xs
xsm
sm
md
lg

“ส.ว.คำนูณ” เผยหลักคิดเลือกนายกฯ ต้องตอบโจทย์ “เหตุผลพิเศษ” สานต่อปฏิรูปประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (แฟ้มภาพ)
“คำนูณ” เผยหลักคิดเลือกนายกฯ ระบุ ส.ว.ชุดแรกตาม รธน.ฉบับใหม่ ถูกวางบทบาทให้เป็น “องครักษ์พิทักษ์การปฏิรูปประเทศ” ตามผลประชามติที่เห็นด้วยกับคำถามพ่วง จะเลือกใครเป็นนายกฯ ต้องตอบโจทย์ “เหตุผลพิเศษ” อาทิ เข้าใจและจะสานต่อแผนปฏิรูปประเทศหรือไม่ เชื่อแคนดิเดตที่จะถูกเสนอชื่อมีเพียง “พล.อ.ประยุทธ์” กับอีก 1 คนจากขั้ว 7 พรรค จึงมีคำตอบชัดเจนแล้วว่าจะเลือกใคร

วันนี้ (1 มิ.ย.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Kamnoon Sidhisamarn ถึงหลักคิดและเหตุผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีในฐานะ ส.ว.ในมุมมองส่วนตัวว่าจะต้องเป็นบุคคลที่ตอบโจทย์ “เหตุผลพิเศษ” ได้ใกล้เคียงที่สุดในเชิงเปรียบเทียบ โดยนายคำนูณอธิบายว่า ส.ว.ชุดแรกตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ได้รับหน้าที่และอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จากผลการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ในส่วนของคำถามเพิ่มเติม ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตอบว่า 'เห็นด้วย' ด้วยคะแนนเสียงคะแนนเสียงข้างมาก 15,132,050 เสียง คิดเป็นร้อยละ 58.07 ของจำนวนผู้มาออกเสียงประชามติทั้งหมด ด้วยเหตุผลซึ่งสรุปได้สั้นๆ ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ

นี่คือเหตุผลพิเศษของ ส.ว.ในการร่วมเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุผลที่เพิ่มเติมไปจากเหตุผลทั่วไปทางการเมืองระบบรัฐสภา สมาชิกวุฒิสภาชุดนี้จึงได้รับการวางบทบาทจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้เป็นเสมือน “องครักษ์พิทักษ์การปฏิรูปประเทศ”

นายคำนูณระบุอีกว่า จะเลือกบุคคลใดก็ตามบุคคลนั้นต้องตอบโจทย์ “เหตุผลพิเศษ” นี้ได้ อาทิ บุคคลนั้นเข้าใจแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 10 (+2) ด้านหรือไม่? บุคคลนั้นจะปฏิบัติตามแผนปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องหรือไม่ หรือตั้งใจจะรื้อใหม่หมดไม่ว่าจะโดยเหตุผลใดก็ตามอันจะเป็นผลทำให้กระบวนการปฏิรูปประเทศล่าช้าออกไปอีก?

เมื่อพิจารณาจากรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่พรรคการเมืองเสนอขึ้นบัญชีไว้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง และให้ ส.ว.ร่วมเลือก จะมี 7 คน คือ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (เพื่อไทย) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (เพื่อไทย) นายชัยเกษม นิติสิริ (เพื่อไทย) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พลังประชารัฐ) นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (อนาคตใหม่) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ประชาธิปัตย์) และนายอนุทิน ชาญวีรกูล (ภูมิใจไทย)

ภายใต้สภาวการณ์การเมือง 2 ขั้ว เชื่อว่าบุคคลในข่ายทั้ง 7 คนน่าจะได้รับการเสนอชื่อและผ่านการรับรองให้ขึ้นมาเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เพียง 2 คน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะเป็น 1 ใน 2 คนนี้แน่ ในฐานะผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ โดยการสนับสนุนของกลุ่มพรรคพันธมิตรอีกจำนวนหนึ่ง

