xs
xsm
sm
md
lg

อนาคตใหม่-ประชาธิปไตยแบบ 2 เกลอ !!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เมืองไทย 360 องศา

แน่นอนว่าปัญหาภายในพรรคอนาคตใหม่เวลานี้เริ่มได้รับความสนใจจากภายนอก หลังจากก่อนหน้านี้เมื่อครั้งที่มีการโหวตพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหมไปเป็นหน่วยงานบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ.2562 ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ โดยผลการโหวตเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา มี ส.ส.ลงมติให้ผ่านจำนวน 374 คน ไม่เห็นด้วย 70 คน ซึ่งในจำนวนนี้เป็น ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ทั้งหมด งดออกเสียง 2 คน หนึ่งในสองคนที่งดออกเสียงคือ น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคอนาคตใหม่

ขณะที่ฝ่ายที่เห็นชอบหรือสนับสนุนร่างพระราชกำหนดดังกล่าวในจำนวน 374 คนนั้น น่าสังเกตก็คือมี ส.ส.จากพรรคอนาคตใหม่โหวตสวนกับมติพรรคจำนวนถึง 3 คน คือ น.ส.กวินนาถ ตาคีร์ ส.ส.ชลบุรี นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี และ พ.ต.ท.ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี ดังนั้นกล่าวโดยสรุปก็คือมี ส.ส.พรรคอนาคตใหม่สวนมติพรรคถึง 4 คน (รวม น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ ที่งดออกเสียง)

ถัดมาจากนั้นล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมานี่เอง มีการโหวตรับหลักการวาระแรกร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ก็ปรากฏวามี ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ 1 คนที่โหวตสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ก็คือ น.ส.กวินนาถ ตาคีร์ ส.ส.ชลบุรี นั่นเอง ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้นในพรรคอนาคตใหม่ โดยเฉพาะกับการที่มีสมาชิกพรรคมีการโหวตสวนกับมติพรรคดังกล่าว

อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาจากความเคลื่อนไหวภายในพรรคก็ทำให้ได้เห็นร่องรอย “ปริร้าว” ออกมาให้เห็น และเมื่อพิจารณาจากการลงมติดังกล่าวมันก็เหมือนกับว่า “มีที่มาที่ไป” ไม่ใช่เป็นแค่ความบังเอิญ หรือความผิดพลาดทางเทคนิคในแบบที่อ้างว่า “เข้าใจคลาดเคลื่อน” อะไรนั่น

เริ่มจากการโพสต์ข้อความในเฟสบุคส์ของ จารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี ที่เป็นหนึ่งในสาม ส.ส.ของพรรคอนาคตใหม่ที่โหวตสวนกับมติพรรค นั่นคือสนับนุนร่างพระราชกำหนดโอนอัตรากำลงพลฯข้างต้น โดยเขาระบายว่า “ที่ผ่านมามีการปรับความเข้าใจกันครึ่งชั่วโมงตกลงกันไม่ได้เรื่อง อบจ.จันทบุรี ผมต้องการคามสามัคคีของพี่น้องอนาคตใหม่จันทบุรี คืออนาคตใหม่จันทบุรีไม่ส่งสมัคร อบจ. แต่หัวหน้าต้องการสร้างหลักการของการเมืองใหม่ยืนยันต้องส่งก็ไม่ว่ากัน เพราะฉะนั้นวันนี้ในการยกมือโหวต พ.ร.ก.ผมคิดอย่างไรผมขอทำตามความคิดของผมนะ หัวหน้ามาขอร้องให้ทำตามมติพรรคซึ่งไม่ตรงกับความคิดผม ผมคงไม่ฟังหัวหน้า เพราะผมขอร้องเรื่อง อบจ.จันทบุรีพูดให้เหตุผลปากเปียกปากแฉะหัวหน้าก็ไม่ฟังผม”

“อีกเรื่องคือกรรมาธิการผมขอไปอยู่คณะทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ผมจะไปทำเรืองช้างเรื่องที่ดินซึ่งเป็นปัญหาของพี่น้องชาวจันทบุรีของผม คุยกับอาจารย์ปิยบุตรไม่รู้กี่ครั้งท่านก็ไม่ยอมผม หักผม ยอมรับว่าอึกอัดครับ เรียนความในใจให้พี่น้องประชาชนทราบครับ”

