xs
xsm
sm
md
lg

เทียบฟอร์มสุดขั้ว “หนู” พระเอก-“ป้อม” ผู้ร้าย !?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


 อนุทิน ชาญวีรกูล - พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
เมืองไทย 360 องศา

นาทีนี้หากบอกว่าพรรคการเมืองที่ถือว่า“อยู่เป็น” มากที่สุด ก็ต้องยกให้ “ภูมิใจไทย”เพราะสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์จากทุกสถานการณ์ ประกอบกับสถานะ หรือขนาดของพรรคในปัจจุบันเป็นพรรคขนาดกลาง จนสามารถสร้างพลังการต่อรองได้อย่างดี


แม้ว่าตลอดทั้งวันเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม ที่ต้องลุ้นกันว่าองค์ประชุมร่วมรัฐสภาจะครบหรือไม่ จนทำให้ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ต้องตกไปหรือไม่ รวมไปถึงหากครบองค์ประชุมแล้ว เมื่อมีการโหวตในวาระสาม แล้วร่างกฎหมายดังกล่าวที่เคยลงมติให้ใช้สูตรหาร 500 จะผ่านมติด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่งหรือไม่ เรียกว่าต้องลุ้นกันทุกขั้นตอน

ซึ่งไม่ว่าผลจะออกมารูปไหนก็ตาม แต่ที่ผ่านมาก็มีคนที่ถูกชี้หน้า “เป็นผู้ร้าย” ในสายตาชาวบ้านไปแล้ว ขณะเดียวกันเมื่อมีผู้ร้ายก็ต้องมี “พระเอก” เป็นของคู่กัน และแน่นอนว่าบทบาทดังกล่าวที่ชัดเจนที่สุดในเวลานี้กลายเป็นพรรคภูมิใจไทย ที่นำโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล ที่สามารถยืนยันหลักการได้อย่างคงเส้นคงวา จนเกิดภาพจำจากสังคมได้มากกว่าใคร แม้ว่าจะยังมีพรรคอื่น เช่น ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา รวมไปถึงพรรคอื่นๆ ที่มีท่าทีชัดเจนในเรื่องการยืนยันเข้าร่วมเป็นองค์ประชุมก็ตาม

แน่นอนว่าสิ่งที่สังคมกำลังจับตามองว่าผลจะออกมาแบบไหน ระหว่างไม่ครบองค์ประชุมจนทำให้ร่างกฎหมายที่ใช้สูตรหาร 500 ต้องตกไป และเป็นการยื้อให้เกินระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้ 180 วันหรือไม่ หรือว่าเมื่อมีการลงมติในวาระที่ 3 แล้วจะผ่านหรือไม่

อย่างไรก็ดี นายอนุทิน ชาญวีรกูล ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ยืนยันว่าพรรคจะเข้าร่วมประชุมในวันดังกล่าวอย่างแน่นอน นอกเหนือจากส.ส.ที่ลาการประชุมไม่กี่คนเท่านั้น

ทั้งนี้ความเคลื่อนไหวในลักษณะที่มี “ใบสั่ง” ให้ล้มการประชุมร่วมของรัฐสภาในวันที่ 10 สิงหาคมได้แพร่สะพัดก่อนหน้านั้นมีทั้งความความเคลื่อนไหวจากพรรคการเมืองที่แสดงท่าทีชัดเจนเกี่ยวกับ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ต้องการกลับไปใช้สูตร 100 โดยเฉพาะ 2 พรรคการเมืองขนาดใหญ่พร้อมคว่ำองค์ประชุมไม่ให้สามารถประชุมต่อไปได้ ซึ่งการไม่ร่วมแสดงองค์เป็นองค์ประชุมนั้น ในส่วนของพรรคเพื่อไทย (พท.) เป็นที่ชัดเจนว่าจะไม่ร่วมสังฆกรรมเป็นองค์ประชุม

ขณะที่ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)จำนวนหนึ่ง ที่เป็นสาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ก็ไม่มาร่วมประชุมสภา ส่วนของพรรคแกนนำร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคพลังประชารัฐที่มีรายงานว่า ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 7 ส.ค. ได้มีการแกนนำพรรคคนหนึ่ง ได้โทรศัพท์หา ส.ส.เป็นรายบุคคลว่า "ไม่ต้องมาประชุมสภา ในวันที่ 10 ส.ค.นี้" ด้านพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ได้กำชับให้ส.ส.เข้าร่วมประชุมสภาอย่างพร้อมเพียง ยกเว้นแต่ส.ส.ที่ลาไปร่วมงานวันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน

และในเวลาต่อมา นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาเป็นคนยอมรับเองว่ามีความพยายามในการล้มการประชุมเพื่อยืดเวลาให้พ้น 180 วันทำให้ร่างกฎหมายตกไปแล้วกลับไปใช้ร่างเดิมของรัฐบาลที่ใช้สูตรหาร 100 ดังกล่าว

