xs
xsm
sm
md
lg

“ธีระชัย” ยื่นนายกฯ สอบคนเสนอ ครม.สละสิทธิ์ลงทุนเอราวัณ-บงกช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


อดีต รมว.คลัง ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้สอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องเสนอคณะรัฐมนตรีให้สละสิทธิ์การลงทุนในแหล่งเอราวัณ และ บงกช ชี้ เข้าข่ายผิดกฎหมาย

วันนี้ (17 ธ.ค.) นายธีระชัย ภูวนารถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เป็นรายละเอียดจดหมายเปิดผนึกถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ดังนี้

วันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๖๑

เรื่อง ขอให้พิจารณาสอบสวนลงโทษบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเสนอคณะรัฐมนตรีไม่ใช้สิทธิที่หน่วยงานของรัฐจะเข้าไปร่วมถือหุ้นร้อยละ ๒๕ ในแหล่งเอราวัณและบงกช

กราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

อ้างถึง
๑. ข่าวหนังสือพิมพ์ ฐานเศรษฐกิจ ลงวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ หัวข้อ “ดัน ปตท.สผ.-วายุภักษ์ ร่วมทุนแหล่งปิโตรเลียม”
๒. ข่าว ศูนย์ข่าวพลังงาน ลงวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ หัวข้อ “กฟผ.หมดสิทธิเป็นตัวแทนรัฐถือหุ้นร้อยละ ๒๕ ในแหล่งเอราวัณ บงกช”
๓. หนังสือ คปพ. ที่ คปพ.๑๓๙/๑๗-๒๕๖๑ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ ถึงนายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้ยกเลิกการประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มิชอบและจัดการประมูลขึ้นใหม่

ตามหนังสือ คปพ. ที่ คปพ.๑๓๙/๑๗-๒๕๖๑ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๖๑ ถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งแจ้งท่านว่าการที่คณะรัฐมนตรีมีมติไม่ใช้สิทธิที่หน่วยงานของรัฐจะเข้าไปร่วมถือหุ้นร้อยละ ๒๕ ในแหล่งเอราวัณและ บงกช เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย นั้น ข้าพเจ้าในฐานะอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นผู้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการเงินการคลัง ขอแจ้งข้อมูลแก่ท่านเพิ่มเติมเพื่อปฏิบัติตามอำนาจและหน้าที่ของท่านตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ดังนี้

ข้อ ๑. การไม่ใช้สิทธิในการร่วมถือหุ้นร้อยละ ๒๕ เป็นการผิดกฎหมาย

๑.๑ ตามที่เอกสารเชิญชวนให้ยื่นข้อเสนอ ข้อ ๔.๔.๑๐ การให้หน่วยงานของรัฐเข้าร่วมลงทุน (State Participation) ระบุว่า “กระทรวงพลังงานสงวนสิทธิที่จะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (State Participation) ในสัดส่วนการลงทุนไม่เกินร้อยละ ๒๕ ภายใต้หลักการการร่วมลงทุนอย่างเท่าเทียมกันกับผู้ขอสิทธิที่ได้รับการคัดเลือกโดยผู้ขอสิทธิต้องเสนอหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ ๒๕”นั้น สิทธิการลงทุนดังกล่าวนับเป็นทรัพยสิทธิที่มีมูลค่าตีราคาเป็นเงินได้ และเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลไทยที่ไม่อาจสละทิ้ง และไม่อาจยกประโยชน์ไปให้แก่ผู้อื่นใดที่มิใช่ประชาชนโดยรวม

๑.๒ ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๑ ที่ระบุว่า ในส่วนของการให้หน่วยงานของรัฐเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ ๒๕ นั้น เนื่องจากบริษัทที่ชนะการประมูลทั้งสองแปลง คือบริษัทในเครือของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ถือเป็นหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น ในส่วนของข้อเสนอดังกล่าว บริษัทที่ชนะการประมูลจึงเข้าเงื่อนไขการเข้าร่วมลงทุนโดยหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว โดยในแปลง G๑/๒๕๖๑ (เอราวัณ) ในสัดส่วนร้อยละ ๖๐ และในแปลง G๒/๒๕๖๑ (บงกช) ในสัดส่วนร้อยละ ๑๐๐ แต่การระบุดังกล่าวเป็นการปะปนสิทธิของรัฐบาลไทยกับสิทธิของกลุ่มบริษัท ปตท.สผ.และผู้ร่วมลงทุนต่างประเทศ จึงอาจจะเข้าข่ายเป็นการบิดเบือนเพื่อทำให้คณะรัฐมนตรีหลงผิดเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตน

