xs
xsm
sm
md
lg

“มูลนิธิผู้บริโภคฯ” จี้ อย.เร่งแก้ปัญหา “นม” บางยี่ห้อ โภชนาการไม่ตรงข้างกล่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“มูลนิธิผู้บริโภคฯ” จี้ อย.เร่งแก้ปัญหา “นม” บางยี่ห้อ โภชนาการไม่ตรงข้างกล่อง หลังเคยส่งเรื่องให้เกือบปีแต่ไร้ความคืบหน้า ล่าสุดประชาชนยื่นร้องเรียนสินค้าไม่ได้มาตรฐาน-ผิดฉลากเพิ่มขึ้นกว่า 17% แนะผู้บริโภคหากภาครัฐยังนิ่งเฉย ต้องหันไปพึ่งกระบวนการยุติธรรม
น.ส.นฤมล เมฆบริสุทธิ์ (ขวา) หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
น.ส.นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยภายหลังเป็นตัวแทนมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค รับหนังสือร้องเรียนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของนมบางยี่ห้อจากภาคประชาชน ที่ระบุว่า เป็นนมสด 100% ชนิดกล่อง ที่มีฉลากข้อมูลทางโภชนาการไม่ตรงตามที่ฉลากที่ระบุไว้ข้างกล่องว่า กรณีที่เกิดขึ้นเข้าข่ายการกระทำผิดประกาศสำนักงาน อย.หลายเรื่อง อาทิ สินค้าไม่ได้มาตรฐาน สินค้าผิดฉลาก หรือโฆษณาเกินความเป็นจริง มูลนิธิฯได้เคยรวบรวมเรื่องร้องเรียนกรณีใกล้เคียงกันนี้ ส่งให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อให้พิจารณาไปแล้วตั้งแต่เมื่อเดือน มี.ค.61 แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากทาง อย.เลย ขณะเดียวกัน ก็มีเรื่องร้องเรียนลักษณะนี้เข้ามาที่มูลนิธิฯอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนอกจากเราจะส่งเรื่องเพิ่มเติมไปยัง อย.แล้ว ก็จะได้มีทำเรื่องติดตามทวงถามความคืบหน้าว่า อย.ดำเนินการแล้วหรือไม่อย่างไร และควรมีการแจ้งความคืบหน้า หรือผลสรุปให้ผู้บริโภครับทราบโดยเร็ว เนื่องจากนมเป็นสินค้าบริโภค ที่เป็นอาหารควบคุมเฉพาะ ที่ต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวด เพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคสินค้าที่ถูกต้องเป็นธรรม ไม่เป็นอันตรายต่อชีวิต หากการควบคุมสินค้าบริโภคหรืออาหารมีมาตรฐานและทำได้จริง สถิติการร้องเรียนด้านสินค้าบริโภคในแต่ละปีก็ควรจะน้อยลง แต่ปรากฏว่าตั้งแต่ปี 2560 ถึงปัจจุบันเรื่องร้องเรียนจากประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือผิดฉลาก มีมากขึ้นถึง 17%

“มูลนิธิฯจะส่งเรื่องตรวจสอบไปยัง อย.อีกครั้งหนึ่งว่าการแก้ไขเป็นในรูปแบบใด ซึ่งหาก อย.และเจ้าของผลิตภัณฑ์ยังคงเพิกเฉยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น ทางภาคประชาชนก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลได้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัยและผู้บริโภคได้รับผลกระทบ ผู้บริโภคก็สามารถออกมาเรียกร้องสิทธิที่ตัวเองควรจะได้รับได้เช่นกัน” น.ส.นฤมล ระบุ

น.ส.นฤมล กล่าวต่อว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาสินค้านมสด 100% ไม่ตรงตามฉลากนั้น มีแนวทางง่ายๆ คือ ผลิตภัณฑ์ต้องตรงกับฉลากข้างกล่อง ไม่ปรับปรุงคุณภาพนม ก็ต้องปรับข้อมูลโภชนาการข้างกล่องให้ตรงตามความจริง นอกเหนือจากการส่งเรื่องให้ อย.แล้ว มูลนิธิฯก็จะสุ่มตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการร้องเรียนว่ามีการแก้ไขหรือไม่อย่างไร และการนำผลิตภัณฑ์ไปส่งตรวจอีกครั้งหนึ่ง เพราะทางมูลนิธิฯยังไม่ทราบว่าทาง อย.มีคำสั่งอย่างไรต่อเจ้าของผลิตภัณฑ์ ตลอดจนทำหนังสือไปเพื่อสอบถามทางผู้ผลิตและผู้จำหน่ายว่า มีการแก้ไขผลิตภัณฑ์แล้วหรือยังด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น