xs
xsm
sm
md
lg

คปพ.ยื่นหนังสือจี้ “บิ๊กตู่” ยกเลิกประมูล เอราวัณ-บงกช พบพิรุธ-ผิดกฎหมายเพียบ ผลประโยชน์สูงสุดตกอยู่แก่ผู้ถือหุ้น ปตท.ไม่ใช่รัฐและประชาชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


คปพ. ทำหนังสือถึง “บิ๊กตู่” ยกเลิกประมูลเอราวัณ-บงกช แล้วประมูลใหม่ พบพิรุธและผิดกฎหมายเพียบ ไม่เกิดการแข่งขันที่แท้จริง รัฐได้สัดส่วนสุทธินิดเดียวต่ำกว่าเอกชน ประมูลขายก๊าซต่ำให้ ปตท. ผลประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับผู้ถือหุ้น ปตท. ไม่ใช่รัฐและประชาชน ส่วนประชาชนต้องเดือดร้อนซื้อก๊าซหุงต้มแพงอิงราคานำเข้าจากซาอุฯ บวกกำไรเหมือนเดิม

วันนี้ (14 ธ.ค.) ในเฟซบุ๊กแฟนเพจ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้มีการโพสต์ข้อความ เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) โดย นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร นางสาวบุญยืน ศิริธรรม อดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสมุทรสงคราม และ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ได้ทำหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่อง ขอให้ยกเลิกการประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่มิชอบและจัดการประมูลขึ้นใหม่ ความว่า

ตามที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๑ ได้มีมติอนุมัติให้กลุ่มบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ชนะการประมูลสิทธิสำรวจและผลิตในทั้งแปลง G๑/๒๕๖๑ (เอราวัณ) และ G๒/๒๕๖๑ (บงกช) นั้น เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) ขอเรียนความเห็นว่า กระบวนการประมูลดังกล่าวไม่ถูกต้องตามกฎหมายและไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศและประชาชนตามข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ และสมควรจะทำการยกเลิกพร้อมทั้งจัดประมูลใหม่ในเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศมากกว่า ด้วยเหตุผลดังนี้

ข้อ ๑. จำนวนผู้เข้าประมูลและคุณสมบัติของผู้เข้าประมูลมิได้ทำให้ประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด

๑.๑ โดยปกติตามกติกาสากล จำนวนผู้เข้าประมูลที่จะเอื้อให้เกิดการแข่งขันกันอย่างเต็มที่ จะต้องมีจำนวนผู้เข้าประมูลมากกว่าจำนวนแปลงอย่างน้อย ๑ ราย กรณีนี้จึงสมควรมีผู้เข้าประมูลอย่างน้อย ๓ ราย แต่ปรากฏว่าสืบเนื่องจากการกำหนดเงื่อนไขที่บีบแคบ โดยเฉพาะเงื่อนไขที่บริษัทผู้ประมูลต้องมีมูลค่าการถือครองหุ้นในกิจการ (Shareholder’s Equity) อย่างน้อย ๔,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ ในแปลง G๑/๒๕๖๑ (เอราวัณ) และอย่างน้อย ๒,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐฯ ในแปลง G๒/๒๕๖๑ (บงกช) ทำให้มีผลเป็นการกีดกันมิให้รายอื่นสามารถเข้ามาแข่งขันได้ ดังนั้น คปพ. จึงเห็นว่า จำนวนผู้เข้าประมูลที่เกิดขึ้นมิได้ทำให้ประเทศได้รับประโยชน์สูงสุด จึงเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา ๑๖๔ (๑) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐

