xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯ ให้รอฟังศาล รธน.ชี้ขาดกรณีแก้ รธน. อย่าคิดไปไกลว่าจะคว่ำ รับกังวลเหตุรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา (แฟ้มภาพ)
“สมชาย” เผย ส.ว.รอฟังศาล รธน.วินิจฉัยชี้ขาดกรณีแก้ รธน. บอกอย่าเพิ่งฟันธงคิดไปไกล ส.ว.จะคว่ำ รับกังวลความรุนแรง แต่ต้องใช้เหตุผล

วันนี้ (4 มี.ค.) นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ฐานะผู้ร่วมยื่นคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยอำนาจของรัฐสภาต่อการแก้รัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญ นัดชี้ขาดเรื่องดังกล่าวในวันที่ 11 มีนาคม ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันครบกำหนด 15 วัน เพื่อโหวตร่างรัฐธรรมนูญวาระ 3 เพียง 1 วัน ว่าเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการพิจารณาของรัฐสภาที่จะลงมติวาระ 3 เพราะศาลไม่ทราบว่ารัฐสภาจะนัดลงมติในวันใด อย่างไรก็ตาม คาดว่าการนัดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ​จะเกิดขึ้นได้ในช่วง 17-18 มีนาคม เพราะมีร่างกฎหมายสำคัญที่รอพิจารณา

นายสมชายกล่าวด้วยว่า ไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ทั้งทำได้หรือไม่ได้ ตนพร้อมน้อมรับคำวินิจฉัย ส่วนกรณีที่มีผู้ระบุว่าการนัดลงมติวาระ 3 ของร่างรัฐธรรมนูญนั้นยังทำได้ แม้คำวินิจฉัยของคำร้องจะตัดสินว่าทำไม่ได้ เพราะร่างรัฐธรรมนูญ มี 2 ประเด็น คือ การแก้ไขมาตรา 256 ส่วนตัวมองว่าไม่สามารถลงมติใดๆ ได้อีก เพราะวาระ 3 คือการเห็นชอบทั้งฉบับ

เมื่อถามถึงกรณีที่ ส.ว.ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญวาระ เพราะประเด็น 38 มาตราซึ่งเกี่ยวกับพระราชอำนาจ ไม่ถูกบัญญัติไว้ นายสมชายกล่าวว่า ตนไม่ทราบว่า ส.ว.จะพิจารณาอย่างไร เพราะเป็นเอกสิทธิ์ ส่วนตนนั้นไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรับธรรมนูญทั้งฉบับ และเมื่อประเด็นที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจไม่ถูกบัญญัตติไว้ ทำให้เกิดความกังวลต่อการไร้กรอบการทำเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่มีบทแก้ไข เปลี่ยนมาตราที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ ที่บัญญัติไว้นอกจากหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์

“อย่าคิดไปไกลว่า ส.ว.จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพราะต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ วันที่ 11 มีนาคม หากชี้ว่าทำไม่ได้ ไม่ต้องโหวต หากชี้ว่าทำได้ ส.ว.250 คน ต้องตัดสินใจอีกครั้ง ดังนั้นขอให้ไปทีละขั้นตอน” นายสมชายกล่าว

เมื่อถามว่ากังวลต่อกระแสมวลชนกดดันและอาจมีความรุนแรงเกิดขึ้นหรือไม่ นายสมชายกล่าวว่า ส่วนตัวกังวลที่จะมีความรุนแรง แต่เรื่องดังกล่าวควรใช้เหตุผล รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 แก้ไขได้ แต่ต้องแก้รายมาตราในประเด็นที่มีปัญหา หรือมีความไม่สมบูรณ์ เช่น หน้าที่ สิทธิ เสรีภาพ เป็นต้น และนำไปสู่การทำประชามติ อย่างไรก็ดี หากการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ทำไม่ได้ สมาชิกรัฐสามารถยังมีสิทธิเสนอญัตติขอแก้ไขเป็นรายมาตราต่อรัฐสภาได้ โดยสามารถทำได้ทันทีและรวดเร็ว


กำลังโหลดความคิดเห็น