๑.๓ ข้าพเจ้าขอเรียนว่า สิทธิของรัฐบาลที่จะให้หน่วยงานของรัฐเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วน ร้อยละ ๒๕ นั้น เป็นสิทธิต่างหากจากสิทธิของบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และผู้ร่วมลงทุนต่างประเทศ ไม่ว่าผู้ชนะการประมูลจะเป็นบริษัทต่างชาติหรือเป็นกลุ่มบริษัท ปตท.สผ. รัฐบาลไทยก็ยังมีสิทธิดังกล่าวอยู่เช่นเดียวกัน และการที่ผู้ชนะประมูลเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ก็มิได้ทำให้สิทธิของรัฐบาลไทยหมดไป ทั้งนี้ การที่รัฐบาลไทยใช้สิทธิของรัฐเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ ๒๕ หรือไม่ นั้น มีผลแตกต่างกัน ดังนี้

๑.๓.๑ สำหรับแปลง G๒/๒๕๖๑ (บงกช) หากดำเนินการมติ ครม. สัดส่วนหุ้นสุทธิของรัฐจะมีเพียงแค่ร้อยละ ๓๓.๑ ซึ่งต่ำกว่าสิทธิตามเงื่อนไขในเอกสารเชิญชวนคือร้อยละ ๔๙.๘

(ก) กรณีที่รัฐบาลใช้สิทธิตามเงื่อนไขในเอกสารเชิญชวน กระทรวงการคลังเข้าร่วมลงทุนโดยตรงในบริษัทผู้ผลิตร้อยละ ๒๕ และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ ๗๕

การคำนวณผลประโยชน์ของรัฐบาลไทยในบริษัทผู้ผลิต จะต้องคำนวณด้วยสัดส่วนหุ้นที่กระทรวงการคลังถือผ่าน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ตามลำดับ กล่าวคือเท่ากับ ร้อยละ ๕๑ คูณด้วย ร้อยละ ๖๕ คูณด้วย ร้อยละ ๗๕ ซึ่งจะเท่ากับ ร้อยละ ๒๔.๘ แต่เมื่อรวมกับกระทรวงการคลัง ถือหุ้นโดยตรงอีกร้อยละ ๒๕ สัดส่วนผลประโยชน์ของรัฐบาลไทยโดยรวม จะเท่ากับ ร้อยละ ๔๙.๘

(ข) กรณีที่รัฐบาลไม่ใช้สิทธิตามเงื่อนไขในเอกสารเชิญชวน กระทรวงการคลังไม่เข้าร่วมลงทุนโดยตรงในบริษัทผู้ผลิตร้อยละ ๒๕ แต่ปล่อยให้บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นร้อยละ ๑๐๐

การคำนวณผลประโยชน์ของรัฐบาลไทยในบริษัทผู้ผลิต จะต้องคำนวณด้วยสัดส่วนหุ้นที่กระทรวงการคลังถือผ่าน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ตามลำดับ กล่าวคือเท่ากับ ร้อยละ ๕๑ คูณด้วย ร้อยละ ๖๕ คูณด้วย ร้อยละ ๑๐๐ ซึ่งจะเท่ากับ ร้อยละ ๓๓.๑

ดังนั้น กรณีนี้ กระทรวงการคลังจะเสียหายในสัดส่วนหุ้นร้อยละ ๑๖.๗ (คือ ๔๙.๘ ลบด้วย ๓๓.๑) และน่าจะเข้าข่ายเป็นการยักยอกผลประโยชน์ในสัดส่วนหุ้นร้อยละ ๑๖.๗ ดังกล่าวไปให้แก่ผู้ถือหุ้นเอกชนทั้งในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีบางส่วนเป็นผู้ลงทุนต่างประเทศ

๑.๓.๒ สำหรับแปลง G๑/๒๕๖๑(เอราวัณ) หากดำเนินการมติ ครม. สัดส่วนหุ้นสุทธิของรัฐจะมีเพียงแค่ร้อยละ ๑๙.๙ ซึ่งต่ำกว่าสิทธิตามกฎหมายร้อยละ ๓๙.๙

