xs
xsm
sm
md
lg

“ปานเทพ” คาดภูมิใจไทยเลือกขั้ว พปชร.แต่ไร้เสถียรภาพ ส่อแววต้องใช้นายกฯ คนกลางตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ภาพจากแฟ้ม
“ปานเทพ” วิเคราะห์ “ภูมิใจไทย” มีโอกาสเลือกจับมือ “พลังประชารัฐ” เพราะมี ส.ว.250 เสียงเป็นหลักประกันว่าได้เป็นแกนนำตั้งรัฐบาลแน่นอน แต่ขั้วเพื่อไทยมีเกือบถึงครึ่งของสภาจะทำให้รัฐบาลไร้เสถียรภาพ สุดท้ายอาจต้องเข้าสู่โมเดลนายกฯ คนกลางเพื่อสร้างรัฐบาลแห่งชาติ ชี้ประชาธิปัตย์เหลือเพียง 2 ทางเลือก ร่วมกับพลังประชารัฐแต่ก็เสี่ยงโดนกลืนหาย หรือเป็นฝ่ายค้านที่อาจทำให้แฟนคลับพรรคที่ตอนนี้ไปหนุน “ลุงตู่” ไม่พอใจ เชื่อประชาธิปัตย์เป็นของตายที่จะไม่จัดตั้งรัฐบาลกับเพื่อไทยแน่ ไม่เช่นนั้นถึงขั้นสูญพันธุ์

วันที่ 25 มี.ค. นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กวิเคราะห์ถึงการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลว่า

“ระหว่างความเป็นไปได้ในการจัดตั้งรัฐบาลระหว่างพรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย มี 3 เงื่อนไขสำคัญ

1. พรรคพลังประชารัฐ+ พรรครวมพลังประชาชาติไทย รวมกันแม้จะไม่ถึง 126 ที่นั่ง แต่ก็ “เกือบถึง” 126 ที่นั่ง ต้องการเสียงไม่มากนัก เพื่อรวมกับ ส.ว.อีก 250 ที่นั่ง เป็นหลักประกันว่าพรรคพลังประชารัฐจะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลค่อนข้างแน่นอน

2. พรรคเพื่อไทย + พรรคอนาคตใหม่ + พรรคเสรีรวมไทย + พรรคเพื่อนไทย + พรรคเพื่อชาติ + พรรคประชาชาติ รวมกันแล้วไม่ถึง 251 ที่นั่ง แต่ก็ “เกือบถึง” 251 ที่นั่ง แปลว่าขั้วพรรคเพื่อไทยไม่สามารถจะล้มขั้วรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐด้วยตัวเอง

3. ขั้วถือดุลอำนาจ คือ พรรคภูมิใจไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ส.ส. รวมกันแล้วประมาณ 100 ที่นั่ง หากย้ายไปอยู่พรรคพลังประชารัฐเมื่อไหร่ พรรคขนาดเล็กที่ไม่ใช่ขั้วพรรคเพื่อไทยก็จะไหลตามไปด้วยจนเกิน 251 ที่นั่ง โดยจะเป็นรัฐบาลที่เสียงสภาผู้แทนราษฎรเกินครึ่งแบบปริ่มๆ แต่มีเสียง ส.ว.เป็นพวกเดียวกัน ซึ่งจะทำให้พอที่จะบริหารประเทศได้แบบมีเสถียรภาพระดับหนึ่ง บนการต่อรองตำแหน่งและผลประโยชน์ของพรรคร่วมรัฐบาลหลายพรรค

หากประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยย้ายไปอยู่ขั้วพรรคเพื่อไทย พรรคขนาดเล็กก็จะไหลตามไปเช่นกัน จนอาจเกิน 275 ที่นั่ง จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลโดยสภาผู้แทนราษฎรได้โดยไม่ต้องอาศัยเสียง ส.ว.เลย แต่ต่อให้เป็นรัฐบาลได้ก็จะบริหารได้ยาก เพราะ ส.ว.อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามอย่างชัดเจน

