xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.โวยประกาศแบ่งเขตล่าช้าทำบัญชีผู้สมัครพรรคมีปัญหา จี้ กกต.แจง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

 น.ต.สุธรรม ระหงษ์(ขวา)แฟ้มภาพ
ผอ.ปชป.บี้ กกต.แจงเหตุประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งช้ากว่าปฏิทินที่กำหนด 5 พ.ย. ระบุกระทบทุกพรรค ตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไม่ได้ ทำบัญชีผู้สมัครเลือกตั้งไม่ได้

วันนี้ (15 พ.ย.) น.ต.สุธรรม ระหงษ์ ผู้อำนวยการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ กกต.ยังไม่ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งในราชกิจจานุเบกษา ทั้งๆ ที่ตามกำหนดปฏิทินไว้ว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 5 พฤศจิกายนว่า เป็นเรื่องที่กระทบกับทุกพรรคการเมือง คือ 1. การทราบเขตเลือกตั้งจะทำให้ทุกพรรคแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้ เมื่อยังไม่รู้เขตเลือกตั้งก็ตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไม่ได้ 2. ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเป็นส่วนสำคัญในการรับฟังความคิดเห็นในการที่คณะกรรมการสรรหาตัวผู้สมัครจะต้องรับฟังความเห็น ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/2561 ระบุให้คณะกรรมการสรรหารับฟังความเห็นจากตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดและสาขาพรรค หากไม่มีตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดและสาขาก็ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งไม่ได้

ดังนั้น ยิ่งการประกาศการแบ่งเขตเลือกตั้งล่าช้าออกไปก็ยิ่งกระทบต่อการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง จนอาจเป็นเหตุให้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งไม่ทันได้ จึงอยากให้ กกต.ชี้แจงให้ชัดเจนว่ามีเหตุผลอะไรที่ทำให้การแบ่งเขตเลือกตั้งล่าช้าไม่เป็นไปตามปฏิทินที่ กกต.วางไว้ เพราะกระบวนการต่างๆ เป็นเรื่องที่ กกต.ทราบดีถึงความจำเป็นที่ต้องมีเขตเลือกตั้งเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่โหมดของการเลือกตั้งจริงๆ และมีการชี้แจงกับพรรคการเมืองทุกพรรคแล้วหลายครั้ง เชื่อว่าในวันที่ 22 พฤศจิกายนที่จะประชุมร่วมกับพรรคการเมืองก็คงมีการพูดเรื่องนี้ ส่วนความล่าช้าในเรื่องการแบ่งเขตจะเป็นเหตุให้เลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ กกต.และคสช.ต้องเป็นผู้ให้คำตอบกับสังคม

ผอ.พรรคประชาธิปัตย์กล่าวด้วยว่า ข้ออ้างที่ระบุว่ายังมีเวลาประกาศเขตเลือกตั้งได้จนถึงวันที่ 11 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส.มีผลบังคับใช้นั้น รับฟังไม่ได้ เนื่องจากการแบ่งเขตเลือกตั้งต้องดำเนินการก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้ จึงเป็นที่มาของการออกคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 13/61 ให้ กกต.ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งได้โดยไม่ต้องรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ เพราะเมื่อกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส.มีผลบังคับใช้แล้วจะเริ่มนับ 1 เพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่ต้องมีการแบ่งเขตล่วงหน้าเพื่อให้พรรคการเมืองได้เตรียมความพร้อมในการส่งผู้สมัครตามกฎหมายก่อน หากรอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ก็จะดำเนินการไม่ทัน
กำลังโหลดความคิดเห็น