(ก) กรณีที่รัฐบาลใช้สิทธิตามเงื่อนไขในเอกสารเชิญชวน กระทรวงการคลังเข้าร่วมลงทุนโดยตรงในบริษัทผู้ผลิตร้อยละ ๒๕ และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกลุ่ม บริษัทมูบาดาลา ถือหุ้นร้อยละ ๗๕ (แบ่งสัดส่วนเป็น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร้อยละ ๔๕ และกลุ่ม บริษัทมูบาดาลา ร้อยละ ๓๐)

การคำนวณผลประโยชน์ของรัฐบาลไทยในบริษัทผู้ผลิต จะต้องคำนวณด้วยสัดส่วนหุ้นที่กระทรวงการคลังถือผ่าน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ตามลำดับ กล่าวคือ เท่ากับ ร้อยละ ๕๑ คูณด้วย ร้อยละ ๖๕ คูณด้วย ร้อยละ ๔๕ ซึ่งจะเท่ากับ ร้อยละ ๑๔.๙ แต่เมื่อรวมกับกระทรวงการคลัง ถือหุ้นโดยตรงอีกร้อยละ ๒๕ สัดส่วนผลประโยชน์ของรัฐบาลไทยโดยรวม จะเท่ากับ ร้อยละ ๓๙.๙ (เปรียบเทียบกับสัดส่วนของกลุ่ม บริษัทมูบาดาลา ร้อยละ ๓๐)

(ข) กรณีที่รัฐบาลไม่ใช้สิทธิตามเงื่อนไขในเอกสารเชิญชวน กระทรวงการคลังไม่เข้าร่วมลงทุนโดยตรงในบริษัทผู้ผลิตร้อยละ ๒๕ แต่ปล่อยให้บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร่วมกับกลุ่ม บริษัทมูบาดาลา ถือหุ้นร้อยละ ๑๐๐ (แบ่งสัดส่วนเป็น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร้อยละ ๖๐ และกลุ่ม บริษัทมูบาดาลา ร้อยละ ๔๐)

การคำนวณผลประโยชน์ของรัฐบาลไทยในบริษัทผู้ผลิต จะต้องคำนวณด้วยสัดส่วนหุ้นที่กระทรวงการคลังถือผ่าน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ตามลำดับ กล่าวคือเท่ากับ ร้อยละ ๕๑ คูณด้วย ร้อยละ ๖๕ คูณด้วย ร้อยละ ๖๐ ซึ่งจะเท่ากับ ร้อยละ ๑๙.๙ (เปรียบเทียบกับสัดส่วนของกลุ่ม บริษัทมูบาดาลา ร้อยละ ๔๐)

ดังนั้น กรณีนี้ กระทรวงการคลังจะเสียหายในสัดส่วนหุ้นร้อยละ ๒๐.๐ (คือ ๓๙.๙ ลบด้วย ๑๙.๙) และนอกจากน่าจะเข้าข่ายเป็นการยักยอกผลประโยชน์ในสัดส่วนหุ้นร้อยละ ๒๐.๐ ดังกล่าวไปให้แก่ผู้ถือหุ้นเอกชนทั้งในบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีบางส่วนเป็นผู้ลงทุนต่างประเทศในสัดส่วนร้อยละ ๑๐.๐ และะน่าจะเข้าข่ายเป็นการยักยอกผลประโยชน์ของกระทรวงการคลังไปให้แก่กลุ่ม บริษัทมูบาดาลาในสัดส่วนร้อยละ ๑๐.๐ อีกด้วย

ข้อ ๒. ข้อมูลที่บรรยายวิธีการพิจารณาของกระทรวงพลังงานบ่งชี้ว่าอาจจะเข้าข่ายมีเจตนาทำให้คณะรัฐมนตรีหลงผิด

๒.๑ ข่าวที่ปรากฏในสื่อมวลชนระบุว่า

ข่าวฐานเศรษฐกิจ วันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑

“คณะอนุกรรมการอยู่ระหว่างศึกษาคุณสมบัติหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ที่จะเข้ามาถือหุ้นร่วมลงทุนใน ๒ แหล่ง ว่า มีหน่วยงานใดมีศักยภาพและเป็นไปได้ทางกฎหมาย คือ ในพระราชบัญญัติการจัดตั้งเปิดให้สามารถร่วมลงทุนเอกชนได้บ้าง โดยจะพิจารณาหลายด้าน เช่น ประสบการณ์ด้านพลังงาน ฐานะทางการเงิน เพราะจะต้องใช้เงินในการลงทุนนับแสนล้านบาท ในช่วงเวลา ๑๐ ปี …

