xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” ยันเพิ่มงบทหารตามรายได้ประเทศ อัดพรรคการเมืองใช้หาเสียงสร้างความเกลียดชัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ประยุทธ์” ยันแบ่งประมาณให้ทุกกระทรวงเพิ่มขึ้น ตามรายได้ประเทศที่เพิ่มขึ้น ไม่อยากให้พรรคการเมืองใช้เรื่องงบทหารหาเสียงสร้างความเกลียดชัง ลั่นถามใครที่กำลังมุ่งทำลายทหารและสถาบันให้ช่วยคิดดู

วันที่ 22 ก.พ. 2562 เวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ช่วงหนึ่งว่า งบประมาณค่าใช้จ่ายทุกกระทรวง ทั้งฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายอื่นๆ ให้ดูจากข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร รายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นหรือไม่ ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน และการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละกระทรวงมีการเพิ่มขึ้นอย่างมีสัดส่วนสัมพันธ์กันอย่างไร ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายความมั่นคง แต่ทุกกระทรวง ย่อมกำหนดสัดส่วนในงบประมาณ รายรับ-รายจ่ายอย่างชัดเจน

นายกฯ กล่าวอีกว่า รัฐบาลทุกรัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทุกหน่วยงาน ทุกกิจกรรม ทั้งในส่วนของประชาชน ในส่วนของความมั่นคง พลเรือน ตำรวจ ทหาร ซึ่งจะเห็นได้ว่างบประมาณที่ลงไปสู่ประชาชนมากกว่าเดิมในทุกมิติ ทั้งระบบงานในปัจจุบัน และการลงทุนเพื่อสร้างอนาคต สร้างรายได้ให้กับประเทศ

“ไม่อยากให้นักการเมือง พรรคการเมือง นำมาหาเสียงที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน จนนำมาซึ่งการสร้างความเกลียดชัง โดยไม่มีหลักการ ไม่เข้าใจข้อกฎหมาย ไม่เข้าใจ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ ซึ่งรัฐบาลนี้ยังไม่ได้ทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้น หรือกองทุนเงินสำรองของประเทศลดน้อยลงไปแต่อย่างใด” พล.อ.ประยุทธ์ระบุ

นายกฯ กล่าวด้วยว่า การใช้จ่ายงบประมาณด้านความมั่นคงก็ใช้งบประมาณในส่วนที่ได้รับการจัดสรร ใช้ในการซ่อมแซม จัดซื้อ จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อให้สามารถดำรงสภาพและเสถียรภาพของกองทัพของเราทุกคน ดังนั้น สิ่งที่คนไทยควรระลึกถึง คิดให้ถูกต้อง ก็คือความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ ศักยภาพ ความสงบเรียบร้อยปลอดภัย เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ ถ้าบ้านเมืองไม่มีความมั่นคง ไม่มีเสถียรภาพ เราก็จะทำอะไรอื่นๆ ไม่ได้เลย และเราก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศอีกด้วย

“สิ่งที่หลายคนพยายามจะโจมตี ก็ให้ดูว่ามีความมุ่งหมายอย่างไร คืออะไร วันนี้มีเพียงทหารและสถาบันที่ยังเข้มแข็งอยู่ จะมีใครที่มุ่งจะทำลายสองสิ่งนี้อยู่หรือไม่ ช่วยคิดดูนะครับ” นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า ขอเรียนว่าผลการจัดอันดับต่างๆ ของประเทศไทยในระดับโลกในปี 2561 ได้รับการปรับอันดับดีขึ้นในหลายๆ ด้าน อาทิ การวัดประสิทธิภาพระบบลอจิสติกส์ระหว่างประเทศ ดีขึ้นมาถึง 13 อันดับ มาอยู่ที่อันดับที่ 32 การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลก 4.0 ดีขึ้น 2 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 32 ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจดีขึ้นถึง 20 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 26 นั้น ล้วนเป็นผลโดยตรงและโดยอ้อม จากการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