๑.๒ เนื่องจากผู้เข้าประมูลรายหนึ่งคือกลุ่มบริษัทเชฟรอนมีปัญหาด้านคุณสมบัติที่ชัดแจ้ง โดยปรากฏหลักฐานทางราชการที่กรมศุลกากรว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้าน้ำมันเถื่อนให้แก่บริษัทเดินเรือสนับสนุนแท่นขุดเจาะกลางทะเล และ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอดีตเลขาธิการสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ร่วมกับ นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ยื่นเรื่องให้สำนักงาน ก.ล.ต. ของสหรัฐฯ ทำการสอบสวนเมื่อวันที่ ๖ กันยายน ๒๕๖๑ และ คปพ. ได้มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ คปพ. ๑๓๕/๑๓-๒๕๖๑ ลงวันที่ ๕ กันยายน ๒๕๖๑ แจ้งแก่นายกรัฐมนตรีและบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว อาทิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และอธิบดีกรมศุลกากรผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงานตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๖๑ ดังนั้น บุคคลที่เกี่ยวข้องจึงย่อมจะตระหนักดีว่ากลุ่มบริษัทเชฟรอนมีปัญหาด้านคุณสมบัติอย่างแน่ชัด ซึ่งส่งผลทำให้เหลือผู้เข้าประมูลเพียงรายเดียวคือกลุ่ม ปตท.สผ. สำหรับทั้งสองแปลง ดังนั้น คปพ. จึงมีความเห็นว่า การมีผู้เข้าประมูลเพียงรายเดียวเช่นนี้ ไม่เป็นไปตามระเบียบราชการที่ถูกต้อง และผู้ที่ล่วงรู้ถึงปัญหาเกี่ยวกับกลุ่มบริษัทเชฟรอนอาจจะขาดคุณสมบัติแต่ยังเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเสมือนหนึ่งว่าเป็นการประมูลที่ปกตินั้น ย่อมจะเข้าข่ายฝ่าฝืนมาตรา ๑๕๗ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

ข้อ ๒. หลักเกณฑ์การพิจารณาเป็นการยักยอกผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมไปให้เป็นประโยชน์แก่เอกชน

๒.๑ เนื่องจากในทางปฏิบัติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้เดียวที่จะใช้สิทธิในการรับซื้อก๊าซ ทั้งแปลง G๑/๒๕๖๑ (เอราวัณ) และ G๒/๒๕๖๑ (บงกช) และก๊าซที่จะรับซื้อนั้น แบ่งได้เป็น ๒ ส่วน คือ (๑) ส่วนที่จำหน่ายต่อไปให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต และ (๒) ส่วนที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ใช้ในการประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติเพื่อกำไรของตนเอง

คปพ. ขอเรียนว่า หลักการพิจารณาโดยให้น้ำหนักแก่ราคาเสนอขายก๊าซในราคาต่ำที่สุด (ค่าคงที่สำหรับราคาก๊าซธรรมชาติ) ร้อยละ ๖๕ แต่ให้น้ำหนักแก่ส่วนแบ่งปิโตรเลียมระหว่างเอกชนและรัฐ ร้อยละ ๒๕ นั้น มีผลโดยอัตโนมัติเป็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในก๊าซส่วนที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ใช้ในการประกอบธุรกิจก๊าซธรรมชาติเพื่อกำไรของตนเอง เพราะเงื่อนไขนี้ทำให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีต้นทุนสำหรับธุรกิจของตนเองที่ต่ำลงด้วย ซึ่งย่อมเพิ่มพูนกำไรของบริษัท อันเป็นประโยชน์แก่ผู้ถือหุ้นเอกชนในบริษัทดังกล่าว รวมไปถึงผู้ถือหุ้นต่างประเทศ และเนื่องจากก๊าซส่วนใหญ่ที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ซื้อนั้น จะเป็นก๊าซส่วนแบ่งของรัฐ ดังนั้น คปพ. จึงขอเรียนว่า หลักเกณฑ์นี้มีผลเป็นการทำให้ประชาชนทั้งมวลเสียประโยชน์ จากการที่รัฐมิได้ขายก๊าซให้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในส่วนที่ใช้เพื่อประกอบการทำธุรกิจของบริษัทเอง ในราคาสูงสุดตามราคาตลาด ดังนั้น คปพ. จึงเห็นว่าเข้าข่ายเป็นการยักยอกผลประโยชน์ของประชาชนส่วนรวมไปให้เป็นประโยชน์แก่เอกชน ฝ่าฝืนมาตรา ๓๕๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา

๒.๒ สำหรับก๊าซในส่วนที่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จะจำหน่ายต่อไปให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ที่อ้างว่าหลักเกณฑ์ที่ทำให้ราคาก๊าซต่ำ จะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ถึง ๒๙ สตางค์ต่อหน่วยนั้น คปพ. ขอเรียนว่าเป็นข้ออ้างที่เฟ้อเกินความเป็นจริง เพราะกรณีถ้าหากรัฐบาลจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติเพื่อทำหน้าที่รับซื้อก๊าซ บรรษัทฯ ก็จะสามารถขายก๊าซดังกล่าวให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตในราคาทุนของรัฐ และเนื่องจากเป็นการส่งผ่านประโยชน์จากรัฐไปให้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าโดยตรง โดยไม่ต้องผ่านมือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะคนกลาง การมีบรรษัทจึงย่อมจะส่งผ่านประโยชน์ไปให้แก่กิจกรรมผลิตไฟฟ้าได้เต็มที่มากกว่า และย่อมจะสามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าได้มากกว่า ๒๙ สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการลดค่าไฟฟ้าได้มากกว่าข้อเสนอของกลุ่มบริษัท ปตท.สผ.

ข้อ ๓. การไม่ใช้สิทธิในการร่วมถือหุ้นร้อยละ ๒๕ เป็นการผิดกฎหมาย

๓.๑ ตามที่เอกสารเชิญชวนให้ยื่นข้อเสนอ ข้อ ๔.๔.๑๐ การให้หน่วยงานของรัฐเข้าร่วมลงทุน (State Participation) ระบุว่า “กระทรวงพลังงานสงวนสิทธิที่จะมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัญญาแบ่งปันผลผลิต (State Participation) ในสัดส่วนการลงทุนไม่เกินร้อยละ ๒๕ ภายใต้หลักการการร่วมลงทุนอย่างเท่าเทียมกันกับผู้ขอสิทธิที่ได้รับการคัดเลือก โดยผู้ขอสิทธิต้องเสนอหลักการและเงื่อนไขการให้หน่วยงานของรัฐเป็นผู้ร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ ๒๕” นั้น สิทธิการลงทุนดังกล่าวนับเป็นทรัพยสิทธิที่มีมูลค่าตีราคาเป็นเงินได้ และเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐบาลไทยที่ไม่อาจสละทิ้ง และไม่อาจยกประโยชน์ไปให้แก่ผู้อื่นใดที่มิใช่ประชาชนโดยรวม

๓.๒ ในมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๑ ที่ระบุว่า ในส่วนของการให้หน่วยงานของรัฐเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ ๒๕ นั้น เนื่องจากบริษัทที่ชนะการประมูลทั้งสองแปลง คือบริษัทในเครือของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ถือเป็นหน่วยงานของรัฐ ดังนั้น ในส่วนของข้อเสนอดังกล่าว บริษัทที่ชนะการประมูลจึงเข้าเงื่อนไขการเข้าร่วมลงทุนโดยหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว โดยในแปลง G๑/๒๕๖๑ (เอราวัณ) ในสัดส่วนร้อยละ ๖๐ และในแปลง G๒/๒๕๖๑ (บงกช) ในสัดส่วนร้อยละ ๑๐๐ แต่การระบุดังกล่าวเป็นการปะปนสิทธิของรัฐบาลไทยกับสิทธิของกลุ่มบริษัท ปตท.สผ. และอาจจะเข้าข่ายเป็นการบิดเบือนเพื่อทำให้คณะรัฐมนตรีหลงผิดเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ของตน

๓.๓ คปพ. ขอเรียนว่า สิทธิของรัฐบาลที่จะให้หน่วยงานของรัฐเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ ๒๕ นั้น เป็นสิทธิต่างหากจากสิทธิของบริษัทในเครือของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และไม่ว่าผู้ชนะการประมูลจะเป็นบริษัทต่างชาติหรือเป็นกลุ่มบริษัท ปตท.สผ. รัฐบาลไทยก็ยังมีสิทธิดังกล่าวอยู่เช่นเดียวกัน และการที่ผู้ชนะประมูลเป็นบริษัทในเครือของ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ก็มิได้ทำให้สิทธิของรัฐบาลไทยหมดไป ทั้งนี้ การที่รัฐบาลไทยใช้สิทธิให้หน่วยงานของรัฐเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ ๒๕ หรือไม่ นั้น มีผลแตกต่างกัน ดังนี้

