xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ถกพรรควางกรอบใช้จ่ายหาเสียงส่วนใหญ่หนุนไม่เกิน 2 ล้านต่อคน-พรรคไม่เกิน 70 ล.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


กกต. ถก 77 พรรคการเมือง วางกรอบค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง ป้ายหาเสียง โดยเฉพาะการหาเสียงผ่านโซเซียล หากทำผิดสั่งลบและดำเนินคดี เผย 11 พรรคเห็นชอบวงเงินค่าใช้จ่าย 2 ล้านบาทต่อคน พรรคไม่เกิน 70 ล้าน “ชูศักดิ์” ไม่เห็นด้วยจำกัดจำนวนป้าย ภท.- ชทพ. หวั่นแก้ปมเบอร์เดียว ทำเลื่อนเลือกตั้ง


วันนี้ (19 ธ.ค.) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดประชุมหารือระหว่าง กกต. พรรคการเมือง และสื่อมวลชน ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 เพื่อเตรียมความพร้อมในการเลือกตั้ง โดยมีพรรคการเมืองตอบรับเข้าร่วมหารือจำนวน 77 พรรค อาทิ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรคไทยรักษาชาติ พรรคอนาคตใหม่ พรรคชาติไทยพัฒนา และ พรรคพลังชล

โดยการหารือ กกต. ได้กำหนดประเด็นหารือไว้ 3 เรื่อง ได้แก่ 1. การกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแบบแบ่งเขตคนละไม่เกิน 2 ล้านบาท และกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองตามสัดส่วนการส่งผู้สมัคร ตั้งแต่ 10-70 ล้านบาท ทั้งนี้ จากการที่กกต. ส่งหนังสือสอบถามไปยังพรรคการเมือง พบว่า มีพรรคตอบกลับมาจำนวน 13 พรรค โดย 11 พรรค เห็นชอบตามวงเงินที่ กกต. เสนอ มีเพียง 2 พรรคที่เสนอให้ลดกรอบค่าใช้จ่ายลง

2. การกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำ การกำหนดสถานที่ หรือที่ปิดประกาศแผ่นป้ายโฆษณาการเลือกตั้ง โดยกำหนดขนาดป้ายหาเสียงให้เป็นแนวตั้งกว้างไม่เกิน 30 เซนติเมตร สูงไม่เกิน 42 เซนติเมตร หรือกระดาษขนาดเอ 3 รวมแล้วไม่เกิน 10 เท่าของจำนนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง สำหรับเนื้อหาในป้ายหาเสียง สามารถระบุชื่อ ภาพถ่ายผู้สมัคร ภาพถ่ายผู้สมัครคู่กับหัวหน้าพรรค หรือบุคคลที่นักการเมืองมีมติเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ชื่อพรรคการเมืองและโลโก้พรรค หมายเลขผู้สมัคร ข้อความอื่นได้เท่าที่จำเป็น

สำหรับการติดแผ่นป้ายหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมือง กำหนดให้เป็นแนวตั้งขนาดความกว้างไม่เกิน 130 เซนติเมตร สูงไม่เกิน 245 เซนติเมตร กรณีผู้สมัครจัดทำจำนวนไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง ส่วนพรรคการเมืองจัดทำจำนวนไม่เกิน 1 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเฉพาะที่พรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยเนื้อหาในป้ายหาเสียง สามารถระบุชื่อ ภาพถ่ายผู้สมัคร ภาพถ่ายผู้สมัครคู่กับหัวหน้าพรรค หรือบุคคลที่นักการเมืองมีมติเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรี ชื่อพรรคการเมืองและโลโก้พรรค หมายเลขผู้สมัคร ข้อความอื่นได้เท่าที่จำเป็น

และ 3. การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองแจ้งวิธีการ รายละเอียด ช่องทาง และระยะเวลาการหาเสียงให้ กกต. ทราบ ส่วนบุคคลที่ไม่ใช่ผู้สมัครและพรรคการเมือง สามารถช่วยผู้สมัครและพรรคหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยต้องระบุข้อมูลผู้ดำเนินการที่สามารถเจาะจงตัวตนได้ ระบุผู้จัดทำ และหากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกิน 10,000 บาท ให้ผู้นั้นแจ้งต่อผู้สมัครและพรรคการเมืองทราบ กรณีผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใด กระทำการต้องห้ามตามระเบียบให้ กกต. สั่งให้แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือลบข้อมูล และให้สำนักงาน กกต. แจ้งคำสั่งให้ผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใด ดำเนินการตามคำสั่งนั้นโดยเร็ว กรณีผู้สมัคร พรรคการเมือง หรือผู้ใดไม่ดำเนินการตามคำสั่งให้สำนักงาน กกต. แจ้งต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่

นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณี กกต. ออกร่างระเบียบหาเสียง ที่มีการห้านนำรูปคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคใส่ในป้ายหาเสียงนั้น ว่า พรรคภูมิใจไทยคิดว่าเรามีวิธีการที่จะนำเสนอโดยเน้นการเสนอนโยบายของพรรค ซึ่งอาจจะไม่จำเป็นต้องเสนอภาพบุคคล ต่างจากพรรคอื่นที่อาจจะมีความจำเป็นต้องนำเสนอบุคคลอื่น ดังนั้น เรื่องดังกล่าวเราจึงเห็นว่าไม่มีปัญหากับเรา อย่างไรก็ตาม ไม่คิดว่าการนำเสนอภาพบุคคลอื่นในป้ายหาเสียงจะเป็นการหาคะแนนเสียงที่ได้ผล เพราะวันนี้ประชาชนก็มีความเข้าใจดีว่าพรรคไหนมีใครและเกี่ยวข้องกับพรรคอย่างไร เรื่องนี้จึงไม่ใช่ประเด็นสำคัญ อีกทั้งวิธีการหาคะแนนเสียงในปัจจุบันมีหลายช่องทางที่จะสื่อสารไปยังประชาชนได้ อาทิ ช่องทางออนไลน์ ซึ่งเข้าถึงประชาชนได้แบบตัวต่อตัว และยืนยันว่า เรื่องดังกล่าวผู้สมัครพรรคภูมิใจไทยจะไม่นำไปเป็นประเด็นฟ้องร้องผู้สมัครฝ่ายตรงข้าม เพราะวันนี้พรรคภูมิใจไทยตั้งหน้าตั้งตาหาคะแนนนิยมอย่างเดียว ไม่คิดจะฟ้องใคร

“คิดว่าเรื่องนี้ กกต. คงมองที่ความเหมาะสมว่าการนำเสนอภาพบุคคลอื่นมาอยู่ในป้ายหาเสียงอาจจะเป็นประโยชน์แค่บางพรรค แต่บางพรรคก็ไม่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ อย่างไรก็ตาม กกต. เป็นผู้กำหนดกติกา ให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หากมีเสียงสะท้อนว่าไม่เที่ยงธรรม กกต.ก็ต้องมีเหตุผลชี้แจง” นายศุภชัย กล่าว

เมื่อถามว่า คิดอย่างไรหากมีการเสนอให้ใช้เบอร์เดียวทั้งประเทศ นายศุภชัย กล่าวว่า เรื่องที่น่าเป็นห่วง คือ การแก้ไขเรื่องดังกล่าวจะมีกระบวนการอย่างไร ต้องมีการแก้ไขกฎหมายหรือไม่ และหากต้องแก้ไขกฏหมายแล้วการเลือกตั้งจะต้องเลื่อนออกไปหรือไม่ ซึ่งหากในที่สุดบอกว่าจะให้เป็นเบอร์เดียวกันทั้งประเทศแล้วการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป ก็จะเป็นการกระชากอารมณ์ประชาชน ซึ่งพรรคภูมิใจไทยก็ไม่คิดจะเป็นประโยชน์ ส่วนเรื่องบัตรเลือกตั้งที่มีโลโก้และชื่อพรรคนั้นมองว่าหากเป็นติกาที่เท่าเทียมกัน ก็ไม่มีใครได้เปรียบเสียเปรียบ

นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงระเบียบการหาเสียงเลือกตั้ง ว่า มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับป้ายหาเสียง ตั้งแต่เรื่องจำนวน ที่กำหนดให้มีเพียง 2 เท่าของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตนั้น สวนทางกับเขตที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แม้ กกต. จะจัดทำป้ายหาเสียงให้ส่วนหนึ่ง แต่ก็มองว่า กกต. ไม่ควรมายุ่งกับเรื่องนี้ควรทำเฉพาะการกำหนดพื้นที่ติดป้ายเท่านั้น และมีความเป็นห่วงกรณี กกต. ห้ามติดป้ายหาเสียงในรอยต่อเขตเลือกตั้ง โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันความสับสน โดยมั่นใจว่าประชาชนไม่สับสน แต่หากสับสนก็ควรแก้ไขให้มีเบอร์เดียวทั้งประเทศ โดยจะแก้กฎหมายหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับ กกต. ซึ่งการแก้ไขมาตรา 48 พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เป็นทางเดียวที่จะแก้ปัญหาได้

