xs
xsm
sm
md
lg

เดิมพันอนาคต “มาร์ค” ปชป.ต้องได้เกินร้อย !!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


เมืองไทย 360 องศา



จะว่าไปแล้วการเลือกตั้งครั้งนี้เหมือนกับการเดิมพันอนาคตทางการเมืองของหลายคน ไม่ว่าจะเป็น “ลุงตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ของพรรคพลังประชารัฐ นั่นคือ หากพรรคพลังประชารัฐได้รับการเลือกตั้งเข้ามามีคะแนนเสียง ส.ส.ต่ำกว่าเป้าหมาย และทำให้ขาดความชอบธรรมในการรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลแล้ว โอกาสที่ลุงตู่ต้องกลับบ้านมันก็ต้องเกิดขึ้นไม่ว่าจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

ที่บอกว่าการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเดิมพันของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เนื่องจากภารกิจยังไม่เสร็จสิ้น หลายโครงการหลักยังต้องการสานต่อ ไม่ว่าจะเป็นเมกะโปรเจกต์ ที่เป็นหน้าตาก็คือโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี ที่บางพรรคประกาศจะเข้ามารื้อหากเป็นรัฐบาล รวมไปถึงกฎหมายและคำสั่ง คสช.หลายฉบับที่ออกในยุคของเขา รวมไปถึงอีกหลายโครงการที่แม้ว่ายังไม่แน่ชัด แต่ความหมายก็คือหากมีการรื้อ นั่นก็ย่อมมีผลกระทบอย่างอื่นตามมา และอาจรวมไปถึงรายการ “หาเรื่องเช็กบิล” ทำลายเครดิตให้เสียหาย ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็ประกาศย้ำหลายครั้งแล้วว่ายอมให้เกิดขึ้นไม่ได้ แต่ทุกอย่างก็ต้องผ่านการเลือกตั้งให้ชาวบ้านชี้ขาดในวันที่ 24 มีนาคมนี้

นอกจากนี้ การเลือกตั้งยังส่งผลกระทบทั้งในทางตรงและทางอ้อมไปถึง “คนแดนไกล” อย่าง ทักษิณ ชินวัตร และน้องสาว คือ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมไปถึงคนอื่นๆ ในครอบครัวด้วย เพราะหากพรรคในเครือข่ายของพวกเขาไม่ได้จัดตั้งรัฐบาล นั่นก็ย่อมหมายความว่า โอกาสในนิรโทษกรรมความผิดแล้วได้กลับบ้านอย่างเท่ ต้องดับวูบลง อีกทั้งยังมีผลต่ออิทธิพลทางการเมือง เพราะยิ่งทอดเวลาเนิ่นนานออกไปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเบาบางลงไปเรื่อยๆ ดังจะเห็นได้จากในยุคของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ที่คดีของ ทักษิณ และคนในครอบครัวล้วนอยู่ในศาลแล้วทั้งสิ้น รวมไปถึงออกกฎหมายให้พิจารณาลับหลังจำเลยได้ หรือแม้กระทั่งมีกฎหมายที่ห้ามคนที่หลบหนีคดีส่งทนายมาฟ้องร้องคนอื่นได้อีกต่อไป ยกเว้นต้องมาปรากฏตัวด้วยตัวเองที่ศาลเท่านั้น หรือแม้แต่คดีทุจริตไม่มีอายุความ เป็นต้น

ที่น่าสนใจก็คือในการเลือกตั้งคราวนี้ ปรากฏว่า บรรดาแกนนำคนเสื้อแดงหรือมวลชนที่เคยสนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร ต่างแยกย้ายกันไป ไม่เป็นเอกภาพเหมือนก่อน ดังนั้น หากเวลาผ่านไปอีก 4-5 ปี มันก็ย่อมส่งผลทางลบต่ออิทธิพลทางการเมืองของ ครอบครัวนี้อย่างแน่นอน

วกกลับมาที่อนาคตทางการเมืองของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่นาทีนี้ถือว่าเป็นเมนหลักอีกคนหนึ่ง และก่อนหน้านี้ก็ได้วางเดิมพันเอาไว้แบบหมดหน้าตักไปแล้ว โดยเฉพาะการประกาศหากพรรคประชาธิปัตย์ได้ ส.ส.ต่ำกว่าร้อยจะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค แม้ว่าจะไม่ได้พูดให้ขาดไปเลยในแบบว่าแม้สมาชิกจะเลือกกลับมาใหม่ก็ไม่รับก็ตาม เพราะที่ผ่านเขาเคยลาออกมาแล้ว แต่ก็รับตำแหน่งใหม่เมื่อสมาชิกโหวตให้กลับมาอีก

แต่คราวนี้บรรยากาศคงจะไม่เหมือนก่อนแล้ว เพราะหากได้ ส.ส.ไม่เข้าเป้าแบบว่าจริง มันก็สะเทือนไปทั้งอนาคตของพรรคและของตัวเขาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากนำพาพรรคประชาธิปัตย์ให้ได้รับเลือกตั้งให้เกินจำนวนร้อยเสียงก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนที่ว่าถึงขั้นชนะเลือกตั้งได้เป็นแกนนำรัฐบาลเพื่อเขาจะได้เป็นนายกฯอีกครั้งนั้นค่อยมาว่ากันอีกทีดีกว่า เพราะเมื่อพิจารณาจากสถานการณ์และบรรยากาศตามความเป็นจริงแล้วถือว่า “ยังห่างไกล”

การประกาศชัดเจน “ไม่เอาลุงตู่” และไม่เอาเพื่อไทย ของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มองในบางมุมมันก็เหมือนกับการบีบให้ต้องตัดสินใจโดยเฉพาะในกลุ่มฐานเสียงที่เคยหนุนทั้ง “ลุงตู่” พรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้ง กปปส.ที่ต่อยอดมาเป็นพรรครวมพลังประชาชาติไทยในเวลานี้ แม้ไม่อยากฟันธงว่าจะเทไปทางไหนมากกว่ากัน แต่เชื่อว่าหลายคนได้ตัดสินใจไปแล้ว

อย่างไรก็ดี หากพิจารณากันถึงความเป็นไปได้ทางการเมืองหลังการเลือกตั้ง หากพรรคประชาธิปัตย์ได้เกินร้อยที่นั่ง ซึ่งนั่นเท่ากับว่า เขาก็น่าจะได้ลุ้นในการรวบรวมเสียงตั้งรัฐบาล และอาจดึงพรรคพลังประชารัฐเข้ามาร่วมก็ได้ แต่แนวทางแบบนี้ยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นได้แค่ไหน และพรรคอื่นจะเอาด้วยหรือไม่ ขณะเดียวกัน ยังมีโอกาสเดดล็อกได้เหมือนกัน

ส่วนอีกด้านหนึ่งหากผลการเลือกตั้งออกมาในแบบที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ต่ำกว่าร้อยที่นั่งแบบนี้ก็ถือว่าอนาคตการเมืองของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็จบเห่ อย่างแรกคือ ต้องออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคก่อน และคราวนี้โอกาสที่สมาชิกจะโหวตกลับมาอีกก็น่าจะยากกว่าคราวก่อน อย่างไรก็ดี หากออกรูปนี้จริงก็ต้องถือว่าเป็นการ “ปลดล็อก” ได้ง่ายขึ้น เพราะประชาธิปัตย์จะเป็น “พรรคตัวแปร” ตามสภาพความเป็นจริง

เพราะหลังจากการประกาศว่าไม่ร่วมกับ “ลุงตู่” ก็มีอดีตรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตผู้สมัครในทีมของ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคในฟากของ กปปส.อย่าง ถาวร เสนเนียม ก็สวนออกมาว่าคำพูดของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไม่ใช่มติพรรค ต้องโหวตกันอีกทีหลังเลือกตั้งก็ถือว่ายืนยันเจตนาชัด ความหมายก็คือหากไม่มี อภิสิทธิ์ ก็ทำให้การร่วมกับ “ลุงตู่” ง่ายขึ้น แต่ประชาธิปัตย์ต้องได้เสียงต่ำกว่าร้อยที่นั่งก่อน

ดังนั้น หากพิจารณาตามสถานการณ์ในเวลานี้ ถือว่าการเลือกตั้งวันที่ 24 มีนาคมนี้ จะเป็นการชี้อนาคตทางการเมืองที่มีเดิมพันสูงอย่างน้อยสองคน คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และยังสะเทือนไปถึง ทักษิณ ชินวัตร ด้วย หาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้ไปต่อ งานนี้ก็ต้องรอลุ้นกันในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าแล้ว !!


กำลังโหลดความคิดเห็น