สภากาชาดไทย แจ้ง นายกฯ ขอถอน ร่างพรฎ.กำหนดหน่วยงานรัฐตามพรบ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 คุ้มครองจนท.กาชาด ออกจากคณะกรรมการกฤษฎีกา หลังหารือเตรียมจัดทำข้อบังคับฯ ว่าด้วย ความรับผิดทางละเมิดของ จนท.สภากาชาดไทย แทน หวั่นกระทบต่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน
วันนี้ (8 ก.ย.) มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย มีหนังสือที่ กช. 3368/2562 ถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอถอน เรื่อง ขอตราพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ออกจากสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ที่จะบรรจุเข้าเป็นวาระครม.
ทั้งนี้ ภายหลังได้ประชุมร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ และผู้ทรงคุณวุฒิ ได้ข้อสรุปว่า สภากาชาดไทย จะดำเนินการจัดทำข้อบังคับสภากาชาดไทย ว่าด้วย ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของสภากาชาดไทย พ.ศ...... แทนการขอตราพระราชกฤษฎีกา
โดยเมื่อวันที่ 3 ก.ย. คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ถอนร่างพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามที่สภากาชาดไทยเสนอ
อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษ แจ้งความเห็นประกอบมติ ครม.รับทราบถึงการถอนพระราชกฤษฎีกาฯ ว่า โดยที่พระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดไทย พ.ศ.2461 กำหนดให้สภากาชาดไทยมีฐานะเป็นนิติบุคคล ดำเนินการอันเป็นสาธารณกุศลเพื่อมนุษยธรรมตามหลักการของกาชาดสากล
การตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สภากาชาดไทยเป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ฯ อาจส่งผลให้สภากาชาดไทยต้องปฏิบัติตามกฎหมายอีกหลายฉบับ ซึ่งจะกระทบต่อความคล่องตัวในการดำเนินงานของสภากาชาดไทย
"ในการนี้ หากสภากาชาดไทย ประสงค์จะให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ในความรับผิดทางละเมิดที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ก็สามารถตราข้อบังคับสภากาชาดไทยว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ ในการให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของสภากาชาดไทยได้"
ดังนั้น เมื่อสภากาชาดไทยได้จัดทำข้อบังคับสภากาชาดไทยว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ของสภากาชาดไทย พ.ศ. .. แล้วจึงไม่จำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว
ทั้งนี้ มติครม. เมื่อ 19 มี.ค. 2562 มีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาฯและให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา เป็นฉบับเดียวกับร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 4 ฉบับ
สาระสำคัญเป็นการกำหนดให้สภากาชาดไทยเป็นหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 เพื่อให้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสภากาชาดไทยที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติดังกล่าว
"ทำให้เจ้าหน้าที่ของสภากาชาดไทย ซึ่งมีความเสี่ยงส่อการปฏิบติหน้าที่ในการให้บริการผู้ป่วยและประชาชนทั่วไปอาจเกิดปัญหาการละเมิดขึ้นได้ ทั้งที่ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และมิได้ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง อันอาจเป็นเหตุให้ขาดความมั่นใจ ขาดขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน ในการนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่และลูกจ้างของสภากาชาดไทยทุกสำนักงาน ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ โดยสุจริต อุทิศตนแก่องค์กรเสมอมา ได้รับความคุ้มครอง"
ซึ่งปัจจุบันได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติดังกล่าวแล้ว จำนวน 60 แห่ง อยู่ระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา 4 แห่ง ได้แก่ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ.