xs
xsm
sm
md
lg

แนะรัฐควบคุม “บุหรี่ไฟฟ้า” ให้ถูกกฎหมาย ตีกรอบสินค้าได้มาตรฐาน-ปลอดภัย

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“ราชบัณฑิตฯ” แนะรัฐควบคุม “บุหรี่ไฟฟ้า” ให้ถูกกฎหมาย เพื่อให้สินค้าได้มาตรฐาน-ปลอดภัย ระบุ สธ.อเมริกายังไม่ฟันธง บุหรี่ไฟฟ้าสาเหตุปอดอักเสบรุนแรง ชี้ต้นตอมาจากการดัดแปลงน้ำยา-มีสาร THC ขณะที่ “เพจหมอ” ยกตัวอย่าง “เมืองผู้ดี” ไม่พบปัญหา เหตุ รบ.ควบคุมได้ตาม กม. เตือน “สายควันไทย” อย่าใช้สินค้าไม่ได้มาตรฐาน-ผิดวัตถุประสงค์

จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่า สาธารณสุขสหรัฐอเมริกา สรุปสาเหตุกรณีผู้เสียชีวิตจากอาการเกี่ยวกับปอด ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเชื่อมโยงกับการใช้บุหรี่ไฟฟ้า และออกคำเตือนว่า แม้บุหรี่ไฟฟ้าจะอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน แต่การใช้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือนำไปผสมกับสารอื่นๆ เพิ่มเติมอาจได้รับอันตรายจากสารปนเปื้อนได้

ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.สมชัย บวรกิตติ ราชบัณฑิตสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสภา กล่าวว่า เท่าที่ติดตามข่าวจากสื่อต่างประเทศพบว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกา ออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า กำลังร่วมมือกับ สำนักงานอาหารและยาสหรัฐอเมริกา (USFDA : อย.สหรัฐฯ) และหน่วยงานด้านสุขภาพของรัฐบาลกลาง และรัฐบาลของแต่ละรัฐ เพื่อหาสาเหตุของอาการเจ็บป่วยก่อนที่จะมีข้อสรุปใดๆ จากตัวอย่างบุหรี่ไฟฟ้าที่เก็บมาตรวจสอบ พบว่าส่วนมากมีสารเตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol: THC) หรือสารที่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาทที่พบในน้ำมันกัญชา และวิตามินอี ซึ่งใช้เป็นสารประกอบเพื่อทำละลายจำนวนมาก ทำให้เกิดอาการข้างเคียงหลายอย่าง ที่สำคัญคืออาการปอดอักเสบถึงเสียชีวิต

“แต่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้า หรือวิตามินอีเป็นสาเหตุที่ทำให้ปอดอักเสบ แต่มีแนวโน้มว่าเกี่ยวข้องกับการสัมผัสสารเคมี ซึ่งอาการเหล่านี้ไม่เกิดในผู้ใช้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐานจากโรงงาน” ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.สมชัย ระบุ

ศ.เกียรติคุณ ดร. นพ.สมชัย กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรคและ อย.สหรัฐฯ จึงได้ออกคำเตือนผู้บริโภคให้ระวังการซื้อผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าจากร้านค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และให้เว้นการใช้น้ำมัน THC หรือการดัดแปลงเพิ่มสารใดๆ ลงในผลิตภัณฑ์ และแนะนำให้ผู้บริโภคส่งรายงานปัญหาทางสุขภาพเกี่ยวกับยาสูบหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือพบปัญหาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ได้ที่ช่องทางออนไลน์ ที่น่าเป็นห่วงคือพฤติกรรมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทยที่ถือว่าผิดกฎหมาย ส่งผลให้การซื้อขายบุหรี่ไฟฟ้าและน้ำยานิโคตินเหลวมาจากช่องทางออนไลน์และตลาดมืดทั้งสิ้น ซึ่งอันตรายมาก เพราะไม่มีการควบคุมคุณภาพ และไม่มีทางรู้ได้เลยว่ามีการปนเปื้อนหรือผสมสารอันตรายใดๆ ลงไปในน้ำยานิโคตินบ้าง

“รัฐบาลจึงควรควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย จะได้หาแนวทางในการควบคุมสินค้าให้ปลอดภัยได้มาตรฐาน และปิดช่องทางซื้อขายที่ผิดกฎหมายได้ ที่สำคัญอยากฝากเตือนไปยังผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าว่าอยากให้ใช้เพื่อการลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ อย่าดัดแปลงหรือปรุงแต่งสารใดๆ ลงไปเพิ่มเติม เพราะอาจจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้” ศ. เกียรติคุณ ดร. นพ.สมชัย กล่าวทิ้งท้าย

อีกด้านแฟนเพจเฟซบุ๊ก “อายุรศาสตร์ง่ายนิดเดียว” เพจให้ความรู้ทางการแพทย์ที่มีผู้ติดตามกว่า 1.4 แสนคน ได้โพสต์ข้อมูลล่าสุดที่มีการตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ New England Journal of Medicine ฉบับวันที่ 6 ก.ย.2562 ว่าผู้ที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ป่วยทั้ง 53 คนนี้มีการผสมTHC ถึง 80% และมีอีก 7% ที่ใช้บุหรี่เผาไหม้ร่วมด้วย ซึ่งผู้วิจัยตั้งข้อสงสัยว่าน่าจะเกิดจากตัวทำละลาย หรือน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้ไม่ได้มาตรฐาน มีการดัดแปลงและผสมเอง (THC) มากที่สุด รองมาคืออาจจะเกิดจากอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าและสารสกัดจากกัญชาให้เหมาะสมน่าจะยังมีปัญหา แน่นอนว่าอุบัติการณ์โรคปอดอักเสบในผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่พบในสหรัฐอเมริกาสร้างความตื่นตะหนกไปทั่วโลก อย่างไรก็ตาม สื่ออังกฤษรายงานคำสัมภาษณ์ของนายมาร์ติน ดอคเรล ยืนยันว่าผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในอังกฤษยังคงปลอดภัยดี เพราะบุหรี่ไฟฟ้าทั้งหมดที่จำหน่ายในประเทศอังกฤษได้รับการควบคุมเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยอย่างเข้มงวดโดยกรมควบคุมผลิตภัณฑ์ยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ (MHRA) ต่างจากในสหรัฐอเมริกาที่ผู้ใช้อาจหาซื้อผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมายได้

“ปัจจุบันมีการศึกษาว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยทำให้ผู้สูบบุหรี่ลดการสูบบุหรี่ที่มีการเผาไหม้ได้ ช่วยเลิกบุหรี่ได้ระดับหนึ่ง หรือช่วยลดความเสี่ยงจากการสูบบุหรี่เผาไหม้ได้ ซึ่งผลวิจัยส่วนมากได้มาจากประเทศอังกฤษที่มีการควบคุมการใช้บุหรี่อย่างเป็นระบบ แม้ผลการศึกษาเหล่านี้ระบุได้ว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษอันตรายน้อยกว่า แต่ก็ยังมีสารอันตราย ดังนั้น ในประเทศที่อนุญาตให้ใช้จะมีวิธีและคำแนะนำที่ชัดเจนสำหรับผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า แต่ในประเทศไทยผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังไม่ถูกกฎหมาย และไม่มีคำแนะนำและคำรับรองเรื่องคุณภาพและการใช้งาน ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าควรต้องระมัดระวังและรอบคอบในการใช้มากขึ้น” เพจ “อายุรศาสตร์ง่ายนิดเดียว” ระบุ.
กำลังโหลดความคิดเห็น