อยากให้ประชาชนคนไทยมองโลกให้กว้าง ในประเทศอื่นๆ ว่าเขามีการเมือง เศรษฐกิจ วิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง ซึ่งแต่ละประเทศก็มีรากฐาน มีเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ มีวัฒนธรรม ขนบธรมเนียมที่แตกต่าง ตนไม่ต้องการสร้างการเปรียบเทียบ แต่อยากให้รับรู้ภาพกว้างไปพร้อมๆ กันด้วย เราจะได้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทยของเรา

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ขอให้ทุกคนหนักแน่น ใช้วิจารณญาณในการรับและส่งต่อข้อมูลข่าวสาร และช่วยกันรักษาบรรยากาศแห่งการสามัคคีปรองดองของคนในชาติต่อไป
คำต่อคำ : ศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน [22 กุมภาพันธ์ 2562]



สวัสดีครับ พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน จากในอดีตที่ผ่านมา ถนน ทางรถไฟ สายไฟฟ้า จะเป็นดัชนีชี้วัดการนำพาความเจริญไปสู่ท้องถิ่นที่อยู่ห่างไกล แต่ในยุคปัจจุบันยุคดิจิทัล แม้ดัชนีชี้วัดความเจริญจะไม่แตกต่างจากเดิมไปมากนัก แต่ด้วยความซับซ้อน และการแข่งขันที่สูงในบริบทของโลกที่ผันผวน และเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้รัฐบาลนี้จำเป็นต้องเร่งพัฒนาขีดความสามารถในด้านต่างๆ เพื่อที่จะนำพาประเทศก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง และยกระดับการพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด โดยให้ความสำคัญกับการวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม การพัฒนาทุนมนุษย์ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการลงทุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อจะก้าวไปสู่กลุ่มประเทศที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ของประเทศที่หยุดนิ่งมากว่า 10 ปี อาทิ

1.การพัฒนาโครงข่ายคมนาคมและขนส่งแบบไร้รอยต่อ เพื่อเชื่อมไทยเชื่อมโลก และปรับสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม และบริการในอนาคต

2.การพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม ได้แก่ การขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตประชารัฐครอบคลุมทุกหมู่บ้าน การลงทุนเครือข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ การพัฒนาระบบดาวเทียมสำรวจเพื่อการพัฒนา

และ 3.การปรับโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับรูปแบบการค้าการเงิน การทำธุรกรรม สัญญา การบริหารจัดการและการให้บริการภาครัฐแบบดิจิทัลยุคใหม่ รวมไปถึงขยายกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ให้ทันสมัยและเป็นสากลอีกด้วย สิ่งเหล่านี้จะเป็นการวางรากฐานการพัฒนา เพื่อวันข้างหน้าทั้งสิ้น

พี่น้องประชาชนที่รักครับ นับตั้งแต่วิกฤตการเงินโลกในปี 2551 เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการหดตัวของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะเรื่องการส่งออก ซึ่งได้เข้ามาเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาคเอกชนไทยชะลอการลงทุน อีกทั้งยังมีปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองในช่วงถัดมา ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนยังไม่ดีนัก ภาครัฐจึงได้เข้ามามีบทบาทช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และเร่งผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนตามมา

ทั้งนี้ งานศึกษาหลายชิ้นชี้ว่า การลงทุนภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นได้ อีกทั้งจะช่วยกระตุ้นความต้องการต่อสินค้า และบริการของประชาชน ช่วยลดต้นทุนของการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะด้านการขนส่ง ซึ่งจะเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ช่วยสร้างโอกาสทางธุรกิจที่เป็นการขยายโครงข่ายคมนาคม ซึ่งจะเอื้อให้เกิดการกระจายตัวของความเจริญไปยังชนบท รวมทั้งช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับภาคเอกชน และการสร้างบรรยากาศการลงทุนที่ดีอีกด้วย

อย่างไรก็ดี การลงทุนภาครัฐถือเป็นอีกค่าใช้จ่ายที่จะส่งผลกระทบต่อหนี้สาธารณะของประเทศ โดยในปีงบประมาณ 2561 ที่ผ่านมา จากรายจ่ายประจำ และรายจ่ายลงทุนของภาครัฐ มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 73 และ 22 ของงบประมาณทั้งหมดตามลำดับ ซึ่งการนี้รัฐบาลได้เร่งลงทุนในโครงการต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สัดส่วนการลงทุนภาครัฐปรับขึ้นร้อยละ 5 ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

