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี จากเพศสัมพันธ์นั้นประมาณร้อยละ 5 ซึ่งต่ำกว่าในกรณีของการติดเชื้อ ไวรัสตับอักเสบ บี และไวรัส เอดส์ และในกลุ่มประกรดังกล่าวพบว่าโอกาสในการติดต่อจากชายไปหญิงนั้น มากกว่าโอกาสที่ติดต่อจากหญิงไปชาย แต่ยังไม่มีข้อมูลที่แสดงว่ามีการเพิ่มอุบัติการณ์ของการติดเชื้อ HCV ในคู่สมรสที่ไม่มีเพศสัมพันธ์ใดๆ นอกจากคู่สมรสของตัวเอง ดังนั้น จึงไม่จำเป็นที่จะต้องมีการป้องกันพิเศษใดๆ สำหรับผู้ที่มีประวัติสำส่อนทางเพศแนะนำให้มีการป้องกันตามปกติเช่นการสวมถุงยางอนามัย

    3. มารดาที่ตั้งครรภ์และเป็นไวรัสตับอักเสบ ซี มีโอกาสที่จะถ่ายทอดไปยังบุตรได้มากน้อยเพียงไร และมีวิธีป้องกันอย่างไร มีรายงานเกี่ยวกับการติดต่อจากมารดาไปยังบุตรได้ แต่ประมาณว่าไม่เกินร้อยละ 6 ด้วยข้อมูลที่มีอยู่ยังไม่มีคำแนะนำหรือข้อปฏิบัติพิเศษอย่างใดในการป้องกันการติดต่อจากมารดาไปยังบุตร อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่มารดามีการติดเชื้อไวรัสเอดส์ร่วมด้วย อุบัติการณ์ของการเกิดการติดต่อไวรัสตับอักเสบ ซี จากมารดาสู่ทารกจะเพิ่มเป็นร้อยละ 18 เนื่องจากในภาวะที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งจะทำให้มีจำนวนของไวรัสตับอักเสบ ซี เพิ่มมากในกระแสเลือด

    4. มารดาที่เป็นไวรัสตับอักเสบ ซี สามารถเลี้ยงลูกด้วยน้ำนมตัวเองได้หรือไม่ จากข้อมูลที่จำกัดและมีอยู่ในปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่ามารดาที่เป็นไวรัสตับอักเสบ ซี สามารถแพร่ไวรัสตับอักเสบ ซี ผ่านทางการให้นม ดังนั้นจึงไม่เป็นข้อห้ามในการให้นมบุตร

    นพ.อนุชิต จูฑะพุทธิ
    ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย


  • กำลังโหลดความคิดเห็น