xs
xsm
sm
md
lg

นับถอยหลังรัฐบาลคสช.ผ่องถ่ายรัฐมนตรีสู่ ส.ว.ค้ำยันเก้าอี้"ลุงตู่"!!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เมิองไทย 360 องศา





ถือว่างวดเข้ามาเรื่อยๆแล้วทั้งรัฐบาลชุดเก่าที่ใกล้จะเก็บฉากเต็มที ขณะเดียวกันอีกด้านหนึ่งการเดินหน้าเพื่อฟอร์มรัฐบาลชุดใหม่ก็กำลังเริ่มเข้มข้นขึ้นทันทีหลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ได้เริ่มประกาศรับรอง ส.ส.ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคมไปจนถึงไม่เกินวันที่ 9 พฤษภาคมนี้ โดยประกาศรับรอง ส.ส.เขตจำนวน 349 เขต โดยแขวนเอาไว้เพียง เขต 8 จังหวัดเชียงใหม่เพียงเขตเดียวเท่านั้น และถัดจากนี้ก็จะมีการประกาศรับรอง ส.ส.บัญชีรายชื่อเป็นลำดับถัดไป

ที่ต้องบอกว่าบรรยากาศเริ่มงวดและเข้มข้นทุกนาทีนับจากนี้ไปเพราะเมื่อมีการประกาศรับรอง ส.ส.อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งทั้งแบบส.ส.เขตและแบบ ส.ส.บัญชีรายชื่อต้องรวมแล้วไม่ต่ำว่าร้อยละ 95 เพื่อให้สามารถเปิดประชุมสภาได้และมีการเลือกประธานสภาผู้แทนสภาผู้แทนราษฎร จากนั้นก็จะมีการแต่งตั้ง สมาชิกวุฒิสภาอีกจำนวน 250 คน เพื่อให้ครบองค์ประกอบของรัฐสภาในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ตามขั้นตอนต่อไป

แม้ว่าการเจรจาเพื่อจัดตั้งรัฐบาลของแต่ละขั้วคงต้องดำเนินการไปตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง แต่เมื่อรับรู้ผลจำนวน ส.ส.ของแต่ละพรรคที่ถือว่า"นิ่ง"ในระดับหนึ่งแล้ว นั่นคือจำนวน ส.ส.เกินกว่าร้อยละ 95 และเมื่อรวมกับเสียง ส.ว.ที่จะต้องนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯในอีก 3 วันนับจากนี้และเมื่อไดรับการโปรดเกล้าฯลงมาแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการในรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีดังกล่าว

ซึ่งขั้นตอนในช่วงนี้แหละที่ถือว่าเข้มข้น เพราะเป็นช่วงของการ"ต่อรอง"เก้าอี้ โควตากระทรวง และจะว่าไปแล้วในการรวบรวมเสียงเพื่อจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้ถือว่ามีความ"ยาก"พอสมควร เพราะแต่ละขั้วล้วนมีเสียงสนับสนุนที่ก้ำกึ่ง จากการ"แบ่งขั้ว"ชัดเจน ระหว่างฝ่ายพรรคเพื่อไทย กับพรรคพลังประชารัฐ

อย่างไรก็ดีเมื่อวัดพลังจากความเคลื่อนไหวก็ปฏิเสธความจริงไม่ได้ว่าขั้วพรรคเพื่อไทยนั้นดู"อ่อนแรง"ลงไปมาก ไม่ได้ดูคึกคักเหมือนในตอนต้น หลังการเลือกตั้ง ผิดกับอีกฝากหนึ่งที่ย่อมมองออกว่ายิ่งนาน"ยิ่งกุมสภาพ"ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ที่สำคัญมีแนวโน้มที่มีพรรคขนาดเล็กมาสนับสนุนจำนวนมาก หากพิจารณาจากสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อที่คาดว่าทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)นำมาใช้ที่ยึดเอาตามสูตรของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

ซึ่งนั่นก็หมายความว่าจะมีพรรคการเมืองขนาดเล็กได้ที่นั่ง ส.ส.ไม่น้อยกว่า 10 พรรค ทำให้เสียงของฝ่ายที่สนับสนุน "บิ๊กตู่"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีเสียงมากกว่า แม้ว่าจะมีลักษณะ"ปริ่มน้ำ"แต่ก็ถือว่าพอตั้งรัฐบาลบริหารไปได้

