xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองสูงสุดยกฟ้องร้องเพิกถอนสัมปทาน “เอราวัณ-บงกช” ชี้ กก.ปิโตรเลียมมีอำนาจโดยชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“ศาลปกครองสูงสุด” พิพากษายกฟ้องคดีร้องเพิกถอนประกาศสัมปทานแหล่งเอราวัณและบงกช ชี้เป็นอำนาจตามกฎหมายของคณะกรรมการปิโตรเลียม

วันนี้ (11 ก.พ.) ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีหมายเลขแดง ที่ ฟร.1/2562 ซึ่งมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยื่นฟ้องคณะกรรมการปิโตรเลียมคณะรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมกันออกประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียมเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ ลงวันที่ 19 ต.ค. 2560 ขัดต่อกฎหมาย เอื้อประโยชน์แก่ผู้รับสัมปทานเดิม โดยขอให้ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม ดังกล่าวและกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. 2561

ทั้งนี้ ศาลปกครองสูงสุดให้เหตุผลว่าการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมโดยการให้สัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการนั้นการได้ผลประโยชน์และภาระหน้าที่ของรัฐจะแตกต่างกัน ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตสามารถจูงใจผู้ประกอบการได้มากกว่าสัญญาจ้างบริการ และพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการปิโตรเลียมโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการว่าที่ใดสมควรดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบใด

ดังนั้น การที่คณะกรรมการปิโตรเลียมใช้ดุลพินิจกำหนดให้การสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมที่สามารถดำเนินการในรูปแบบสัญญาจ้างบริการเฉพาะในพื้นที่ที่มีการสำรวจพบเป็นปริมาณที่มากกว่าที่มีการค้นพบแล้วในประเทศไทย จึงมีเหตุผลสนับสนุนและไม่อาจรับฟังได้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อีกทั้งตามประกาศพิพาทกำหนดให้มีการทบทวนโอกาสพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทยทุกๆ 3 ปี โอกาสที่รัฐจะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัญญาจ้างบริการก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ส่วนกรณีกฎกระทรวงกำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต พ.ศ. 2561 นั้น แบบของสัญญาตามกฎกระทรวงดังกล่าวจึงเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำพิพากษายกฟ้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น