อีกข้อกังวล คือ ในทีโออาร์ประมูลก็มีการระบุ กระทรวงพลังงานสงวนสิทธิ์ที่จะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (State Participation) ในสัดส่วนการลงทุนไม่เกิน ๒๕% ภายใต้หลักการร่วมลงทุนอย่างเท่าเทียมกันกับผู้ขอสิทธิ์ที่ได้รับการคัดเลือก โดยผู้ขอสิทธิ์ต้องเสนอหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัดส่วน ๒๕% ซึ่งหมายความว่า รัฐบาลสามารถที่จะส่งหน่วยงานใดมาก็ได้ หากเป็นหน่วยงานรัฐที่มีฐานะการเงินแข็งแกร่งก็จะไม่มีปัญหา เพราะส่งแค่เงินมาลงทุนตามสัดส่วนในแต่ละปี ไม่จำเป็นต้องส่งคนมาบริหารก็ได้ แต่ถ้าเป็นหน่วยงานรัฐที่มีฐานะการเงินไม่แข็งแกร่งมากพอ รัฐบาลจะหางบประมาณจากไหนมาร่วมลงทุน เพราะขณะนี้ก็มีภาระลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จำนวนมากแล้ว

นอกจากนี้ หากรัฐต้องตั้งวงเงินจากงบประมาณรายจ่ายมาร่วมลงทุน ก็น่าเป็นห่วงเรื่องกระบวนการและขั้นตอนของวิธีการงบประมาณที่อาจมีความล่าช้า ทำให้เกิดความเสียหาย เพราะแต่ละปีต้องใช้งบลงทุนในการขุดเจาะหลุมสำรวจและผลิตจำนวนมาก เพื่อรักษากำลังการผลิตให้ได้ตามข้อกำหนด ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการมาร่วมลงทุนจริง ๆ ควรจะพิจารณาหน่วยงานที่มีศักยภาพจริง ๆ เพื่อไม่ให้กระทบต่อการจัดหาพลังงาน และให้ความยุติธรรมกับผู้เข้าร่วมประมูลด้วย”


ข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน วันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๖๑

“แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า คณะรัฐมนตรีจะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกหน่วยงานตามที่คณะกรรมการปิโตรเลียมมีข้อเสนอ โดย ครม. อาจจะมีความเห็นเป็นอย่างอื่นในการจัดตั้งหน่วยงานใหม่ของรัฐขึ้นมาร่วมลงทุนเป็นการเฉพาะ หรือไม่ส่งหน่วยงานใดเข้าไปร่วมลงทุนเลยก็ได้ รวมทั้งสัดส่วนการเข้าร่วมทุน ครม.ก็สามารถที่จะกำหนดได้ตั้งแต่ ๐-๒๕% แต่จะต้องพิจารณาถึงงบลงทุนจำนวนมากที่จะใช้ในการลงทุน เช่นเดียวกับเอกชนที่ชนะการประมูลที่จะเป็นโอเปอเรเตอร์ในแหล่งเอราวัณ และบงกช”

๒.๒ ข้าพเจ้าขอเรียนว่าข้อพิจารณาที่ปรากฏในข่าวทั้งสองแหล่งข้างต้นไม่ถูกต้อง และอาจเข้าข่ายเป็นการให้ข้อมูลที่บิดเบือนเพื่อทำให้คณะรัฐมนตรีหลงผิดเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตนอีกด้วย เพราะ

