xs
xsm
sm
md
lg

ได้ฤกษ์งบฯเมืองหลวงปี 63กว่า 8.3หมื่นล้าน "บิ๊กวิน" นำถกสภาฯพุธนี้ "สก.แต่งตั้ง"ชงศึกษากทม.เก็บค่าธรรมเนียมผู้พักโรงแรมมูลค่า 2.2 ล้านล้าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


"บิ๊กวิน" จ่อชงร่างข้อบัญญัติงบฯรายจ่ายปี 63 กว่า 83,398.92 ล้าน เข้าสภา กทม.พุธนี้ พร้อมประมาณการรายรับจากการจัดภาษีกว่า 83,674.11 ล้าน ด้าน "สภากทม."นัดถกญัตติสมาชิกเสนอศึกษาจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้พักในโรงแรมและภาษีอื่น อ้างท้องถิ่นระดับอบจ.มีกฎหมายให้จัดเก็บ ถึงคิวกทม.แล้ว ยกตัวเลขรายได้ห้องพักโรงแรมปี 60-61 สูงกว่า 2 ล้านล้านบาท เหมาะสมเก็บภาษีเป็นรายได้กทม.

วันนี้(10 มิ.ย.) มีรายงานจากศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ว่า ร.ต.อ.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภากรุงเทพมหานคร (กทม.) มีคำสั่งเชิญประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุม วิสามัญ สมัยแรก (ครั้งที่ 2) ประจำปีพุทธศักราช 2562 ในวันพุธที่ 12 มิถุนายน 2562 เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุมสภากทม. ศาลาว่าการกทม.

ทั้งนี้ พบว่า มีวาระที่น่าสนใจ เช่น พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่ากทม. ในฐานะผู้บริหาร กทม. ขอเสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2563 ทั้งจำแนกเป็น

ประมาณการรายรับ จำนวน 83,674.11 ล้านบาท ประกอบด้วย ก. ประมาณการรายรับของกทม. 83,000 ล้านบาท ข. ประมาณการรายรับของการพาณิชย์ของกทม.674.11 ล้านบาท

ประมาณการรายจ่าย83,398.92 ล้านบาทประกอบด้วย ก. ประมาณการรายจ่ายของกทม. 83,000 ล้านบาท ข. ประมาณการรายจ่ายของการพาณิชย์ของกทม. 398.92 ล้านบาท

สำหรับหน่วยงานที่ขอจัดสรรงบประมาณมากที่สุด 1. สำนักโยธา 9,434,858,000 บาท 2. สำนักการระบายน้ำ 8,807,832,000 บาท 3. สำนักสิ่งแวดล้อม 7,524,912,000 บาท 4. สำนักการจราจรและขนส่ง 4,319,471,000 บาท 5. สำนักการแพทย์ 3,975,244,000 บาท 6. สำนักการคลัง 3,316,736,000 บาท 7. มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 3,167,993,000 บาท 8. สำนักอนามัย 2,447,195,000 บาท 9. สำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว 1,399,28,000 บาท 10. สำนักการศึกษา 1,219,886,000 บาท

11.สำนักปลัด 965,891,000 บาท 12. สำนักยุทธศาสตร์และประเมินผล 732,308,000 บาท 13. สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย 539,540,000 บาท 14. สำนักพัฒนาสังคม 418,339,000 บาท 15. สำนักวางผังและพัฒนาเมือง 280,447,000 บาท 16. สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร 199,359,000 บาท 17. สำนักเทศกิจ 171,025,000 บาท 18. สำนักงบประมาณ 103,406,000 บาท 19. สำนักเลขานุการสภากทม. 81,571,000 บาท และ 20. สำนักงานเลขานุการผู้ว่าฯกทม. 70,920,000 บาท

ส่วนสำนักงานเขต ที่ขอจัดสรรงบฯ มากที่สุด 10 อันดับแรก 1.สำนักงานเขตหนองจอก 589,363,000 บาท 2.เขตบางขุนเทียน 575,420,000 บาท 3.เขตลาดกระบัง 567,225,000 บาท 4.เขตจตุจักร 534,407,000 บาท 5.เขตประเวศ 524,735,000 บาท 6. เขตมีนบุรี 511,140,000 บาท 7.เขตบางแค 476,414,000 บาท 8.เขตคลองสามวา 452,357,000 บาท 9. เขตดอนเมือง 421,835,000 บาท และเขตสายไหม 418,022,000 บาท ส่วนเขตสัมพันธวงศ์ ขอจัดสรรงบฯน้อยที่สุด จำนวน 208,527,000 บาท

นอกจากนี้ ยังมีวาระญัตติของนายนิรันดร ประดิษฐกุล สมาชิกสภากทม. ที่เสนอขอให้สภากทม. ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้พักในโรงแรมและภาษีอื่นที่พึงจัดเก็บตามกฎหมาย

โดยเสนอญัตติการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้พักในโรงแรมและภาษีอื่นที่พึงจัดเก็บตามกฎหมาย เนื่องจาก กทม.เป็นเมืองที่ นักท่องเที่ยวต้องการมาเยือนและพักแรมมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของโลก จากสถิติของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวและพักแรมในกทม.ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ปี 2560 ประมาณ 63 ล้านคน มีรายได้จำนวน 947,284.30 ล้านบาท และปี 2561 ประมาณ 6 ล้านคน มีรายได้จำนวน 1,051,118.51 ล้านบาท มีจำนวนผู้เข้าพักโรงแรม ปี 2560 จำนวน 33,950,292 คน ปี 2561 จำนวน 35,267,785 คน

"ซึ่งรายได้ดังกล่าวไม่ได้กลับเข้ามาเป็นรายได้ให้กับกทม. เนื่องจากกทม.ยังไม่สามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมที่พักโรงแรมได้ ในขณะที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ได้มีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้พักโรงแรม ตามมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2560"

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 มาตรา 25 กำหนดให้กทม. อาจมีรายได้จากภาษีอากร ค่าธรรมเนียม และเงินรายได้ต่าง ๆ โดยขณะนี้กทม. อยู่ระหว่างการเสนอร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บรายได้ของกทม.

ดังนั้น จึงเห็นควรให้สภากทม.ตั้งคณะกรรมการวิสามัญศึกษาการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้พักในโรงแรมและภาษีอื่น ที่พึงจัดเก็บตามกฎหมาย.


กำลังโหลดความคิดเห็น