ขณะที่ล่าสุดประเทศไทยมีหนี้สาธารณะเทียบกับ GDP ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติอยู่ที่ร้อยละ 41.8 ซึ่งแม้จะยังต่ำกว่าเกณฑ์สากลที่ร้อยละ 60 แต่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการรักษาวินัยทางการคลัง เพื่อให้สามารถดำเนินนโยบายต่างๆ ได้อย่างราบรื่น ทั้งในระยะปานกลางถึงระยะยาว โดยจะต้องไม่ให้เกิดภาระหนี้ภาครัฐที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประเทศ อีกทั้งรัฐสามารถที่จะเพิ่มรายได้ และใช้จ่ายงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย

หากจะเปรียบเทียบแล้ว ระดับการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชนของไทยในปัจจุบัน ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ขณะที่การลงทุนในประเทศอื่น ๆ สามารถฟื้นตัวกลับมาลงทุนได้สูงกว่าในช่วงวิกฤตดังกล่าว

โดยประเทศไทย ก็มีความจำเป็นและมีศักยภาพที่จะเร่งกระตุ้นการลงทุนเพิ่มเติม โดยเริ่มจากการลงทุนของภาครัฐภายใต้ความระมัดระวังในเรื่องวินัยการคลัง ด้วยการเร่งหาแหล่งเงินทุนและแนวทางการทำงานในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อช่วยลดทอนการใช้จ่ายภาครัฐที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมีต่อเนื่อง และไม่เป็นภาระของประเทศมากจนเกินไป

ทั้งนี้ แนวทางสำคัญที่รัฐบาลนี้นำมาใช้ดำเนินการเพิ่มขึ้นก็คือ โมเดลธุรกิจแบบร่วมทุน หรือ การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ ที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า PPP ซึ่งเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อจัดทำโครงการโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐ

แต่รัฐมอบหมายให้เอกชนดำเนินการจัดทำโครงการดังกล่าวแทน ผ่านสัญญาร่วมลงทุน โดยเอกชนอาจเข้ามามีส่วนร่วมในการก่อสร้าง การบริหารโครงการ รวมถึงได้รับผลประโยชน์จากโครงการร่วมกับรัฐด้วย ซึ่งการลงทุนในรูปแบบนี้ จะช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณภาครัฐ และหนี้สาธารณะของประเทศได้ รวมถึงช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ เพิ่มขีดความสามารถของประเทศ และยกระดับบริการด้านสาธารณูปโภคให้เพียงพอต่อความต้องการของพี่น้องประชาชน

สำหรับโมเดล PPP นี้ ทำได้หลายรูปแบบ โดยสามารถเลือกใช้ให้เหมาะสมกับประเภทของโครงการ เช่น โครงการรถไฟฟ้า ที่รัฐร่วมลงทุนที่ดินและก่อสร้างให้ ส่วนเอกชนจะเป็นผู้ลงทุนตัวรถ ระบบเดินรถและการเดินรถ ซึ่งเอกชนต้องรับความเสี่ยงจากผลประกอบการ และต้องส่งมอบกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินของโครงการให้แก่ภาครัฐเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาสัญญา เป็นต้น

จึงไม่ต้องกังวลว่ารัฐบาลนี้ จะยกทรัพย์สินของรัฐให้เอกชนไปเลย ที่ผ่านมารัฐบาลนี้สามารถทำให้มีรถไฟฟ้าสำหรับพี่น้องประชาชนในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ได้ทั้งหมด 10 สาย รวมส่วนต่อขยาย เทียบกับก่อนเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่งดำเนินการอยู่เพียง 2 สาย