ขณะเดียวกันหากย้อนกลับมาพิจารณากันถึงบรรดารัฐมนตรีที่ยื่นใบลาออกเพื่อรับการแต่งตั้งเป็น ส.ว.ณ เวลานี้รวมกันแล้วจำนวน 15 คน โดยถือว่าเป็นการร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม อีกทั้งยังถือว่าเป็นการประชุมคณะรัฐมนตรีแบบเต็มคณะของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นครั้งสุดท้ายด้วย และนอกเหนือจากนี้อาจนับได้ว่านี่คือการ"สิ้นสุดรัฐบาลคสช."แบบไม่เป็นทางการไปด้วยก็ได้ เพราะนับจากนี้ไปจะถือว่ารัฐบาลที่เหลืออยู่นี้คงจะเป็นแบบ"กึ่งรักษาการ"คงไม่น่าจะมีการประชุมอนุมัติโครงการสำคัญอะไรอีกแล้ว เพราะมีหลายกระทรวงที่มีทั้งรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการลาออกกันยกกระทรวง

แม้ว่าจะมีการตั้งรองนายกฯและรัฐมนตรีที่เหลือมารักษาการก็ตามรวมทั้งแม้ว่าอาจจะยังมีอีกบางกระทรวงที่ยังมีภารกิจสำคัญที่ต้องสานต่อ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศที่ต้องดำเนินการประสานงานในช่วงที่ไทยต้องเป็นประธานอาเซียนและจะมีการประชุมซัมมิตในเดือนมิถุนายน รวมไปถึงกระทรวงคมนาคมที่ยังค้างคาเรื่องโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินที่ได้เอกชนผู้ชนะการประมูลมาแล้ว ที่รอเพียงเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีให้รับทราบในโอกาสต่อไป

อย่างไรก็ดีบรรดารัฐมนตรีที่ถือว่าเป็นตัวหลักยังอยู่ครบ เช่น "พี่น้องสองป." พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่คาดว่าจะกลับมานั่งเก้าอี้ตัวเดิมในรัฐบาลใหม่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็เช่นเดียวกัน รวมทั้ง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่วางตัวเป็นรองนายกฯฝ่ายเศรษฐกิจเช่นเดิม รวมไปถึง วิษณุ เครืองาม ที่ขาดไม่ได้สำหรับรองนายกฯฝ่ายกฎหมาย ส่วนตำแหน่งรัฐมนตรีที่ลาออกไปในวันนี้จำนวน 15 คนก็เข้าใจได้ไม่ยากว่านี่คือโควตาสำหรับพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล จึงต้องผ่องถ่ายไปนั่งเก้าอี้ ส.ว.ทางหนึ่งก็เป็นการ"ค้ำยัน"เก้าอี้ให้กับ "บิ๊กตู่"กันอีกทางหนึ่งด้วย

นอกเหนือจากบรรดา สมาชิกสภานิติบัญญัติที่ตามข่าวระบุว่ามีประมาณ 60 คนที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็น ส.ว.รวมไปถึงพวกอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปท.) สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) แม้ว่าคนพวกนี้จะกลับเข้ามาเป็น ส.ว.ย่อมต้องถูกวิจารณ์บ้าง แต่ในเมื่อต้องการคนที่ไว้ใจได้ก็ต้องได้คนประเภทนี้ และที่สำคัญพวกเขาก็ได้ไม่ได้มีภาพลักษณ์ติดลบอะไรมากนัก เพราะหากว่ากันแบบตรงไปตรงมาคนที่มีรายชื่อตามรายงานข่าวนั้นเมื่อเทียบกันแล้วก็น่าจะดีกว่าในยุค"สภาผัวเมีย"ในยุคนักเลือกตั้งแน่นอน

ดังนั้นหากพิจารณาจากความเคลื่อนไหวเท่าที่เห็นในเวลานี้ แม้ว่ารัฐบาลที่เหลือรัฐมนตรีอยู่จำนวน 17 คน จะยังมีอำนาจเต็ม ไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ แต่โดยมารยาทแล้วคงไม่อาจพิจารณาอนุมัติในเรื่องสำคัญ นอกเหนือจากโครงการต่อเนื่องเร่งด่วนจำเป็นเท่านั้น จึงถือว่านี่คือการเริ่มนับถอยหลังรัฐบาลคสช.ก่อนจะมีรัฐบาลใหม่โฉมใหม่ ที่คาดว่ายังเป็นนายกฯหน้าเก่าคนเดิม เพราะทุกอย่างเริ่มชัดเจนแบบไม่ต้องลุ้นแล้ว !!


กำลังโหลดความคิดเห็น