ส่วนอีกคนหนึ่งจะเป็นใครจากขั้วพันธมิตร 7 พรรคที่ชิงแถลงข่าวตั้งแต่หลังเลือกตั้งหมาด ๆ ขณะนี้ยังไม่ชัด
เมื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประกาศไม่รับการเสนอชื่อแล้ว จะพลิกไปเป็นใครในอีก 2 รายชื่อที่เหลืออยู่ของพรรคเพื่อไทย หรือจะเป็น ธนาธร จึงรุ่งเรืิองกิจ แห่งพรรคอนาคตใหม่ เมื่อถึงเวลานั้น สมาชิกวุฒิสภาต้องตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี

“สำหรับผม ตัดสินใจได้แล้วบนฐานหลักคิดที่กล่าวมา โดยเป็นบุคคลที่ทั้ง 'ได้ใจ' และ 'ค้างคาใจ' ผม แต่เมื่อผ่านการชั่งน้ำหนักโดยเปรียบเทียบกับแคนดิเดทที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นใครแล้ว คำตอบออกมาชัดเจน พร้อมจะเปล่งวาจาขานชื่อบุคคลผู้นี้ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันพุธที่ 5 มิถุนายน 2562 นี้

เพราะเป็นบุคคลที่สามารถตอบโจทย์ 'เหตุผลพิเศษ' ได้ใกล้เคียงมากที่สุด ทั้งนี้โดยพิจารณา 'เชิงเปรียบเทียบ' กับบุคคลที่อยู่ในข่ายเป็นแคนดิเดตที่เหลืออยู่

ขณะเดียวกัน ยังเป็นบุคคลที่สามารถตอบโจทย์ 'เหตุผลทางการเมืองทั่วไป' ได้มากที่สุด ทั้งนี้โดยพิจารณา 'เชิงเปรียบเทียบ' ด้วยเช่นกัน” นายคำนูณระบุ


-----------------------------------------------------

รายละเอียดข้อความในเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn

หลักคิดในการเลือกนายกรัฐมนตรี
"ต้องเป็นบุคคลที่ตอบโจทย์ 'เหตุผลพิเศษ' ได้ใกล้เคียงที่สุดในเชิงเปรียบเทียบ"


ตั้งแต่เข้ารับหน้าที่สมาชิกวุฒิสภา บางคนถามว่าผมจะเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะอะไร หลายคนไม่ถามแต่พูดในเชิงว่ายังไง ๆ ผมก็ต้องเลือกอยู่แล้ว อันที่จริงเป็นคำถามที่ไม่ว่าจะตอบหรือไม่ตอบ ทุกคนก็จะได้รู้ชัดว่าผมและสมาชิกวุฒิสภาคนอื่นจะใช้สิทธิอย่างไร เพราะเป็นการลงมติโดยเปิดเผยตามรัฐธรรมนูญ

ขอกล่าวถึงหลักคิดและเหตุผลต่อการเลือกนายกรัฐมนตรีในฐานะสมาชิกวุฒิสภาในมุมมองส่วนตัวของผมพอสังเขปจะดีกว่า น่าจะเป็นประโยชน์ตามสมควร

โดย ณ ที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะเหตุผลประการสำคัญที่สุดในฐานะสมาชิกวุฒิสภา

"ต้องเป็นบุคคลที่ตอบโจทย์ 'เหตุผลพิเศษ' ได้ใกล้เคียงที่สุดในเชิงเปรียบเทียบ"

สมาชิกวุฒิสภาชุดแรกตามบทเฉพาะกาลได้หน้าที่และอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาจากผลการออกเสียงประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559 ในส่วนของ 'คำถามเพิ่มเติม' ที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งตอบว่า 'เห็นด้วย' ด้วยคะแนนเสียงคะแนนเสียงข้างมาก 15,132,050 เสียง คิดเป็นร้อยละ 58.07 ของจำนวนผู้มาออกเสียงประชามติทั้งหมด จึงต้องย้อนกลับไปดูคำถามเพิ่มเติมว่าอ้างอิงเหตุผลไว้อย่างไร…

"ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี"

สรุปให้สั้นและกระชับ…

"เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ..."