ทั้งนี้ การให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมนั้น นอกจากจะช่วยลดภาระงบประมาณของภาครัฐดังกล่าวข้างต้น ที่สำคัญที่สุดคือ การให้เอกชนบริหารนั้น ช่วยให้พี่น้องประชาชนได้รับบริการที่ดีจากการบริการของภาคเอกชน ที่ต้องคำนึงถึงคุณภาพการบริการ การแข่งขันกัน แล้วก็ความเป็นมืออาชีพ เพื่อให้มีจำนวนผู้ใช้บริการมากๆ เพราะนั่นเป็นแหล่งรายได้ของเขาด้วย

อย่างไรก็ดี เพื่อให้โมเดล PPP เกิดประโยชน์กับประเทศสูงสุด รัฐบาลให้ความสำคัญกับการจัดทำ PPP ตั้งแต่ขั้นตอนการกำหนดเงื่อนไขการร่วมทุน ที่ต้องไม่เอื้อประโยชน์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมากเกินไป และกำหนดเงื่อนไขโครงการที่ประชาชนจะได้ประโยชน์มากที่สุด รัฐบาลนี้ได้นำเรื่องข้อตกลงคุณธรรม คือการให้มีผู้สังเกตการณ์อิสระร่วมด้วยในกระบวนพิจารณาโครงการร่วมทุน ซึ่งหมายถึง รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการสร้างความโปร่งใส หรือลดความเสี่ยงคอร์รัปชันของโครงการให้มากที่สุด

นอกจากนี้ การติดตามให้ทั้งฝ่ายรัฐ และเอกชน ดำเนินการตามสัญญาที่ให้ไว้ต่อกัน ไม่ให้โครงการสะดุด ก็เป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด เพื่อให้โครงการร่วมทุนเกิดขึ้นได้ตามกำหนดเวลาที่วางไว้

ทั้งนี้ การลงทุนแบบ PPP ไม่เพียงจะช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐได้มากมายแล้ว ก็ยังเปิดโอกาสให้ภาครัฐสามารถบริหารงบประมาณแผ่นดิน ไปเร่งลงทุนในโครงการที่จำเป็นและสำคัญอื่นๆ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับศักยภาพของประเทศในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ด้วย

ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐทั้งปวง จะต้องช่วยกันดูแลให้รายจ่ายประจำ รายจ่ายลงทุน สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพและเบิกจ่ายให้ได้ตามกำหนดเวลา โดยต้องมองภาพแผนการใช้จ่ายในระยะปานกลางถึงระยะยาว ทั้งนี้ ก็เพื่อจะรักษาวินัยการเงินการคลังของประเทศอีกด้วย

สำหรับกรณีงบประมาณค่าใช้จ่ายทุกกระทรวง ทั้งฝ่ายความมั่นคง และฝ่ายอื่นๆ ให้ดูจากข้อเท็จจริงว่าเป็นอย่างไร รายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นหรือไม่ ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปัจจุบัน และการจัดสรรงบประมาณให้แต่ละกระทรวงมีการเพิ่มขึ้นอย่างมีสัดส่วนสัมพันธ์กันอย่างไร ไม่ใช่เฉพาะฝ่ายความมั่นคง แต่ทุกกระทรวง ย่อมกำหนดสัดส่วนในงบประมาณ รายรับ-รายจ่ายอย่างชัดเจน รัฐบาลทุกรัฐบาลจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับทุกหน่วยงาน ทุกกิจกรรม ทั้งในส่วนของประชาชน ในส่วนของความมั่นคง พลเรือน ตำรวจ ทหาร ซึ่งจะเห็นได้ว่างบประมาณที่ลงไปสู่ประชาชนมากกว่าเดิมในทุกมิติ ทั้งระบบงานในปัจจุบัน และการลงทุนเพื่อสร้างอนาคต สร้างรายได้ให้กับประเทศ ไม่อยากให้นักการเมือง พรรคการเมือง นำมาหาเสียงที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน จนนำมาซึ่งการสร้างความเกลียดชัง โดยไม่มีหลักการ ไม่เข้าใจข้อกฎหมาย ไม่เข้าใจ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือ พ.ร.บ.การเงินการคลังของรัฐ ซึ่งรัฐบาลนี้ยังไม่ได้ทำให้หนี้สาธารณะสูงขึ้น หรือกองทุนเงินสำรองของประเทศลดน้อยลงไปแต่อย่างใด

