xs
xsm
sm
md
lg

พช.จับมือ อก.ยกระดับมาตรฐานสินค้าโอทอป

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กรมพัฒนาชมุชน จับมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP จำนวน 10,000 ผลิตภัณฑ์ ตามเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้ซื้อ เพิ่มขีดความสามารถขยายตลาดได้อย่างกว้างขวางมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

วันนี้( 17 เม.ย.) นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า จากการดำเนินโครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ในปี 2561 ที่ผ่านมา ทำให้มีการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์ OTOP และมีสินค้าชุมชนเกิดขึ้นใหม่เป็นจำนวนมาก จึงได้มีแนวทางในการส่งเสริมและยกระดับกลุ่มสินค้าดังกล่าว โดยการพัฒนาคุณภาพและส่งเสริมให้ได้มาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในวงกว้างไปพร้อมกัน เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภค และเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน เพิ่มยอดขายให้แก่ผู้ผลิตผู้ประกอบการ ได้อย่างกว้างขวางมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศ

สำหรับแนวทางในการดำเนินงานนั้น กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ได้จับมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม จัดกิจกรรมยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ OTOP กลุ่มปรับตัวสู่การพัฒนา หรือ Quadrant D จำนวน 10,000 ผลิตภัณฑ์ แยกเป็นกลุ่มผ้าและเครื่องแต่งกาย จำนวน 5,000 ผลิตภัณฑ์ และกลุ่มของใช้ ของฝาก ของที่ระลึก จำนวน 5,000 ผลิตภัณฑ์ ภายใต้โครงการชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยมีเป้าหมายในการยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ ตามเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน หรือ มผช. กิจกรรมดังกล่าวนี้ เป็นการให้ความรู้เรื่องข้อกำหนด มผช. พร้อมทั้งนำตัวอย่างผลิตภัณฑ์ของกลุ่มเป้าหมายส่งตรวจวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ (Lab) ตามเกณฑ์ มผช. และรวบรวมหลักฐานในการยื่นขอใบรับรอง มผช. ต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ซึ่งเป็นหน่วยงานที่พิจารณาออกใบรับรองมาตรฐานให้กับผลิตภัณฑ์

“การยกระดับ OTOP ในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ได้รับการรับรองและแสดงเครื่องหมายการรับรอง เพื่อส่งเสริมด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์ ให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเน้นให้มีการพัฒนาแบบยั่งยืน มุ่งให้ความสำคัญของการนำภูมิปัญญาชาวบ้าน และทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น มาพัฒนาและสร้างมูลค่าของผลิตภัณฑ์ OTOP ในกลุ่ม Quadrant D ให้สูงขึ้น อย่างมีมาตรฐาน มีคุณภาพ และมีเอกลักษณ์ จนสามารถสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้ และเพิ่มช่องทางการจำหน่ายได้หลากหลายช่องทางมากขึ้น โดยหากผลิตภัณฑ์ชุมชนมีการพัฒนาอย่างเข้มแข้ง จะเป็นแนวทางหนึ่งในการเสริมสร้างแข็งแกร่งให้แก่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศนั่นเอง” นายนิสิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น