ผมเห็นว่านี่คือ 'เหตุผลพิเศษ' ของสมาชิกวุฒิสภาในการร่วมเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นเหตุผลที่เพิ่มเติมไปจากเหตุผลทั่วไปทางการเมืองระบบรัฐสภา เรื่องนี้ได้เคยเล่าไปแล้วไปโพสต์ก่อนหน้านี้ว่าสมาชิกวุฒิสภาชุดนี้ได้รับการวางบทบาทจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันให้เป็นเสมือน 'องครักษ์พิทักษ์การปฏิรูปประเทศ' มีหน้าที่หลักพิเศษนอกเหนือจากการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว 3 ประการอย่างไรบ้าง สามารถอ่านประกอบได้อีกครั้งจากลิงก์ที่ 1 ท้ายโพสต์นี้

จะเลือกบุคคลใดก็ตาม บุคคลนั้นต้องตอบโจทย์ 'เหตุผลพิเศษ' นี้ได้ อาทิ

บุคคลนั้นเข้าใจแผนปฏิรูปประเทศทั้ง 10 (+ 2) ด้านหรือไม่ ?

บุคคลนั้นจะปฏิบัติตามแผนปฏิรูปประเทศอย่างต่อเนื่องหรือไม่ หรือตั้งใจจะรื้อใหม่หมดไม่ว่าจะโดยเหตุผลใดก็ัตามอันจะเป็นผลทำให้กระบวนการปฏิรูปประเทศล่าช้าออกไปอีก ?

ขอให้ข้อมูลซ้ำอีกครั้ง ณ ที่นี้ว่า ขณะนี้แผนปฏิรูปประเทศรวม 10 ด้านมีผลบังคับใช้โดยประกาศราชกิจจานุเบกษาไปแล้วตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2561 ส่วนแผนปฏิรูปประเทศอีก 2 ด้าน คือ ด้านการศึกษา และตำรวจ ตัวร่างกฎหมายหลักยกร่างเสร็จแล้วในชั้นกฤษฎีกา รอคณะรัฐมนตรีส่งเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ ทั้งนี้โดยมีกฎหมายกำหนดขั้นตอนการปฏิรูปประเทศโดยเฉพาะอยู่แล้ว 2 ฉบับ มีกรรมการปฏิรูปประเทศมีอยู่แล้วทั้ง 10 ด้านตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2560

ทั้งหมดเกิดขึ้นในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งสิ้น ท่านจึงออกจะได้เปรียบในประเด็นนี้ เพราะเป็นประธานในการอนุมติแผนฯ เองทั้งในฐานะประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และนายกรัฐมนตรี

ทีนี้มาว่ากันถึงการปฏิบัติตามแผนปฏิรูปประเทศของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในฐานะผู้ปฏิบัติบ้าง ประเด็นนี้สำคัญกว่า

ขอตอบเป็น 2 ด้่าน

ด้านหนึ่ง การทำตามแผนปฏิรูปประเทศของรัฐบาลมีไปมากพอสมควร

ขอยกเฉพาะที่สำคัญที่สุดในมุมมองส่วนตัวของผม แต่มักจะมีคนทั่วไปพูดถึงน้อยมาก มาสัก 3 ประเด็นด้วยกัน

- กฎหมายขายฝากที่ดินคนจน : พระราชบัญญัติคุ้มครองประชาชนในการทำสัญญาขายฝากอสังหาริมทรัพย์เพื่อเกษตรกรรมและที่อยู่อาศัย พ.ศ. 2562

- กฎหมายลูกมาตรา 77 : พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย พ.ศ. 2562

