xs
xsm
sm
md
lg

"เจิมศักดิ์" ชี้ "ชวน" ไม่ต้องหนุน "บิ๊กตู่" ตอบแทนนั่งปธ.สภาฯ แนะปชป.ฝ่ายค้านอิสระ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อดีตสว. ร่อนจม.ถึง "ชวน" อย่าเรรวนหนุน "บิ๊กตู่" นั่งนายกฯ ไม่จำเป็นต้องตอบแทนคุณ เหตุพปชร.ไร้ทางเลือกโหวตให้นั่งปธ.สภาฯ ชี้บุญคุณแลกผลประโยชน์ในสภาไม่ได้ แนะปชป.วางตัวเป็นฝ่ายค้านอิสระ ไม่เอารมต.ในรบ.ซ่อนเงื่อน เชื่อไม่สูญพันธ์ุ

วันนี้ (2มิ.ย.) นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา(สว.) ได้เขียนจดหมายถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ว่า วันที่5 มิ.ย.ประเทศเราจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งตนไม่มีความวิตกกังวลแต่อย่างใด เพราะถึงอย่างไรเราก็จะได้รัฐบาลที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอยู่ดี หากพรรคประชาธิปัตย์ หรือพรรคภูมิใจไทยไม่ยกมือก็อาจจะมี คนของพรรคการเมืองอื่นๆ( งูเห่า )ยกมือสนับสนุน เพราะรัฐธรรมนูญก็ได้เปิดช่องให้ ส.ส.มีอิสระหลุดจากการควบคุมของมติพรรค แม้รัฐธรรมนูญจะระบุให้ผู้จะเป็นนายกฯ จะต้องได้เสียงข้างมากของ 2 สภารวมกัน แต่ก็ออกแบบให้ที่มาของ ส.ว.มาจากการคัดสรรของ คสช.ที่มีพล.อ.ประยุทธ์เป็นหัวหน้า คสช. เพื่อให้ ส.ว.มาเลือกพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไปจะมีความยากลำบากอยู่บ้าง ก็คือ ผู้ที่จะเป็นนายกฯ จะต้องได้คะแนนสนับสนุนเกินครึ่งหนึ่งของเฉพาะสภาผู้แทนฯด้วย คือ ต้องได้รับเสียงสนับสนุน 251 เสียงจากสภาผู้แทนฯ ก็เป็นที่คาดหมายกันว่า ส.ส.(งูเห่า) จากพรรคอื่นๆ คงจะมีมาเลือกพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯอยู่แล้ว หากคะแนนเสียงของพล.อ.ประยุทธ์ในสภาได้น้อยกว่า 251 คะแนน ก็ไม่ต้องกังวลอะไร คนอื่นที่ได้รับการเสนอชื่อแข่งขัน ก็คงจะไม่มีโอกาสจะได้คะแนนเกิน 375 เสียง ของ 2 สภารวมกัน เพราะจะไม่ได้เสียงสมาชิกวุฒิสภาที่พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้แต่งตั้ง

หากเกิดเหตุเลือกนายกฯ ในวันที่ 5 มิ.ย.ไม่ได้คนเป็นนายกฯ เพราะเสียงไม่พอ พล.อ.ประยุทธ์ก็เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป มีอำนาจเต็มปฏิบัติหน้าที่ได้เหมือนเป็นนายกฯในรัฐบาลปกติ แถมยังมีอำนาจตามมาตรา 44 ที่เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกด้วย และหากอนาคตมีปัญหาในเรื่องเสถียรภาพ พล.อ.ประยุทธ์ก็มีอำนาจยุบสภาตามมาตรา 44 หรือจะลาออกเพื่อให้คนอื่นเป็นนายกฯ ทั้งในบัญชีที่พรรคการเมืองเสนอชื่อหรือบุคคลนอกบัญชีก็ได้ เพราะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 60 ได้เตรียมช่องทางพิเศษให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกฯได้อยู่แล้ว และเวลานั้นการแสวงหารวบรวมพรรคอื่นมาร่วมรัฐบาลอาจจะกระทำได้ง่ายกว่าอีกด้วย

“ท่านชวนและพรรคประชาธิปัตย์ไม่จำเป็นต้องรวนเรไปสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ที่ได้เปรียบจากกฎกติกาตามรัฐธรรมนูญอย่างมากอยู่แล้ว การที่คุณชวนได้คะแนนสนับสนุนจาก พรรคพลังประชารัฐและพรรคแนวร่วมก็เพราะเขาไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ท่านสามารถทำหน้าที่เป็นกลางที่อิสระได้อย่างจริงจัง ไม่ต้องเอนเอียงไปในทางใด ซึ่งก็เชื่อว่าท่านก็คงเป็นเช่นนั้นอยู่แล้ว และสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์อีก 52 คน ก็ไม่จำเป็นต้องสับสน รวนเร ตอบแทนบุญคุณ และในความเป็นจริงบุญคุณที่ใช้ในระบบอุปถัมภ์ก็ไม่สมควรแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในสภาของประเทศที่ต้องคิดถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก”