ส่วนรูปที่ปรากฏบนป้ายหาเสียง ที่กำหนดให้ผู้สมัครขึ้นรูปคู่เฉพาะกับหัวหน้าพรรค หรือบุคคลที่เสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีเท่านั้น นายชูศักดิ์ บอกว่า ไม่เป็นห่วงในสาระสำคัญ เพราะประชาชนเข้าใจประวัติพรรคเพื่อไทยอยู่แล้ว แต่มีความเป็นห่วงเกี่ยวกับการแบ่งกลุ่มดีเบตปราศรัยนโยบาย โดยมีข่าวว่าจะแบ่งตามขนาดของพรรคการเมือง ทั้งที่ควรจะใช้วิธีการจับฉลากแบ่งกลุ่มเพื่อให้คละกันทั้งพรรคเล็กและพรรคใหญ่

นายนิกร จำนง ผู้อำนวยการพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวขอบคุณ กกต. ที่กำหนดบัตรเลือกตั้งให้มีทั้งเบอร์ โลโก้ และชื่อพรรค เพื่ออำนวยความสะดวกกับประชาชน แต่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดให้ใช้เบอร์เดียวกันทั่วประเทศ เพราะจำเป็นต้องแก้ไขกฎหมาย ซึ่งจะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป

นายนิกร ยังมองว่า กกต. ไม่มีกฎหมายรองรับจำกัดการ ขึ้นรูปคู่ผู้สมัครในป้ายหาเสียง แต่โดยหลักการแล้ว บุคคลที่จะนำรูปมาคู่กับผู้สมัครควรจะเป็นสมาชิกพรรค แต่ก็มองว่าสามารถนำรูป นายบรรหาร ศิลปอาชา มาขึ้นป้ายหาเสียงคู่กับผู้สมัครได้ เนื่องจากนายบรรหารไม่ได้เป็นบุคคล และไม่สามารถครอบงำพรรคได้

นายแพทย์ วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรคชาติพัฒนา ระบุว่า พรรตยังไม่มีมติเกี่ยวกับการเสนอหรือสนับสนุนบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งนี้

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวก่อนการหารือกับ กกต. ว่า เรื่องค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้ง ทาง กกต. ควรกำหนดกรอบที่จะสามารถอำนวยความสะดวกให้กับพรรคการเมืองหาเสียงได้เต็มที่ และควรมีความชัดเจนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียม โดยการอำนวยความสะดวกควรแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะแรก ช่วงก่อนรับสมัครเลือกตั้ง กกต. ควรให้ความรู้เรื่องระบบเลือกตั้งแบบใหม่, ระยะที่สอง ช่วงรับสมัครเลือกตั้ง ควรตรวจสอบคุณสมบัติให้ชัดเจน ถ้าพบผู้ใดขาดคุณสมบัติก็ควรให้ใบดำทันที และระยะที่ 3 ช่วงหาเสียงเลือกตั้ง หากพบว่ามีผู้กระทำผิด ก็ควรให้ใบส้มทันที เพราะที่ผ่านมา กว่าจะดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้ก็ผ่านพ้นช่วงการเลือกตั้งไปแล้ว

ส่วนเรื่องป้ายหาเสียง และข้อเรียกร้องจากพรรคการเมืองต่างๆ ให้ใช้เบอร์เดียวกันทั้งประเทศ นายชินวรณ์ บอกว่า อยากให้ กกต. ยึดกฎหมายเป็นหลัก เพราะหากให้พรรคการเมืองไปตกลงกันเองตามที่ กกต. บอกมา ไม่สามารถทำได้ เพราะทุกพรรคการเมืองย่อมมีการแข่งขันกัน และโดยภาพรวม หากกติกาสร้างความเท่าเทียมกันให้กับทุกพรรคการเมือง ก็พร้อมยอมรับทุกกติกา








กำลังโหลดความคิดเห็น