แต่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่ต้องใคร่ครวญหลายมิติ คิดยากไม่ใช่น้อย เพราะต้องคิดถึงการเลือกตั้งสมัยหน้าด้วย การจะไปสนับสนุนพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลจึงเป็นเรื่องยากมาก ถึงยากที่สุด

แต่จะหันไปเป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นฐานเสียงเดียวกันก็ยังมีความสุ่มเสี่ยงถูกกลืนหายไปในอนาคตด้วยเช่นกัน (ต่อไปไม่รู้จะเลือกพรรคประชาธิปัตย์เพราะอะไร เลือกพรรคพลังประชารัฐไปเลยดีกว่า) แต่ถ้าเป็นฝ่ายค้านก็อาจสร้างความไม่พอใจให้กับแฟนคลับพรรคประชาธิปัตย์ผู้สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ในวันนี้เช่นกัน

บทบาทของพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่ใช่เรื่องง่าย น่าจะเหลือแค่ 2 ทางเลือกเท่านั้นคือ 1.ร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ หรือ 2. ขอเป็นฝ่ายค้านไม่ช่วยใครจัดตั้งรัฐบาลทั้งสิ้น ตรวจสอบและสนับสนุนรัฐบาลเป็นรายประเด็นไป แปลว่าพรรคประชาธิปัตย์น่าจะเป็นของตายที่จะไม่ไปจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย (ไม่เช่นนั้นสมัยหน้ามีสิทธิ์ถึงขั้นสูญพันธุ์ยิ่งกว่านี้)

ส่วนพรรคภูมิใจไทยน่าจะเป็นพรรคที่มีอำนาจต่อรองสูงมากที่สุด เพราะมีเงื่อนไขและข้อจำกัดน้อยกว่าพรรคประชาธิปัตย์ จึงมีความยืดหยุ่นมากที่สุด

หากพรรคภูมิใจไทยย้ายไปอยู่ขั้วพรรคเพื่อไทยก็จะส่งผลทำให้ขั้วพรรคพลังประชารัฐกลายเป็นรัฐบาลที่อายุสั้นมาก และในเมื่อพรรคประชาธิปัตย์ไม่สามารถร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทยได้ แปลว่าความหวังที่จะจัดตั้งรัฐบาลโดยเสียงของสภาผู้แทนราษฎรอย่างเดียว 375 ที่นั่ง “เป็นไปไม่ได้”

พรรคภูมิใจไทยคงไม่น่าจะไปสนับสนุนขั้วพรรคเพื่อไทยเพื่อเป็นฝ่ายค้านเพียงเพื่อทำให้รัฐบาลพรรคพลังประชารัฐอายุสั้น

ในขณะเดียวกันสมมุติว่าพรรคประชาธิปัตย์และภูมิใจไทยย้ายไปอยู่ขั้วพรรคเพื่อไทยรวมพรรคเล็กพรรคน้อยสำเร็จจนเกิน 375 ที่นั่งเป็นรัฐบาลที่โดดเดี่ยวพรรคพลังประชารัฐและพรรครวมพลังประชาชาติไทย จะบริหารได้อย่างไรเมื่อมี ส.ว.อยู่ฝ่ายตรงกันข้าม

โอกาสความเป็นไปได้ของพรรคภูมิใจไทยคือน่าจะไปอยู่ขั้วพรรคพลังประชารัฐมากที่สุด ด้วยอำนาจต่อรองสูงมาก ได้กระทรวงสำคัญและตำแหน่งสำคัญอื่นๆ และยังมี ส.ว.เป็นแนวร่วมอีก

ขั้วพรรคพลังประชารัฐจึงมีโอกาสจัดตั้งรัฐบาลสำเร็จได้มากกว่าขั้วพรรคเพื่อไทย

เนื่องจากขั้วพรรคเพื่อไทยเกือบถึงครึ่งของสภาผู้แทนราษฎรจึงส่งผลทำให้ขั้วพรรคพลังประชารัฐแม้จะจัดตั้งได้แต่ไม่มีเสถียรภาพมากนัก จึงมองข้ามโมเดลนายกรัฐมนตรีคนกลางเพื่อสร้างรัฐบาลแห่งชาติไม่ได้เช่นกัน”



กำลังโหลดความคิดเห็น