สำหรับแปลง G๒/๒๕๖๑ (บงกช) หากดำเนินการมติ ครม. สัดส่วนหุ้นสุทธิของรัฐจะมีเพียงแค่ร้อยละ ๓๓

(ก) กรณี ที่ดำเนินตามมติ ครม. การคำนวณสัดส่วนของรัฐเป็นดังนี้ บริษัทผู้ผลิต มี บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอยู่ร้อยละ ๑๐๐ กรณีนี้ เนื่องจากกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ใน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร้อยละ ๕๑ และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอยู่ใน บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร้อยละ ๖๕ สัดส่วนความเป็นเจ้าของของรัฐบาลไทยในบริษัทผู้ผลิต และสัดส่วนที่รัฐบาลไทยจะได้กำไรในบริษัทผู้ผลิต จะคำนวณได้เท่ากับ ร้อยละ ๕๑ คูณด้วย ร้อยละ ๖๕ คูณด้วย ร้อยละ ๑๐๐ คือเท่ากับ ร้อยละ ๓๓.๑

(ข) กรณี ที่รัฐบาลไทยใช้สิทธิเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ ๒๕ การคำนวณสัดส่วนของรัฐเป็นดังนี้ บริษัทผู้ผลิตมี บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอยู่ร้อยละ ๗๕ และมีกระทรวงการคลัง หรือบรรษัทพลังงานแห่งชาติ (หากมีการจัดตั้งขึ้น) ถือหุ้นอีกร้อยละ ๒๕ กรณีนี้ สัดส่วนความเป็นเจ้าของของรัฐบาลไทยในบริษัทผู้ผลิต และสัดส่วนที่รัฐบาลไทยจะได้กำไรในบริษัทผู้ผลิต ในส่วนที่ถือผ่าน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จะคำนวณได้เท่ากับ ร้อยละ ๕๑ คูณด้วย ร้อยละ ๖๕ คูณด้วย ร้อยละ ๗๕ เท่ากับ ร้อยละ ๒๔.๘ แต่เมื่อรวมกับกระทรวงการคลัง หรือบรรษัทพลังงานแห่งชาติถือหุ้นอีกร้อยละ ๒๕ สัดส่วนความเป็นเจ้าของของรัฐบาลไทยในบริษัทผู้ผลิต และสัดส่วนที่รัฐบาลไทยจะได้กำไรในบริษัทผู้ผลิตทั้งสิ้น จะเท่ากับ ร้อยละ ๔๙.๘

สำหรับแปลง G๑/๒๕๖๑ (เอราวัณ) หากดำเนินการมติ ครม. สัดส่วนหุ้นสุทธิของรัฐจะมีเพียงแค่ร้อยละ ๑๙.๙

(ก) กรณี ที่ดำเนินตามมติ ครม. บริษัทผู้ผลิต มี บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอยู่ร้อยละ ๖๐ กรณีนี้ เนื่องจากกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ใน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร้อยละ ๕๑ และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอยู่ใน บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ร้อยละ ๖๕ สัดส่วนความเป็นเจ้าของของรัฐบาลไทยในบริษัทผู้ผลิต และสัดส่วนที่รัฐบาลไทยจะได้กำไรในบริษัทผู้ผลิต จะคำนวณได้เท่ากับ ร้อยละ ๕๑ คูณด้วย ร้อยละ ๖๕ คูณด้วย ร้อยละ ๖๐ คือเท่ากับ ร้อยละ ๑๙.๙