ส่วนกลุ่มคนที่พยายามกดดัน ดุด่าประชาธิปัตย์หากไม่เข้าร่วมกับ พปชร. และสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ มองลึกลงไปเขาต้องการให้ประชาธิปัตย์เสริมเป็นฐานให้พล.อ.ประยุทธ์สืบทอดอำนาจเป็นนายกฯต่อ เขาให้น้ำหนักกับประโยชน์เฉพาะหน้าที่กลัวการสืบทอดอำนาจทุนของอีกฝ่ายจะกลับมา และปักใจคิดว่าเผด็จการโดยปืนดีกว่าเผด็จการโดยทุน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ส่วนหนึ่งก็คงอยากได้ อยากมีตำแหน่งในรัฐบาลตามความคิดพื้นฐานของคนไทยทั่วไป ก็พยายามผลักและดันให้สนับสนุนผู้ที่มาจากรัฐประหารให้เป็นนายกฯต่อไป

ส่วนข้ออ้างที่ว่าถ้าเข้าร่วมจะได้มีอำนาจ ดำเนินงานตามนโยบายของพรรค ทั้งๆที่รู้ว่า ด้วยจำนวน ส.ส. 53 คน รัฐมนตรีจำนวนน้อยนิดจะทำอะไรได้มากน้อยแค่ไหน ยิ่งกว่านั้นยังขู่ด้วยว่า ถ้าไม่ร่วมรัฐบาลสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ เลือกตั้งครั้งหน้าประชาธิปัตย์จะสูญพันธุ์ นานชวน และพรรคประชาธิปัตย์ คิดถูกแล้ว ที่อาสาเป็นผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติ ออกกฎหมาย ควบคุม ตรวจสอบฝ่ายบริหาร หาก ส.ส.ของพรรคประชาธิปัตย์จะยึดหลักการแนวทางเดียวกับนายชวนคือ เป็นกลาง เป็นอิสระจากข้อผูกพันของพรรคร่วมรัฐบาลเป็นฝ่ายค้าน ฝ่ายสนับสนุนอิสระ หากฝ่ายบริหารคือรัฐบาลทำดีทำประโยชน์ให้ประเทศก็สนับสนุน แต่หากฝ่ายรัฐบาลดำเนินการไม่ถูกต้อง ก็ต้องท้วงติง คัดค้าน และไม่ไว้วางใจได้

“การเป็นฝ่ายค้านฝ่ายสนับสนุนอิสระ อาจประกาศสนับสนุนให้จัดตั้งรัฐบาลได้ และอาจจะประกาศสนับสนุน พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดินเพื่อใช้บริหารประเทศได้ แต่ญัตติในเรื่องอื่นๆ ก็พิจารณาเป็นเรื่องๆ ไป ดีก็สนับสนุน ไม่ดีก็คัดค้านไม่ต้องผูกมัดเข้าร่วมรัฐบาลอย่างมีส่วนได้ส่วนเสีย ซึ่งต้องคำนึงถึงมารยาทในการร่วมรัฐบาล มติพรรค และประโยชน์ของประเทศ ซึ่งหลายกรณีจะขัดแย้งกันและมักจะให้น้ำหนักกับมารยาทในการร่วมรัฐบาลมากกว่า”

นายเจิมศักดิ์ระบุอีกว่าหาก ส.ส.53 คน ของพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นฐานของความเป็นอิสระ เป็นกลางทางการเมืองมากกว่าเข้าร่วมเป็นฐานให้กับพลเอกประยุทธ์ ซึ่งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านจะต้องเกรงใจ คอยฟังท่าทีว่าจะเอาอย่างไร ก็ต้องเสียสละความอยากดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาล และหากเป็นกลาง เป็นฝ่ายอิสระที่ดี ประชาชนก็จะไม่ลืมบทบาทในอนาคตพรรคก็จะเป็นพรรคอุดมการณ์ที่ไม่ร่วมแสวงหาอำนาจกับทุน หรือไม่แสวงหาอำนาจกับปืน และคงเป็นสถาบันทางการเมืองที่เก่าแก่มั่นคงต่อไป

​“ไม่ใช่ว่าผมรังเกียจเป็นการส่วนตัวหรือคิดว่าพล.อ.ประยุทธ์เป็นคนไม่ดี การที่พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีเนื่องจากการยึดอำนาจ ผมรับได้มากกว่ากับการที่จะเป็นนายกต่อโดยซ่อนรูปประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง มีรัฐสภาแต่เต็มไปด้วยหมากกลที่ซ่อนเงื่อน เข้าสู่อำนาจโดยอ้างประชาธิปไตย หากพรรคประชาธิปัตย์รู้แต่เข้าร่วมรัฐบาลซ่อนเงื่อน จะไม่ต่างกับพรรคที่ประชาชนมองว่าทำการเมืองเพื่อแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์ อยากให้มีพรรคการเมืองที่ยึดอุดมการณ์ เป็นหลักให้กับสังคมระยะยาว ซึ่งความคิดเห็นทั้งหมดนี้ ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์คงตระหนักดีอยู่แล้ว“นายเจิมศักดิ์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น