- กฎหมายวิสาหกิจเพื่อสังคม : พระราชบัญญัติวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ. 2562

ในประเด็นแรกเรื่องกฎหมายขายฝากที่ดินคนจนเป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลก่อนหน้าในช่วงระยะเวลา 46 ปีตั้งแต่หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ไม่อาจทำได้สำเร็จ

ผมเคยโพสต์มาสองสามครั้งแล้วว่าเฉพาะในประเด็นนี้ กุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาโดยตรง ถ้าท่านไม่กล่าวเชิงแสดงเจตจำนงทางการเมืองกึ่งสัญญาประชาคมว่าจะเร่งผลักดันเต็มที่ในรายการศาสตร์พระราชาฯเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2560 ก็คงยากที่คณะทำงานจะผลักดันร่างกฎหมายให้ผ่านกระบวนการของระบบได้ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นจนจบได้ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี อ่านสปีชของท่านอีกครั้งได้ในลิงก์ที่ 2 ท้ายโพสต์

สื่อมวลชนคนหนึ่งกล่าวว่านี่คือ 'ปลดแอกการขายฝาก' ออกจากคอคนจน

"ช่วยปลดแอกรากหญ้า คนจน ทั้งในชนบท ในเมือง ให้หลุดพ้นพันธนาการจากที่เคยเป็นเบี้ยล่างเพราะถูกมัดมือชกโดยสัญญาขายฝาก"

ขอยอมรับ ณ ที่นี้ว่าเฉพาะประเด็นนี้ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา 'ได้ใจ' ผมไปเต็ม ๆ เพราะสมัยทำกิจกรรมทางการเมืองหลัง 14 ตุลาคม 2516 ผมได้มีส่วนร่วมกับสหพันธ์นักศึกษาเสรีฯทำงานร่วมกับกลุ่มชาวนาชาวไร่ที่เข้ามาเรียกร้องความเป็นธรรม ได้เห็นความเดือดร้อนและการสูญเสียที่ทำกินจากบทบัญญัติการขายฝากที่อยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ สมัยนั้นเกิดการปฏิรูปใหญ่มีกฎหมายเพื่อแก้ไขปัญหาออกมา 2 ฉบับคือกฎหมายควบคุมค่าเช่านาและกฎหมายปฏิรูปที่ดิน ขาดแต่การยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายขายฝาก กระทั่งผ่านมาอีกหลายยุคสมัยเกือบ 50 ปีก็ไม่สำเร็จ เพิ่งมาสำเร็จในยุคนี้ ขณะนี้กฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2562 จะมีผลบังคับใช้ทั้งระบบภายในไม่กี่เดือนนี้

ในประเด็นที่สองเป็นการทำให้มาตรา 77 รัฐธรรมนูญ 2560 ปรากฎเป็นจริงในทุกมิติ เปิดโอกาสให้มีการสังคายนากฎหมายครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบลงโทษทางอาญาที่ไม่ควรจะมีพร่ำเพรื่อแม้ในฐานความผิดที่ไม่จำเป็น ล่าสุดร่างกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2562 นี่เอง จะมีพ้นบังคับใช้ภายใน 180 วัน ก็ช่วงสิ้นปีนี้พอดี

ในอนาคตผลของกฎหมายฉบับนี้จะถึงขั้นกล่าวได้ว่าเป็นการ 'ปลดแอกคนไทย' จากกฎหมายที่ทั้งมีมากและบัญญัติโทษทางอาญาเกินจำเป็น

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในลิงก์ที่ 3 ท้ายโพสต์นี้

ในประเด็นที่สามเป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมในเชิงโครงสร้าง โดยเปิดโอกาสให้มีมาตรการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมต่อภาคธุรกิจเอกชนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือสังคมไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง เป็นการสร้างกลไกในระบบให้เกิดการเอื้อเฟ้อแบ่งปันกันมากขึ้น

นี่ก็จะมีผลใหญ่หลวงในอนาคตเช่นกัน
ฯลฯ

แต่อีกด้านหนึ่ง ก็มีอีกพอสมควรที่รัฐบาลยังดำเนินการไม่ครบถ้วนตามแผนปฏิรูปประเทศ หรือยังไม่ทันกำหนดเวลาตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

โดยเฉพาะด้านการศึกษา

และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านตำรวจ !