(ข) กรณีที่รัฐบาลไทยใช้สิทธิเข้าร่วมลงทุนในสัดส่วนร้อยละ ๒๕ การคำนวณสัดส่วนของรัฐเป็นดังนี้ บริษัทผู้ผลิต มี บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) ถือหุ้นอยู่ ร้อยละ ๔๕ มีบริษัทในเครือ มูบาดาลา ถือหุ้นอยู่ ร้อยละ ๓๐ (ฝ่ายเอกชนถือหุ้นรวมกัน ร้อยละ ๗๕) และมีกระทรวงการคลัง หรือบรรษัทพลังงานแห่งชาติ (หากมีการจัดตั้งขึ้น) ถือหุ้นอีกร้อยละ ๒๕ กรณีนี้ สัดส่วนความเป็นเจ้าของของรัฐบาลไทยในบริษัทผู้ผลิต และสัดส่วนที่รัฐบาลไทยจะได้กำไรในบริษัทผู้ผลิต ในส่วนที่ถือผ่าน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จะคำนวณได้เท่ากับ ร้อยละ ๕๑ คูณด้วย ร้อยละ ๖๕ คูณด้วย ร้อยละ ๔๕ เท่ากับ ร้อยละ ๑๔.๙ แต่เมื่อรวมกับกระทรวงการคลัง หรือบรรษัทพลังงานแห่งชาติถือหุ้นอีกร้อยละ ๒๕ สัดส่วนความเป็นเจ้าของของรัฐบาลไทยในบริษัทผู้ผลิต และสัดส่วนที่รัฐบาลไทยจะได้กำไรในบริษัทผู้ผลิตทั้งสิ้น จะเท่ากับ ร้อยละ ๓๙.๙

อย่างไรก็ตาม รัฐซึ่งได้สัดส่วนน้อยกว่าเอกชนในแปลง G๑/๒๕๖๑ (เอราวัณ) และแปลง G๒/๒๕๖๑ (บงกช) อยู่แล้วนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ไม่ใช่สัดส่วนจากการแบ่งปันผลผลิตที่รัฐจะได้เป็นปริมาณปิโตรเลียม แต่รัฐจะได้สัดส่วนน้อยกว่านั้น เพราะต้องรอผลกำไรจากการประกอบการของผู้บริษัทลูกของ ปตท.สผ. จึงยังไม่แน่ชัดว่า ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการผลิตและการบริหารมีถึงจำนวนเท่าไร ซึ่งจะเป็นผลทำให้รัฐได้ผลตอบแทนน้อยลงไปกว่านั้นอีก

๓.๔ คปพ. จึงขอเรียนว่า การที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๖๑ ว่าหน่วยงานของรัฐไม่จำเป็นต้องเข้าร่วมถือหุ้นร้อยละ ๒๕ โดยอ้างว่า เนื่องจากผู้ชนะประมูลทั้งสองแปลงถือเป็นหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว และเป็นการเข้าเงื่อนไขการเข้าร่วมลงทุนโดยหน่วยงานของรัฐอยู่แล้ว โดยในแปลง G๑/๒๕๖๑ (เอราวัณ) ในสัดส่วนร้อยละ ๖๐ และในแปลง G๒/๒๕๖๑ (บงกช) ในสัดส่วนร้อยละ ๑๐๐ เป็นการสำคัญผิดเกี่ยวกับสิทธิและประโยชน์ของรัฐในสาระสำคัญ และเป็นการทำให้เสียหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์อันเป็นหน้าที่ของคณะรัฐมนตรีที่จะปกครอง หรือรักษาไว้ เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนมาตรา ๑๕๘ แห่งประมวลกฎหมายอาญา และทำให้มติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวเป็นมติที่มิชอบด้วยกฎหมาย

๔. การประมูลขายก๊าซราคาต่ำสุดครั้งนี้ ผลประโยชน์สูงสุดตกอยู่กับผู้ถือหุ้น ปตท. และบริษัทในเครือ ไม่ใช่รัฐและไม่ใช่ประชาชน


