xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เทงบบัตรทอง 1.91 แสนล้าน ได้เพิ่ม 3.6 พันบาทต่อหัว สปสช.ชี้ปกติเหตุผู้ป่วยลด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รองโฆษกรัฐเผย ครม.อนุมัติงบบัตรทอง 1.91 แสนล้าน ผู้ป่วยได้เพิ่ม 3.6 พันบาทต่อหัว สปสช.แจงเป็นเรื่องปกติ เหตุยอดผู้ป่วยลดเหลือ 48.26 ล้านคน จาก 48.5 ล้านคน แต่หวังไม่ต้องของบกลางเพิ่ม เหตุผู้สูงอายุเพิ่มเข้า รพ.บ่อย

วันนี้ (12 ก.พ.) ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ครม.อนุมัติงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2563 วงเงิน 1.91 แสนล้านบาท เพิ่มจากปี 2562 จำนวน 6,500 ล้านบาท จากที่ขอมา 2.01 แสนล้านบาท โดยเป็นงบสำหรับบริการเหมาจ่ายรายหัว 1.73 แสนล้านบาท ครอบคลุมค่าใช้จ่ายหน่วยบริการในส่วนเงินเดือน ค่าตอบแทนบุคลากรและค่าบริการสาธารณสุขในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ สำหรับประชาชนผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) 48.26 ล้านคน คิดเป็นอัตราเหมาจ่ายรายหัว 3,600 บาท/หัว เพิ่มขึ้นจากปี 2562 จำนวน 173 บาท/หัว ทั้งนี้ย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพประชาชน เชื่อว่าวงเงินที่อนุมัตินี้จะทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการสาธารณสุขได้อย่างถ้วนหน้า ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบการเงินการคลังของประเทศ

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี รองเลขาธิการคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สำหรับงบฯ ปี 2563 1.91 แสนล้านบาทนั้นจะเป็นเงินที่เข้ากองทุนเหมาจ่ายรายหัว 1.73 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นเงินนอกกองทุนเหมาจ่ายฯ รวมถึงงบบริหาร เช่น งบบริการสาธารณสุขผู้ติดเชื้อเอชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ งบบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง งบบริการบริการควบคุมป้องกันความรุนแรงโรงเรื้อรัง งบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร พื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ งบค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงในชุมชน และงบค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์ประจำครอบครัว

นพ.จเด็จกล่าวว่า ทั้งนี้ในส่วนของงบเหมาจ่ายฯ นั้นจะพัฒนาเพิ่มสิทธิ์ทั้งการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค อาทิ เพิ่มการตรวจคัดกรองยีน HLA-B*1520 ก่อนเริ่มยา Carbamazepine เพื่อป้องกันการแพ้ยาชนิดรุนแรง, ปรับการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในประชากร อายุ 50-70, เพิ่ม 12 รายการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ เพิ่มการผ่าตัดผ่านกล้องและอุปกรณ์ทันสมัยเพื่อให้กลับบ้านได้เร็วขึ้น, เพิ่มยารักษาโรคอัลไซเมอร์ มะเร็งไทรอยด์ โรคที่เกิดจากการทำลายเส้นประสาท และเพิ่มสูตรยาต้านไวรัสเอดส์ที่ดื้อยา, เพิ่มเครื่องตรวจติดตามค่าน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวานเด็ก, เพิ่มวัคซีนป้องกันโรคท้องร่วงในเด็ก และขยายสิทธิการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดในกลุ่มผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติ ปรับระบบหมอครอบครัวดูแลผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงครอบคลุม ข้าราชการ และประกันสังคมด้วยซึ่งตรวจสอบแล้วไม่มีการซ้ำซ้อน และการเพิ่มโอกาสเข้าถึงบริการแพทย์แผนไทย ทั้งยาสมุนไพร และหัตถารการรักษาด้วยการแพทย์แผนไทย

“เดิมเราเสนอของบฯ ไปมากกว่านั้น แต่จากการพิจารณาโดยคาดการการเข้ารับการรักษาในอนาคต คาดว่าจะอยู่ที่ 3.73 ครั้ง/คน/ปี ขณะที่จำนวนผู้มีสิทธิปัจจุบัน 48.26 ล้านคน ลดลงจากประมาณ 48.5 ล้านคน เพราะส่วนหนึ่งเข้าสู่ระบบแรงงาน จึงได้รับงบมาที่ 1.91 แสนล้านบาท เป็นเรื่องปกติ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่ามีอัตราการเข้ารักษามากกว่าคนปกติ โดยผู้สูงอายุเข้ารพ.ประมาณ 7 ครั้ง/คน/ปี ในขณะที่ค่ารักษาก็จะสูงด้วย แต่อย่างที่บอกว่าวงเงินที่อนุมัตินั้นผ่านการพิจารณาแล้ว แต่ก็คาดว่าอนาคตเราจะไม่ต้องของบกลางอีก เพราะเมื่อปี 2562 ก็ไม่ได้ขอเพิ่ม มีเพียงปีงบ 2561 เท่านั้นที่มีการของบกลางเพิ่มถึง 5,000 ล้านบาท” นพ.จเด็จกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น