ล่าสุดมีรายงานจากรัฐสภาแจ้งว่า หลังจากสมาชิกอภิปรายจบ จนเมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 10 สิงหาคม หลังจากสมาชิกอภิปรายจบ นายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้ให้สมาชิกลงคะแนนใน มาตรา 24 /1 ในส่วนคณะกรรมาธิการเพิ่มเติมเข้ามาใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับสูตรหาร 500 จากนั้นนายพรเพชร ได้แจ้งว่ามีองค์ประชุม 367 คน ถือว่าครบองค์ประชุม (ปกติ 365 เสียง)

ด้านนายจุลพันธ์ กล่าวว่าก่อนหน้านี้มีสมาชิกทั้งส.ส. และส.ว.บางส่วนเป็นห่วงว่ามีการกดบัตรแทนกัน จึงขอให้ใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 120 ขอเสนอให้นับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ เพราะมีเสียงเกินมาเพียงเล็กน้อย จึงอยากให้ตรวจสอบอีกครั้ง ยืนยันว่า พวกตนไม่ได้เสนอให้นับพร่ำเพรื่อ แต่ถือเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกที่จะเสนอ ซึ่งก็มีสมาชิกยกมือรับรอง

จากนั้นได้ตั้งคณะกรรมการนับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อจากตัวแทนของแต่ละฝ่าย และเริ่มให้สมาชิกขานชื่อตามลำดับจนกระทั่ง ต่อมาเวลา 15.58 น. หลังมีการตรวจสอบองค์ประชุมแบบขานชื่อนานกว่า 2 ชั่วโมง ผลปรากฏว่า มีสมาชิกรัฐสภามาร่วมประชุม 403 คน จากทั้งหมด 727 คน

จากนั้นที่ประชุมลงมติว่าเห็นด้วยที่จะให้มีการเพิ่มมาตรา 24/1 หรือไม่ หลังจากรอผลการนับคะแนนพักใหญ่ นายพรเพชร ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า “ผลการลงคะแนนไม่ครบนะครับ ดังนั้นผมขอปิดการประชุม” พร้อมกดสัญญาณปิดประชุมเมื่อเวลา 16.15 น. ท่ามกลางมึนงงของสมาชิกรัฐสภาที่เข้าร่วมประชุม

เมื่อผลออกมาแบบนี้ ทำให้เป็นไปตามคาดหมาย นั่นคือ ทำให้ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ที่ใช้สูตรการ 500 ต้องตกไป เนื่องจากเกินกำหนด 180 วันต้องกลับไปใช้ร่างเดิมของรัฐบาลที่ใช้วิธีหาร 100 และแม้ว่าจะครบกำหนดในวันที่ 15 สิงหาคม ก็ตาม แต่ในระยะเวลาที่เหลือไม่มีกำหนดการประชุมร่วมรัฐสภาอีกแล้ว

แต่เมื่อผลออกมาอย่างที่เห็น มันก็ยิ่งตอกย้ำให้เห็นภาพความเป็น “จำเลย” หรือความเป็น “ผู้ร้าย” ของอีกฝ่าย ซึ่งก็ต้องพุ่งเป้าไปที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คนที่ปรากฏในรายงานข่าวที่ออกมาตรงกันว่า เป็นคน “ออกใบสั่ง” ให้ล่มการประชุมรัฐสภาดังกล่าว รวมไปถึงแผนการ “ฮั้ว” กับพรรคเพื่อไทย ในเครือข่ายของ นายทักษิณ ชินวัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ดีลลับ” เรื่อง “นายกฯส้มหล่น” หากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เจออุบัติเหตุเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคมนี้

หลายคนมองว่าเกมนี้ฝ่ายที่ได้ประโยชน์มีเพียงแค่พรรคเพื่อไทยที่รับไปเต็มๆ เพราะเป็นไปตามความต้องการ ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ มีแต่เสียหาย เพราะแม้ว่าหากข่าวดีลลับเป็นจริงก็ตาม ผลที่ตามมาอาจไม่เป็นตามที่คาดก็ได้ เนื่องจากยังมีองค์ประกอบ และปัจจัยหลายอย่างที่เป็นตัวแปร แต่สำหรับภาพลักษณ์ทางการเมือง ทั้งเฉพาะหน้าและต่อเนื่องไปถึงการเลือกตั้งพรรคพลังประชารัฐไม่มีภาพบวกเลยแม้แต่น้อย อีกทั้งหากใช้วิธีหารร้อยก็ไม่มีอะไรชัดเจนว่าพรรคนี้จะได้ประโยชน์หากเทียบกับพรรคเพื่อไทย

เมื่อวกกลับเปรียบเทียบความเป็น “พระเอก” กับ “ผู้ร้าย” กันอีกรอบ ก็ต้องบอกว่างานนี้ พรรคภูมิใจไทยของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รวมไปถึงพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ เช่น ประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา ล้วนมีภาพลักษณ์ที่เหนือ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพรรคพลังประชารัฐอย่างชัดเจน เพราะแม้จะรู้ว่าหากองค์ประชุมครบ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในการโหวตวาระ 3 สามอยู่ดี แต่อย่างน้อยการแสดงท่าทีร่วมประชุมยืนยันเจตนารมณ์ยืนยันในหลักการเดิมก็ถือว่าได้แต้มเหนือกว่า !!



กำลังโหลดความคิดเห็น