โดยเฉพาะอย่างยิ่งความพยายามในการแถลงข่าวว่า การประมูลครั้งนี้บริษัทลูกของ ปตท.สผ. ได้กดราคาขายก๊าซที่ปากหลุมในราคาต่ำที่สุดนั้น อาจทำให้ประชาชนหลงประเด็นและเข้าใจว่าจะเป็นผลทำให้ประชาชนได้ใช้ราคาก๊าซราคาถูกลง แต่ในความเป็นจริงแล้วการขายก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะต้องขนส่งผ่านท่อก๊าซธรรมชาติสายประธานมายังชายฝั่งเท่านั้น เมื่อ ปตท. ยังไม่ได้คืนท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลให้แก่รัฐ การขายก๊าซในราคาต่ำๆ นั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์นั้นในการซื้อก๊าซธรรมชาติในราคาต่ำก็คือ ปตท.แต่เพียงผู้เดียว ที่จะได้กำไรมากขึ้นจากต้นทุนที่ต่ำลง ไม่ใช่รัฐหรือประชาชน

ในทางตรงกันข้ามการขายก๊าซธรรมชาติผ่านโรงแยกก๊าซ จะถูกแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งคือก๊าซหุงต้มในครัวเรือน อีกส่วนหนึ่งส่วนคือใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

ส่วนที่หนึ่งใช้ก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือน ซึ่งรัฐบาลกำหนดโครงสร้างราคาเสมือนการนำเข้าจากประเทศซาอุดิอาราเบีย บวกด้วยค่าใช้จ่ายในการนำเข้า ซึ่งไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของการรับซื้อก๊าซของ ปตท. ดังนั้น ประชาชนก็ยังต้องจ่ายก๊าซในราคาที่แพงและไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง

ส่วนที่สองซึ่งใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
นั้น ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทลูกของ ปตท. อันจะทำให้บริษัทลูกของ ปตท. เหล่านั้นมีต้นทุนที่ต่ำลงไปอีก ดังนั้นผู้ที่ได้ประโยชน์ก็จะยังวนเวียนอยู่ในบริษัทในกลุ่ม ปตท.เช่นเดิม

ดังนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์จากโครงสร้างการประมูลเช่นนี้จึงไม่ใช่รัฐที่ต้องขายก๊าซที่ปากหลุมในราคาต่ำๆ ให้กับ ปตท. ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคก็ยังต้องใช้ราคาก๊าซที่ราคาอ้างอิงเสมือนการนำเข้าจากประเทศซาอุดิอาราเบียตบวกด้วยค่าใช้จ่ายในการนำเข้าจากซาอุดีอาระเบีย ทั้งๆ ที่สัดส่วนในการนำเข้าก๊าซจากต่างประเทศไม่ถึงร้อยละ ๑๐ ดังนั้น ผู้ที่ได้ผลประโยชน์สูงสุดก็คือ ผู้ถือหุ้น ปตท. รวมถึงผู้ถือหุ้นในบริษัทลูกของ ปตท. ไม่ใช่รัฐและประชาชนแต่ประการใด

จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นว่าการประมูลครั้งนี้นอกจากจะไม่ได้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริงแล้ว ประโยชน์ที่ได้ก็กลับตกอยู่กับเพียงแค่ผู้ถือหุ้น ปตท. และบริษัทในเครือ ดังนั้น ผลประโยชน์สูงสุดจึงไม่อาจตกแก่ทั้งรัฐและประชาชน

จึงขอเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรียกเลิกการประมูลในครั้งนี้ แล้วทำการเปิดประมูลใหม่ให้เกิดความโปร่งใส เกิดการแข่งขันอย่างกว้างขวางและเป็นธรรม ตลอดจนประมูลใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตในการแข่งขันปริมาณปิโตรเลียมที่ให้แก่รัฐสูงสุดเป็นเกณฑ์การตัดสินใจเช่นเดียวนานาอารยะประเทศ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน


ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
ผู้แทนเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.)

(นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล)
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

(นางสาวรสนา โตสิตระกูล)
อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร
และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

(นางสาวบุญยืน ศิริธรรม)
อดีตสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดสมุทรสงคราม

(นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์)
นักวิชาการอิสระด้านพลังงานและสื่อมวลชน










กำลังโหลดความคิดเห็น