อาจจะเป็นเพราะเหตุในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเป็นระยะใกล้การเลือกตั้งทั่วไป แม้ร่างพระราชบัญญัติหลักจะเสร็จจากชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว แต่เนื่องจากเป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีการเปลี่ยนแปลงมาก มีหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องยังไม่เห็นด้วยบางประการ รัฐบาลจึงตัดสินใจชะลอไว้ไม่ส่งเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และไม่ใช้มาตรการพิเศษอื่นนอกเหนือจากกระบวนการนิติบัญญัติตามปกติ ไม่ว่าจะเป็นการตราเป็นพระราชกำหนด หรือการใช้มาตรา 44 ร่่างพระราชบัญญัติดังกล่าวจึงยังค้างอยู่ที่คณะรัฐมนตรี รอการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีชุดต่อไป ซึ่งถ้าเป็นนายกรัฐมนตรีคนเดิมก็สามารถที่จะเดินหน้าต่อไปได้ทันที

ต้องยอมรับว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ถูกตั้งคำถามมากที่สุดในประเด็นปฎิรูปตำรวจ

ผมเป็นคนหนึ่งที่แม้จะ 'เข้าใจ' ในเงื่อนไขจำกัดทั้งที่ว่ามาข้างต้น และเงื่อนไขจำกัดประการอื่น ๆ ด้วย แต่ก็ยัง 'ค้างคาใจ' อยู่ เพราะบังเอิญได้เป็นหนึ่งในคณะกรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติชุดท่านอาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ โดยได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่โฆษก แถลงความคืบหน้าเป็นระยะ ๆ ตลอดปี 2561 ตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา แต่ครั้นเมื่อร่างกฎหมายเสร็จเรียบร้อยแล้วถึง 2 ฉบับ ส่งรัฐบาลแล้ว แต่ยังติดขัดไม่ได้เดินต่อ จะไม่ให้ 'ค้างคาใจ' เลยได้ละหรือ

ในประเด็นนี้ ก็จะใช้สิทธิในฐานะสมาชิกวุฒิสภาตั้งกระทู้สอบถามและติดตามต่อไปตามวาระอันควร

ฯลฯ

เมื่อพอเข้าใจ 'เหตุผลพิเศษ' โดยสังเขปแล้ว ในการพิจารณาว่าบุคคลใดเหมาะสมต้องพิจารณา 'เชิงเปรียบเทียบ' ด้วย

เปรียบเทียบระหว่างแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีที่มีให้สมาชิกวุฒิสภาร่วมเลือก

ถึงตรงนี้ ขอทำความเข้าใจเป็นพื้นฐานว่าในกระบวนการเลือกนายกรัฐมนตรีในที่ประชุมร่วมของรัฐสภานั้นมีกระบวนการอยู่ 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 การเสนอชื่อ ขั้นตอนที่ 2 การรับรองชื่อที่เสนอ และขั้นตอนที่ 3 การลงมติ
สมาชิกวุฒิสภามีส่วนร่วมเฉพาะในขั้นตอนที่ 3 เท่านั้น โดย 2 ขั้นตอนแรกเป็นหน้าที่และอำนาจเฉพาะของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นที่มีสิทธิเสนอชื่อบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยจำกัดลงไปอีกว่าจะเสนอได้แต่จากรายชื่อที่แต่ละพรรคการเมืองยื่นบัญชีพรรคละไม่เกิน 3 คนต่อ ก.ก.ต.ในวันสมัครรับเลือกตั้ง และเฉพาะรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภาผู้แทนราษฎร 25 คนขึ้นไปเท่านั้น

