xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ข้องใจ “บางคน” ถอนฟ้อง-ไกล่เกลี่ยเจตนาบิดเบือนดิสเครดิตคู่กรณี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

น.ส.รสนา โตสิตระกูล(แฟ้มภาพ)
“รสนา” ข้องใจกรณี “ไกล่เกลี่ย” และเจรจาถอนฟ้องของบางคนมีเจตนาซ่อนเร้น เพื่อนำไปบิดเบือนดิสเครดิตคู่กรณีในทางสาธารณะ ไม่ใช่เจตนาเพื่อพิสูจน์ความถูกผิดมาตั้งแต่ต้น

วันนี้ (3 พย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.ได้โพสต์ข้อความแสดงความสงสัยกรณีที่มีการฟ้องร้องคดีและมีการไกล่เกลี่ยคดีกันในศาลของบางคน เป็นเจตนาในลักษณะซ่อนเร้นและอาจเพื่อนำไปบิดเบือนดิสเครดิตคู่กรณี เหมือนกับที่ตัวเองเคยมีประสบการณ์แบบเดียวกันจน “รู้ซาบซึ้ง”

เธอโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก ระบุแบบตั้งข้อสงสัยในกรณีดังกล่าวดังนี้

“ค้าความเพื่อค้ากำไร!?”

ดิฉันเคยมีประสบการณ์การไกล่เกลี่ย ทั้งการเป็นผู้ฟ้องและผู้ถูกฟ้อง ทำให้ได้เรียนรู้ว่าคนบางคนต้องการฟ้องไม่ใช่เพื่อพิสูจน์ความจริง แต่ต้องการฟ้องเพื่อปิดปากและต้องการผลเพียงการเจรจาไกล่เกลี่ย และใช้เป็นเทคนิคในการนำผลการไกล่เกลี่ยไปใช้ดิสเครดิตคู่กรณีผ่านสื่อ

มีกรณีที่ดิฉันเคยถูกฟ้องด้วยเรื่องไร้สาระ และเมื่อศาลจัดให้มีการไกล่เกลี่ย ทนายของคู่กรณีจะโน้มน้าวทุกวิถีทางให้ยอมไกล่เกลี่ย ว่าเป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรเลย ไม่อยากให้ต้องเป็นคดีกัน แค่เขียนอะไรนิดๆ หน่อยๆ ก็พอ จะได้ถอนฟ้อง เพื่อลดคดีรกโรงรกศาล

ประสบการณ์ในครั้งนั้นทำให้เข้าใจซาบซึ้ง ว่า การฟ้องเพื่อไกล่เกลี่ยเป็นเทคนิคในการหาความได้เปรียบในการดิสเครดิตคนที่ต่อสู้ในประเด็นสาธารณะ แม้ไม่มีการสู้คดีจนมีผลเป็นที่ประจักษ์ว่าผิดถูกอย่างไร แต่ก็สามารถเอาไปใช้เป็นเครื่องมือดิสเครดิตคู่ต่อสู้ได้

หลังจากการไกล่เกลี่ยแล้ว คู่กรณีได้นำถ้อยคำที่ไกล่เกลี่ยไปรวมกับคนอื่นๆ อีกหลายคนไปลงประกาศในหนังสือพิมพ์รายวัน ภายใต้หัวข้อว่าให้สังคมระมัดระวังข้อมูลด้านพลังงานที่บิดเบือนจากคนเหล่านี้ ทั้งที่ประเด็นฟ้องร้องและการไกล่เกลี่ยของดิฉัน ไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อมูลด้านพลังงานที่มีการต่อสู้กันในพื้นที่สาธารณะ

มีการใช้วิธีการพาดหัว ใช้อักษรตัวเน้นเล็ก ตัวเน้นใหญ่ ในการไฮไลต์ ถ้อยคำที่อธิบายเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่เพื่อนำสายตาและความเข้าใจของคนอ่านให้คล้อยตามข้อความของผู้เขียน ส่วนถ้อยคำที่ไกล่เกลี่ยทำเป็นกรอบเล็กๆ เพื่อใช้ประกอบเนื้อหาชี้นำ ส่วนที่เน้นคือชื่อคนต่างๆ ที่ไกล่เกลี่ยให้เห็นว่ามีใครบ้าง

การนำการไกล่เกลี่ยไปใช้เช่นนี้ ดิฉันจึงได้เรียนรู้ว่ามีการใช้การฟ้องศาลเป็นเทคนิคในการดิสเครดิตประชาชนที่ต่อสู้ในเรื่องสาธารณะ กรณีนั้นทำให้ดิฉันต้องฟ้องกลับคู่กรณีเป็นคดีหมิ่นประมาทที่มีการนำถ้อยคำไกล่เกลี่ยไปใช้ประโยชน์ด้วยเนื้อหาภายใต้ภาพรวมที่บิดเบือน

หลังจากนั้น ศาลก็ให้มีกระบวนการไกล่เกลี่ยเช่นเคย ในที่สุดดิฉันให้คู่กรณีชี้แจงเรื่องราวที่ถูกต้องลงในเฟซบุ๊คของคู่กรณี โดยมีการเขียนข้อความขึ้นต่อหน้าศาลผู้ไกล่เกลี่ย และคู่กรณียินยอมที่จะลงชี้แจงในเฟซบุ๊กแลกกับการถอนฟ้อง

หลังจากถอนฟ้อง เมื่อกลับจากศาลแล้วมาเปิดดูเฟซของคู่กรณี ก็ไม่พบข้อความชี้แจงดังกล่าว กว่าจะรู้ว่า คู่กรณีไม่ได้โพสต์แบบสาธารณะ แต่โพสต์ให้เฉพาะเพื่อน 12 คนได้เห็นเท่านั้น!!

ดิฉันก็ต้องตกใจและประหลาดใจมาก ที่คู่กรณีกล้าตอบว่า

“ตอนตกลงกันในศาล ไม่ได้กำหนดว่าต้องเปิดเป็นสาธารณะ!!”

อย่างไรก็ดี ก็ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้ว่า คนบางคนไม่ได้มีเกียรติมากพอที่เราจะไปต่อกรด้วย นึกถึงคำพูดของอาจารย์พุทธทาสที่เคยเตือนว่า

“อย่าเอาไม้สั้นไปรันขี้ เพราะขี้จะเปื้อนมือ”
กำลังโหลดความคิดเห็น