xs
xsm
sm
md
lg

กห.แจงแก้ปัญหาค้ามนุษย์คืบ ตัดวงจรรุกค้นหาช่วยเหลือ เข้มเฝ้าระวังเด็ก-สตรี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (แฟ้มภาพ)
โฆษก กห. เผย แก้ปัญหาค้ามนุษย์คืบ ย้ำ ร่วมกันตัดวงจร รุกค้นหาและช่วยเหลือเหยื่อ เข้มมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันเชิงรุกกับกลุ่มเด็กและสตรีมากขึ้น

วันนี้ (19 ธ.ค.) พล.ท.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม (กห.) เปิดเผยว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้ประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ณ ศาลาว่าการกลาโหม โดยได้ร่วมกันพิจารณา ขับเคลื่อนแก้ปัญหาและการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ของประเทศไทย ประจำปี 61 เพื่อจัดส่งให้สหรัฐอเมริกา

โดยสรุปภาพรวมการดำเนินงาน จำนวนคดีค้ามนุษย์ในปี 60-61 มีแนวโน้มลดลง เมื่อเทียบกับ ปี 58-59 สถิติคดีด้านการบังคับใช้แรงงานเพิ่มขึ้น จากนโยบายรัฐบาลและมาตรการบังคับใช้กฎหมายจริงจัง สามารถทำลายเครือข่ายกลุ่มผู้มีอิทธิพล ช่วยเหลือผู้เสียหายและดำเนินคดีกับผู้กับผู้ต้องหาได้เพิ่มมากขึ้น มีการลงโทษ และดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำผิดอย่างเด็ดขาด และมีการอายัดทรัพย์สิน มูลค่ากว่า 471 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยรูปแบบการค้ามนุษย์ที่พบมาก ได้แก่ การค้าประเวณี การบังคับใช้แรงงาน และ ขอทาน เป็นต้น

พล.อ.ประวิตร ได้แสดงความขอบคุณ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ตำรวจ รวมทั้งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันขับเคลื่อนแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ตามนโยบายของรัฐบาลตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เป็นผลให้การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศไทยมีพัฒนาการที่ดีขึ้น

พร้อมกล่าวย้ำว่า อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาระยะยาว มีความจำเป็นต้องเพิ่มบทบาทความร่วมมือกับมิตรประเทศ และ องค์กรพัฒนาเอกชน NGOs มากขึ้น รวมทั้งต้องพัฒนาระบบงานและกลไกบริหารจัดการ ที่มุ่งเน้น ประสิทธิภาพ คุณภาพ และความยั่งยืน ควบคู่ไปกับการเพิ่มความเข้มข้นดำเนินงานมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันเชิงรุกให้ครอบคลุมเป้าหมายในทุกพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะ กลุ่มเสี่ยงในเด็กและสตรี ทั้งการค้าประเวณีเด็ก การกดขี่ใช้แรงงานเด็กที่เป็นอันตรายต่อพัฒนาการเด็กอย่างร้ายแรง การนำคนมาขอทาน รวมทั้งการใช้แรงงานบังคับในภาคประมงและอุตสาหกรรม

ขณะเดียวกัน ขอให้ พม. และ ตำรวจ ให้ความสำคัญกับมาตรการเชิงรุก ในการค้นหาและช่วยเหลือเหยื่อออกมาจากวงจรการค้ามนุษย์ และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นกับผู้กระทำผิดในทุกราย ควบคู่ไปกับ การสร้างการรับรู้และความเข้าใจกับเครือข่ายผู้ประกอบการและภาคประชาชนมากขึ้น เพื่อร่วมแจ้งเบาะแส และแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ที่มุ่งสู่ความยั่งยืนร่วมกัน


กำลังโหลดความคิดเห็น