xs
xsm
sm
md
lg

ส.พระปกเกล้า จี้ตื่นตัววิกฤตสิ่งแวดล้อม เปรียบส.ส.สวมชุดคือสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เลขาพระปกเกล้า ปลุกคนไทยตื่นตัววิกฤตสิ่งแวดล้อม เปรียบส.ส.สวมชุดเข้าสภาฯ เป็นสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง แนะทุกฝ่ายต้องรู้เท่าทัน ด้านนักศึกษาเสนอผลงาน “รักษ์โลก” แก้ปัญหาเพื่ออยู่ร่วมกันอย่างสันติ

วันนี้ (6มิ.ย.) คณะนักศึกษาหลักสูตรการเสริมสร้างสังคมสันติสุข รุ่นที่ 9 สถาบันพระปกเกล้า ได้จัดงานนำเสนอผลงานวิชาการสู่เวทีสาธารณะ“รักษ์โลก : คุณภาพชีวิตบนวิกฤติสิ่งแวดล้อม”เพื่อเป็นการขับเคลื่อนผลการศึกษาประเด็นความขัดแย้งอันเกิดจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไปสู่สังคมสันติสุขและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งแบ่งการศึกษาออกเป็น 3 กรณีศึกษา ได้แก่ 1. การจัดการความขัดแย้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ในชุมชน กรณีศึกษา ตำบลโคกสะอาด อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ 2.การจัดการความขัดแย้งเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข กรณีศึกษา การรุกล้าลำน้ำสาธารณะของชุมชนริมคลอง กรุงเทพมหานคร และ3.แนวทางการแก้ไขปัญหาการทำการประมงในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา จังหวัดสตูล นอกจากนี้ในงานยังมีการจัดนิทรรศการของทั้ง 3 กรณีศึกษาและนิทรรศการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยอีกด้วย ซึ่งนายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า เปิดงานพร้อมกล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันที่มีความแตกต่างทางความคิด รสนิยม อย่างในสภาฯมีความท้าทายเยอะ คนอยากแต่งชุดพื้นเมืองเข้าสภาฯ อยากแต่งตามเพศสภาพสามารถทำได้หรือไม่ นี่คือความเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมอีกอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกันถ้ามองสิ่งแวดล้อมในเชิงทั่วไปคือสิ่งแวดล้อมโดยธรรมชาติ ถามว่าวันนี้วิกฤตหรือยังซึ่งวิกฤตมานานแล้ว แต่มนุษย์โดยเฉพาะสังคมไทยไม่ค่อยรู้สึกว่าวิกฤต จนกว่าจะถึงตัว คนไทยไม่เคยเตรียมการ แต่ถนัดแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เก่ง แต่ระยะยาวไม่สามารถทำสำเร็จ วิกฤตสิ่งแวดล้อมของสังคมไทยเกิดจากยุคดิสรัปทีฟ (Disruptive) คือบริบทของสังคมการเมือง ที่สังคมได้รับผลกระทบจากสิ่งใหม่ ก่อให้เกิดความท้าทาย ซึ่งโครงสร้างกลไกการบริหารจัดการเดิม ไม่สามารถจัดการได้ ทำให้ภาคส่วนต่างๆที่ตามเทคโนโลยีไม่ทันจะได้รับผลกระทบ ตรงนี้ก่อปัญหาตามมาคืออันตรายของช่องว่างของคนในสังคม ถ้าแตกต่างมากเกินไปจะทำให้คนกลุ่มหนึ่งได้ประโยชน์ อีกกลุ่มสูญเสียโอกาส ดังนั้นสิ่งสำคัญคือทำให้คนรู้เท่าทัน





กำลังโหลดความคิดเห็น