xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” แนะ กกต.คิดให้รอบคอบวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

(ภาพจากแฟ้ม)
อดีต กกต. แนะ กกต. คิดให้รอบคอบวิธีคำนวณ ส.ส.บัญชีเชื่อเกิดโอเวอร์แฮงก์แล้ว อัตราส่วนที่นำมาคิดจัดสรรให้พรรคการเมืองต้องคิดจากคะแนนที่เหลือ 26 ล้านเศษ

วันนี้ (24 เม.ย.) นายสมชัย จึงประเสริฐ อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีปัญหาการคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อว่า ส่วนตัวเชื่อว่าวิธีคํานวณที่ตนได้นำเสนอว่าจะมี 16 พรรคการเมืองได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้นถูกต้อง ตรงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 และพ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.มาตรา 128 ซึ่งวิธีการคำนวณของนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นำเสนอในงานเสวนาวันสัญญา ธรรมศักดิ์ 5เม.ย.ที่ผ่านมาก็ใกล้เคียงกับของตน แต่ของนายปริญญายังมีความคลาดเคลื่อนอยู่ คือ ตอนนายปริญญาคำนวณตาม พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส มาตรา 128 (2) และ( 4) เอา ส.ส.พึงมีลบด้วย ส.ส.เขตจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อนั้น มองว่าหลักนี้คิดมาจากอัตราส่วนคะแนนเสียงรวมที่ทุกพรรคซึ่งส่งสมัคร ส.ส.บัญชีฯ ได้รับทั้งหมด คือ 35 ล้านเสียงเศษ แต่เมื่อเกิดกรณีโอเวอร์แฮงก์แล้ว ตาม (5) บอก วิธีคำนวณไว้ว่าให้นำจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อทั้งหมด 150 คนไปจัดสรรให้กับพรรคการเมือง ที่มีจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตต่ำกว่า จำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นจะพึงมีได้ ตามอัตราส่วน ซึ่งอัตราส่วนตรงนี้กฎหมายก็ไม่ให้เอาจำนวนคะแนนของพรรคที่ได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเท่ากับหรือสูงกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นจะพึงมีได้ คือ คะแนนของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชาติมารวมคำนวณ จึงต้องตัดคะแนนเสียงของ 2 พรรคนี้ ออกจากคะแนนเสียงรวมทั้งประเทศ 35 ล้านเศษ ก็จะเหลือคะแนนรวม 26 ล้านเศษ ฉะนั้นอัตราส่วนที่จะนำมาคำนวณ ต้องเป็น 26 ล้านเศษไม่ใช่ 35 ล้านเศษ

“ของอาจารย์ปริญญาตัวเลขใกล้เคียงกัน แต่มันผิดกันอยู่นิดหนึ่ง คือ เขาเกินจำนวน 150 คน มา 2 คน เป็น 152 คน แล้วทีนี้จะเอา 2 คนนั้นออก วิธีคิดคำนวณยังไม่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนแต่หลักใหญ่แล้วโอเคใช้ได้ ขณะที่ในส่วนวิธีคิดของ กกต.และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวมองว่าถูกตรงที่บอกว่าพรรคการเมืองที่จะได้รับการจัด ส.ส.บัญชีรายชื่อไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคที่ได้คะแนนเกินค่าเฉลี่ยต่อ ส.ส.1 คน หรือ 71,000 ขึ้นไปเท่านั้น ตรงนี้รับฟังได้แต่เมื่อเกิดกรณีโอเวอร์แฮงก์ขึ้น การจัดสรรให้พรรคการเมืองตามอัตราส่วน ไม่สามารถนำเอาค่าเฉลี่ยที่ 71,000 มาเป็นหลักได้ เพราะจำนวนดังกล่าวมาจากยอดคะแนนรวมของทุกพรรค 35 ล้านเศษ

คำว่า “อัตราส่วน” ตามมาตรา 128 (5) พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ที่จะนำมาใช้จัดสรรใหม่นั้นมันจะแตกต่างจากอัตราส่วนที่ได้จัดสรรใน (3) (4) การที่ กกต.บอกว่าพรรคไหนเหลือเศษมากแล้วจะได้เพิ่ม และเพิ่มให้แต่ละพรรค พรรคละ 1 ที่นั่ง เป็นการเพิ่ม 1 ที่นั่ง ตามอัตราส่วนที่ได้จาก (4) ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะมันถูกปิดไปแล้วจากกรณีเกิดโอเวอร์แฮงก์ จึงอยากให้ กกต.คิดให้ดี มันเป็นคนละอัตราส่วนกัน ขณะนี้ยังมีเวลา ถ้า กกต.คิดคำนวณอย่างที่ผมคิด ถึงเวลาหากถูกฟ้องเอาผิด มันก็ยังอธิบายได้”


กำลังโหลดความคิดเห็น