(ก) แหล่งเอราวัณและบงกชเป็นแหล่งที่ผลิตก๊าซธรรมชาติรวมกันมากถึงร้อยละ ๗๕ ของก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในอ่าวไทย และในวันที่สัมปทานหมดอายุ ซึ่งสัญญาแบ่งปันผลผลิตจะเริ่มต้น ทั้งสองแหล่งก็จะยังผลิตก๊าซธรรมชาติต่อเนื่องไปโดยใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่เดิมและยังไม่ต้องมีความจำเป็นต้องลงทุนใหม่นับแต่วันแรกของสัญญาแบ่งปันผลผลิต ทั้งนี้ ถึงแม้ปริมาณการผลิตจะค่อยๆ โน้มลดลงและในอนาคตจำเป็นต้องมีการเจาะหลุมผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาปริมาณการผลิตก็ตาม แต่ปริมาณการผลิตที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่วันแรกของสัญญาแบ่งปันผลผลิตจะทำให้รัฐได้รับส่วนแบ่งก๊าซธรรมชาติตั้งแต่วันแรก และเมื่อคำนึงว่าขณะนี้ก๊าซที่ผลิตจากทั้งสองแหล่งมีมูลค่าสูงถึงประมาณสองแสนล้านบาทต่อปี สิทธิการร่วมลงทุนร้อยละ ๒๕ ของรัฐย่อมมีมูลค่าสูงอย่างมาก ดังนั้น รัฐจึงจำเป็นจะต้องทำการลงทุนตามสิทธิ และจำเป็นจะต้องลงทุนให้เต็มร้อยละ ๒๕ ตามเพดานที่กำหนดไว้ มิฉะนั้น รัฐจะเสียประโยชน์ที่พึงได้

(ข) เนื่องจากจำนวนวงเงินลงทุนเพื่อผลิตก๊าซ โดยปกติจะเป็นเพียงสัดส่วนที่เล็กน้อยเปรียบเทียบกับมูลค่าของก๊าซที่ผลิตได้แต่ละปี ดังนั้น แหล่งเงินที่จะนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการลงทุนร้อยละ ๒๕ ของรัฐนั้น สามารถจะหักออกจากก๊าซธรรมชาติที่รัฐได้ส่วนแบ่งอย่างแน่นอน ดังนั้น ข้ออ้างที่ว่า “รัฐบาลจะหางบประมาณจากไหนมาร่วมลงทุน เพราะขณะนี้ก็มีภาระลงทุนในโครงการขนาดใหญ่จำนวนมากแล้ว ... นอกจากนี้ หากรัฐต้องตั้งวงเงินจากงบประมาณรายจ่ายมาร่วมลงทุน ก็น่าเป็นห่วงเรื่องกระบวนการและขั้นตอนของวิธีการงบประมาณที่อาจมีความล่าช้า ทำให้เกิดความเสียหาย เพราะแต่ละปีต้องใช้งบลงทุนในการขุดเจาะหลุมสำรวจและผลิตจำนวนมาก เพื่อรักษากำลังการผลิตให้ได้ตามข้อกำหนด” นั้น ก็เป็นข้อพิจารณาที่มิได้คำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าทั้งสองแหล่งเป็นแหล่งที่มีการผลิตก๊าซต่อเนื่องอยู่แล้ว โดยมีอุปกรณ์การผลิตตั้งอยู่แล้ว ส่วนในการลงทุนเพิ่มเพื่อรักษากำลังการผลิต จำนวนวงเงินการลงทุนในส่วนร้อยละ ๒๕ ของรัฐก็ย่อมจะต่ำกว่าผลผลิตที่รัฐได้รับแบ่งปันอยู่แล้วนั้น จึงอาจจะเข้าข่ายเป็นการพิจารณาที่บิดเบือนเพื่อให้คณะรัฐมนตรีมีมติให้รัฐบาลสละสิทธิในการร่วมลงทุน

ข้อ ๓. ข้อร้องเรียน

เนื่องจากหลักคิดและวิธีการพิจารณาตามข้อ ๑. และข้อ ๒. ข้างต้นมิได้เป็นเรื่องที่สลับซับซ้อน และผลเสียอันกระทบต่อผลประโยชน์ของรัฐเป็นเรื่องที่สามารถวิเคราะห์ได้โดยง่าย ข้าพเจ้าจึงมีความเห็นว่าพฤติกรรมของบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าข่ายน่าสงสัย และขอร้องเรียนให้ท่านสั่งการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานทำการสอบสวนบุคคลเหล่านี้ เพื่อดำเนินการตามความรับผิดชอบทางกฎหมายของท่านและรัฐมนตรีทั้งสองกระทรวงให้ครบถ้วนต่อไป

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาว่าการกระทำโดยบุคคลที่เกี่ยวข้องถูกต้องตามหลักของกฎหมายและหลักธรรมาภิบาลหรือไม่

​​​​​​​​​​​​ ขอแสดงความนับถืออย่างสูง

​​​​​​​​​​​​ (นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
​​​​​ ​​​​​ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
สำเนาเรียน
๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
๒ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน
๓ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน


กำลังโหลดความคิดเห็น