xs
xsm
sm
md
lg

“สมชัย” เสนอ 3 ทางออกยื่นบัญชีทรัพย์สินสภามหา'ลัยก่อนแห่ลาออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร(แฟ้มภาพ)
“สมชัย” เสนอ 3 แนวทาง “ชะลอ-แก้กฎหมาย-ม.44” แก้ปัญหาแสดงทรัพย์สิน “นายกฯ- กก.สภามหาวิทยาลัย” ก่อนกรรมการสภาฯ แห่ลาออก ระบบการศึกษาหยุดชะงัก

วันนี้ (9 พ.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร รักษาการแทนคณบดี สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวถึงปัญหาประกาศ ป.ป.ช.ที่ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยแสดงบัญชีทรัพย์สิน ว่ากรรมการสภาที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกที่เป็นภาคเอกชน ข้าราชการเกษียณ นักวิชาการอาวุโส คงทยอยการลาออก เพราะแม้อยากจะช่วยมหาวิทยาลัย และไม่มีทรัพย์สินมากมายที่จงใจจะปกปิด แต่กฎระเบียบที่เป็นภาระถึงขนาดต้องไปตามแจ้งทรัพย์สินทุกรายการของคู่สมรส ไม่ว่าจะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนและประกาศต่อสาธารณะ ซึ่งในผู้ที่ไม่มีคนช่วยจัดเก็บและกรอกข้อมูล และหากไม่ครบ อาจโดนคดีอาญาเรื่องจงใจปกปิดทรัพย์สิน คงจะเป็นการเสียสละเกินกำลัง

นายสมชัยเห็นว่า ป.ป.ช.คงอยู่ในภาวะไม่ทำไม่ได้ เพราะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.ป.ป.ป.ช.ที่ระบุให้ ป.ป.ช.มีหน้าที่ออกประกาศ ระบุตำแหน่งเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับสูงที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน อีกทั้งมีแนวคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่ชี้ไว้ชัดเจนแล้วว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากมีอำนาจในทางปกครอง ให้คุณให้โทษต่อบุคคลในมหาวิทยาลัย และอำนาจในการอนุมัติงบประมาณ หากเรื่องนี้จบลงด้วยการลาออกของกรรมการสภามหาวิทยาลัย

สิ่งที่เกิดขึ้นกับวงการศึกษาไทยในระยะสั้น คือ การหยุดชะงักของการบริหารงานมหาวิทยาลัยทั้งประเทศ เนื่องจากไม่สามารถประชุมสภามหาวิทยาลัยได้อย่างน้อย 2-3 เดือน จนกว่าจะสรรหาคนใหม่มาทดแทน เรื่องหลักสูตร เรื่องขออนุมัติปริญญา เรื่องขออนุมัติใช้งบประมาณ เรื่องการขอจ้างอาจารย์ในกรณีพิเศษ เรื่องการกำกับดูแลการบริหารงานของอธิการบดี คงค้างอยู่ในวาระจนกว่าจะสามารถประชุมสภามหาวิทยาลัยได้

ในระยะยาว แม้หาคนมาเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่พร้อมจะแจ้งบัญชีทรัพย์สินได้ แต่โอกาสที่คนระดับมันสมอง คนที่เป็นปราชญ์ชาวบ้าน ปราชญ์แผ่นดิน คนที่ประสบความสำเร็จในทางบริหาร ในทางธุรกิจจำนวนหนึ่ง คงขอโอกาสไปสนับสนุนมหาวิทยาลัยในทางอื่น หมายความว่าวงการศึกษาทั้งประเทศคงอยู่ในภาวะการกำกับดูแลที่ขาดมุมมองที่เป็นประโยชน์เหล่านี้ไป

นายสมชัยได้เสนอทางออกของการแก้ไข 3 ทาง คือ การชะลอการใช้ประกาศ จากที่จะมีผลตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2561 ออกไปอีกระยะหนึ่งอาจจะ 3-6 เดือน ช่วยได้ในการบรรเทาอาการตื่นตระหนกการลาออกแบบกะทันหัน จนเป็นเหตุให้ไม่สามารถประชุมสภามหาวิทยาลัยในช่วงนี้ได้ สามารถทำให้กรรมการสภาจำนวนหนึ่งมีเวลาในการตระเตรียมเอกสาร และประเมินความพร้อมของตนว่าจะลาออกหรือไม่ ในขณะที่ผู้บริหารมหาวิทยาลัยก็สามารถเตรียมทาบทามบุคคลอย่างไม่เป็นทางการมาเป็นกรรมการสภาเพื่อให้กระบวนการสรรหาคนใหม่ หลังจากการลาออกมีช่องว่างของเวลาน้อยที่สุด ในกรณีนี้สามารถแก้ปัญหาระยะสั้นได้ แต่ต้องประเมินถึงผลกระทบระยะยาว

แนวทางที่ 2 การแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช. ให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับนิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” และ “ผู้บริหารระดับสูง” ว่ามีความหมายครอบคลุมหรือไม่ครอบคลุมยังตำแหน่งลักษณะใดบ้าง ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ฝ่ายคณะรัฐมนตรีในฐานะผู้ใช้อำนาจบริหารต้องปรึกษาหารือกับ ป.ป.ช. เพื่อให้ ป.ป.ช.เสนอเรื่องผ่าน ครม.นำเข้าสภานิติบัญญัติฯ ก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย หลังจากนั้น ป.ป.ช.จึงออกประกาศแก้ไขประกาศ กระบวนการดังกล่าวน่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือน ซึ่งอาจไม่ทันในรัฐบาลนี้ และกว่าจะดำเนินการได้ กรรมการสภาคงลาออกทั้งประเทศแล้ว

และแนวทางที่ 3 การใช้อำนาจพิเศษ ม.44 ของ คสช. ในการประกาศให้ยกเว้นการบังคับใช้ประกาศของ ป.ป.ช.ในตำแหน่งบางตำแหน่งซึ่งสามารถทำได้เลย แต่ต้องทำก่อนวันที่ 1 ธ.ค. 2561 ซึ่งเป็นวันที่ประกาศ ป.ป.ช.มีผลใช้บังคับจะช่วยยุติปัญหาดังกล่าวได้ แต่ต้องยอมให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์ว่าร่างกฎหมายไม่รอบคอบจนเป็นปัญหาทำให้ต้องใช้อำนาจพิเศษอยู่ร่ำไป

“ทุกทางขึ้นอยู่กับใจของ คสช., ครม. และ ป.ป.ช. ว่าจะเห็นปัญหาและเห็นว่าจะใช้แนวทางใดในการแก้ไข ส่วนประชาชนอย่างเราแค่ทำใจ ส่วนผมหากประกาศมีผลใช้บังคับคงเตรียมใจเป็นกรรมการสภา หากมีการทาบทามมา เพราะพร้อมยื่นทรัพย์สิน”
กำลังโหลดความคิดเห็น