ซึ่งก็ทำให้เหลือบุคคลอยู่ในข่ายนี้เพียง 7 คน กล่าวคือ
1. คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (เพื่อไทย)
2. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (เพื่อไทย)
3. นายชัยเกษม นิติสิริ (เพื่อไทย)
4. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (พลังประชารัฐ)
5. นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ (อนาคตใหม่)
6. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (ประชาธิปัตย์)
7. นายอนุทิน ชาญวีรกุล (ภูมิใจไทย)

เมื่อเสนอรายชื่อแล้ว ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองรายชื่อนั้นอีกอย่างน้อย 50 คนจึงจะเป็นแคนดิเดทได้
ภายใต้สภาวการณ์การเมือง 2 ขั้ว เชื่อว่าบุคคลในข่ายที่เหลือ 7 คนน่าจะได้รับการเสนอชื่อและผ่านการรับรองให้ขึ้นมาเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีครั้งนี้เพียง 2 คนเท่านั้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชาจะเป็น 1 ใน 2 คนนี้แน่ ในฐานะผู้อยู่ในบัญชีรายชื่อของพรรคพลังประชารัฐ โดยการสนับสนุนของกลุ่มพรรคพันธมิตรอีกจำนวนหนึ่ง

ส่วนอีกคนหนึ่งจะเป็นใครจากขั้วพันธมิตร 7 พรรคที่ชิงแถลงข่าวตั้งแต่หลังเลือกตั้งหมาด ๆ ขณะนี้ยังไม่ชัด
เมื่อคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ประกาศไม่รับการเสนอชื่อแล้ว จะพลิกไปเป็นใครในอีก 2 รายชื่อที่เหลืออยู่ของพรรคเพื่อไทย ?

หรือจะเป็น ธนาธร จึงรุ่งเรืิองกิจ แห่งพรรคอนาคตใหม่ ?

เมื่อถึงเวลานั้น สมาชิกวุฒิสภาต้องตัดสินใจว่าจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี

สำหรับผม ตัดสินใจได้แล้วบนฐานหลักคิดที่กล่าวมา โดยเป็นบุคคลที่ทั้ง 'ได้ใจ' และ 'ค้างคาใจ' ผม แต่เมื่อผ่านการชั่งน้ำหนักโดยเปรียบเทียบกับแคนดิเดทที่มีอยู่ไม่ว่าจะเป็นใครแล้ว คำตอบออกมาชัดเจน พร้อมจะเปล่งวาจาขานชื่อบุคคลผู้นี้ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันพุธที่ 5 มิถุนายน 2562 นี้

เพราะเป็นบุคคลที่สามารถตอบโจทย์ 'เหตุผลพิเศษ' ได้ใกล้เคียงมากที่สุด ทั้งนี้โดยพิจารณา 'เชิงเปรียบเทียบ' กับบุคคลที่อยู่ในข่ายเป็นแคนดิเดทที่เหลืออยู่

ขณะเดียวกัน ยังเป็นบุคคลที่สามารถตอบโจทย์ 'เหตุผลทางการเมืองทั่วไป' ได้มากที่สุด ทั้งนี้โดยพิจารณา 'เชิงเปรียบเทียบ' ด้วยเช่นกัน

นายคำนูณ สิทธิสมาน
สมาชิกวุฒิสภา
1 มิถุนายน 2562
#หลักคิดในการเลือกนายกฯ
______________________
1. หน้าที่และอำนาจของส.ว.
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2234224843288124&id=100001018909881
2. กฎหมายขายฝากใหม่
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2144506538926622&id=100001018909881
3. การสังคายนากฎหมาย
https://m.facebook.com/story.php?story_fbid=2120633571313919&id=100001018909881


กำลังโหลดความคิดเห็น