นั่นเป็นข้อความที่ระบายความรู้สึกและอธิบายถึงสาเหตุและความอัดอั้นของ จารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี พรรคอนาคตใหม่ว่าทำไมถึงได้โหวตสวนมติพรรค ก็ต้องบอกว่า “ชัดเจน” ไม่ต้องอธิบายอะไรกันมาก ประกอบกับเมื่อพิจารณาจากคำพูดของ ส.ส.อีกบางคน เช่น น.ส.ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ ที่งดออกเสียง ก็ได้แสดงความน้อยอกน้อยใจออกมาที่ระบุว่าผู้บริหารพรรคคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคไม่เข้าใจเธอ

ขณะที่ในรายของ น.ส.กวินนาถ ตาคีร์ ส.ส.ชลบุรี ที่ดูท่าจะโดนหนักกว่าใคร เพราะจากการเปิดเผยของ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ที่ว่ากันว่าเป็นผู้รับผิดชอบในการบริหารภายในพรรคก็สั่ง “แบน” ตามมาทันที โดยสั่งห้ามร่วมกิจกรรมพรรคเป็นการชั่วคราวระหว่างการสอบสวนด้านจริยธรรม จนทำให้ น.ส.กวินนาถ แถลงข่าวแจกแจงพร้อมกับตั้งคำถามในทำนองว่าทำเพื่อประชาชนผิดตรงไหน และร่างพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลฯนั้นก็ถือว่าเป็นเรื่อง “ละเอียดอ่อน”

อย่างไรก็ดีเรื่องยังไม่จบแค่นั้น เพราะล่าสุด นิรามาน สุไลมาน ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค ที่ไม่ลงมติในร่างพระราชกำหนดดังกล่าวก็ร่อนหนังสือขอลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคตามมาอีก ก็ถือว่าเป็นการ “โยนระเบิด”เข้าใส่พรรคอีกโครมใหญ่

แน่นอนว่าท่าทีและความเคลื่อนไหวแบบนี้พวกเขาก็ยอมต้องตกเป็นเหยื่ออารมณ์ของบรรดา “ติ่ง” ของ “พ่อฟ้า” กันแบบจมดินไม่ต้องสงสัย แต่ขณะเดียวกันหากพิจารณากันในทุกคำพูด และเหตุผลระหว่างบรรทัดในการร่อนหนังสือขอลาออกจากคณะกรรมการบริหารพรรค แม้ว่าจะมีการมองกันว่าอาจเป็นการ “เอาตัวรอด” หากพรรคนี้เกิดอะไรขึ้นในภายหลังก็ตาม แต่มันก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า การบริหารภายในพรรคอนาคตใหม่ที่ผ่านมาล้วนอยู่ภายใต้การตัดสินใจของคนเพียงไม่กี่คนนั่นคือ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ถูกมองว่าเป็น “เจ้าของพรรค” และ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรค ซึ่งก็เป็น “เพื่อนเจ้าของพรรค”

เพราะเมื่อย้อนกลับไปดูข่าวคราวที่เกิดขึ้นกับพรรคนี้มาตลอดมีเสียงโวยวาย มีสมาชิกที่ลาออก หรือการตั้งเวทีดีเบทเพื่อค้นหาตัวแทนพรรคเพื่อลงสมัครเลือกตั้งในเวทีท้องถิ่นก็มีการแฉโพยกันว่า “จัดฉากสร้างภาพหลอกลวง” ดังที่เกิดขึ้นที่เวทีนนทบุรี เมื่อหลายสัปดาห์ก่อน หรืออีกหลายกรณีที่มีลักษณะแบบเดียวกัน นั่นคือภาพของการ “รวบอำนาจ” ของ “สองเกลอ”คือ ธนาธร และ ปิยบุตร ขณะที่คนอื่นไม่มีบทบาทแต่อย่างใด

ดังนั้นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นทั้งหมดข้างต้น อีกด้านหนึ่งมันก็เหมือนกับเปิดโปงแนวทางการบริหาร และตัวตนของบางคนที่อ้างในเรื่อง “ประชาธิปไตย” สิทธิความเท่าเทียมอยู่ตลอดเวลา หรือใช้เป็นเครื่องมือในการกล่าวหาโจมตีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง เพราะเอาเข้าจริงแล้วมันก็ย้อนกลับมาเข้าหาตัวเองและถูกตั้งคำถามว่าใครกันแน่ที่เป็น “เผด็จการรวบอำนาจ” ซึ่งหลายอย่างมันก็เริ่มฟ้องด้วยตัวของมันเอง !!


กำลังโหลดความคิดเห็น