การใช้จ่ายงบประมาณด้านความมั่นคงก็ใช้งบประมาณในส่วนที่ได้รับการจัดสรร ใช้ในการซ่อมแซม จัดซื้อ จัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ เพื่อให้สามารถดำรงสภาพและเสถียรภาพของกองทัพของเราทุกคน ดังนั้น สิ่งที่คนไทยควรระลึกถึง คิดให้ถูกต้อง ก็คือความมั่นคง ความมีเสถียรภาพ ศักยภาพ ความสงบเรียบร้อยปลอดภัย เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ ถ้าบ้านเมืองไม่มีความมั่นคง ไม่มีเสถียรภาพ เราก็จะทำอะไรอื่นๆ ไม่ได้เลย และเราก็ต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับนานาประเทศอีกด้วย

สิ่งที่หลายคนพยายามจะโจมตี ก็ให้ดูว่ามีความมุ่งหมายอย่างไร คืออะไร วันนี้มีเพียงทหารและสถาบันที่ยังเข้มแข็งอยู่ จะมีใครที่มุ่งจะทำลายสองสิ่งนี้อยู่หรือไม่ ช่วยคิดดูนะครับ

สุดท้ายนี้ ผมขอเรียนว่าผลการจัดอันดับต่างๆ ของประเทศไทยในระดับโลกในปี 2561 ได้รับการปรับอันดับดีขึ้นในหลายๆ ด้าน อาทิ การวัดประสิทธิภาพระบบลอจิสติกส์ระหว่างประเทศ ดีขึ้นมาถึง 13 อันดับ มาอยู่ที่อันดับที่ 32 การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลก 4.0 ดีขึ้น 2 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 32 ความยากง่ายในการประกอบธุรกิจดีขึ้นถึง 20 อันดับ มาอยู่ในอันดับที่ 26 นั้น ล้วนเป็นผลโดยตรงและโดยอ้อม จากการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศตามที่ผมได้กล่าวมาในช่วงแรก ผมอยากให้ประชาชนคนไทยมองโลกให้กว้าง ในประเทศอื่นๆ ว่าเขามีการเมือง เศรษฐกิจ วิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรบ้าง ซึ่งแต่ละประเทศก็มีรากฐาน มีเอกลักษณ์ของแต่ละประเทศ มีวัฒนธรรม ขนบธรมเนียมที่แตกต่าง ผมไม่ต้องการสร้างการเปรียบเทียบ แต่อยากให้รับรู้ภาพกว้างไปพร้อมๆ กันด้วย เราจะได้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นไทยของเรา

สำหรับช่วงท้ายนี้ผมอยากให้พี่น้องประชาชนได้ชมวีดิทัศน์ที่เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานด้านต่างๆ ดังกล่าว ได้แก่

1. สี่ปีและในอนาคตคมนาคมไทย เพื่อความสุขของประชาชน ที่จะแสดงให้เห็นว่าคนไทยจะได้อะไรจากการเร่งรัดลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลนี้

2. โครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน บนเส้นทางสายสำคัญในกรุงเทพมหานคร ระยะทางกว่า 200 กิโลเมตร หลังจากที่หยุดชะงักมานานกว่า 30 ปี โดยรัฐบาลนี้เร่งรัดให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี จากแผนเดิม 10 ปี รวมความไปถึงในพื้นที่อื่นๆ ด้วย ในหลายๆ จังหวัดก็มีการร้องขอขึ้นมา ก็จะได้รับการพิจารณาต่อไป เพื่อจะทำให้พื้นที่โดยรอบได้มีทัศนียภาพที่สวยงาม ส่งเสริมให้เกิดการเติบโตทางธุรกิจท่องเที่ยว และเกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อประเทศไทย

ขอบคุณนะครับ ขอให้ทุกคนหนักแน่น ใช้วิจารณญาณในการรับและส่งต่อข้อมูลข่าวสาร และช่วยกันรักษาบรรยากาศแห่งการสามัคคีปรองดองของคนในชาติต่อไป ขอบคุณ สวัสดีครับ


กำลังโหลดความคิดเห็น