โฆษกรัฐบาลเผย นายกฯ เน้นย้ำการดูแลคนไทยจากเหตุการณ์โรงงานอะลูมิเนียมระเบิดในไต้หวัน พร้อมตั้งทีมประสานงานเพื่อช่วยเหลือ เยียวยาผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้อย่างเต็มที่
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์โรงงานอะลูมิเนียมระเบิด ที่เมืองเกาสง ไต้หวัน ซึ่งมีแรงงานชาวไทยได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ โดยเน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับการดูแลคนไทยที่ได้รับผลกระทบ และสั่งการให้ประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเข้าให้ความช่วยเหลือ และให้การเยียวยาอย่างเต็มที่
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากเหตุการณ์ระเบิดของ โรงงานผลิตแท่งอะลูมิเนียมที่เขตหูเน่ย เมืองเกาสง ไต้หวัน เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 ส่งผลให้มีแรงงานได้รับบาดเจ็บ 6 คน โดยเบื้องต้น กระทรวงสาธารณสุขได้รับรายงานว่า ในจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บนั้น เป็นแรงงานคนไทย 3 ราย โดย 2 รายเสียชีวิตแล้ว เป็นชาย อายุ 37 ปี ภูมิลำเนาจังหวัดมหาสารคาม และชายอายุ 46 ปี ภูมิลำเนาจังหวัดชัยภูมิ ส่วนอีก 1 ราย อาการสาหัส เป็นชายอายุ 31 ปี ภูมิลำเนากรุงเทพฯ โดยแพทย์ในพื้นที่ได้ทำการผ่าตัดช่วยชีวิต ขณะนี้อาการพ้นขีดอันตรายแล้ว
ทั้งนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงแรงงาน ได้ประสานงานให้การดูแลในเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตแล้ว โดยได้สั่งการให้อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายแรงงาน) สำนักงานแรงงาน ณ กรุงมะนิลา (ส่วนที่ 2) สาขาเมืองเกาสง ตรวจสอบข้อมูลของแรงงานไทยที่บาดเจ็บและเสียชีวิต เยี่ยมให้กำลังใจผู้บาดเจ็บ พร้อมประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมาย และประสานงานกับบริษัทจัดหางานเพื่อแจ้งถึงสิทธิประโยชน์แก่ญาติของแรงงานที่เสียชีวิตให้ทราบต่อไป โดยแรงงานไทยที่เป็นสมาชิกกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ มีสิทธิได้รับสิทธิประโยชน์เยียวยาจากกองทุน กรณีประสบปัญหาต้องเดินทางกลับประเทศไทย รายละ 15,000 บาท กรณีบาดเจ็บมีการรับรองจากแพทย์ว่าทุพพลภาพ จะได้รับการสงเคราะห์ เป็นจำนวน 30,000 บาท และกรณีเสียชีวิตในต่างประเทศ จะสงเคราะห์จำนวน 40,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการจัดการศพในต่างประเทศเท่าที่จ่ายจริงไม่เกิน 40,000 บาท
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ได้มอบหมายให้กองสาธารณสุขฉุกเฉินประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเตรียมการหากต้องมีการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ หรือการประสานส่งตัวกลับมารักษาต่อในประเทศไทย รวมถึงมอบหมายให้สำนักงานสาธารณสุขจัดทีมช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต (Mental Health Crisis Assessment and Treatment Team: MCATT) ติดตามประเมินเยียวยาจิตใจครอบครัวและญาติของผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง
“นายกรัฐมนตรีเสียใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้ความช่วยเหลือ ในด้านการรักษาเยียวยาร่างกาย และจิตใจ รวมถึงสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับตามกฎหมาย สร้างความมั่นใจให้แรงงานไทยและครอบครัวว่าจะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเหมาะสม” นายชัย กล่าว