xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กฉัตร” ถกเตรียมรับน้ำท่วม-แล้ง เผยห่วง 6 เขื่อน โวใช้งบน้อยกว่า รบ.เก่า 5 เท่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
“ฉัตรชัย” ประชุมบริหารจัดการน้ำ เตรียมรับมือท่วม-แล้ง ยอมรับห่วง 6 เขื่อน น้ำน้อยกว่าร้อยละ 50 ฟุ้งผลงานจัดการน้ำ 4 ปี ใช้งบน้อยกว่ารัฐบาลก่อนเกือบ 5 เท่า

วันนี้ (25 ต.ค.) เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในโอกาสเป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ติดตามสถานการณ์และบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 4/2561 ว่าตนได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ อาทิ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยปลายเดือนตุลาคมนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศว่าประเทศไทยจะเข้าสู่ฤดูหนาว จึงต้องติดตามทั้งสถานการณ์น้ำแล้งและน้ำท่วม ขณะนี้พื้นที่ภาคใต้ยังคงมีปัญหาเรื่องน้ำท่วม ขณะที่ภาคเหนือและภาคกลางไม่มีปัญหา ดังนั้น ศูนย์เฉพาะกิจติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ จะติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป ขณะที่การแก้ปัญหาเรื่องภัยแล้ง แม้ขณะนี้ปริมาณน้ำใน 35 เขื่อนหลักของประเทศ จะมีน้ำอยู่ 57,543 ล้านลูกบาศก์ ถือเป็นปริมาณสูงถึง 81 เปอร์เซ็นต์ของความจุทั้งหมด แต่ในจำนวนดังกล่าว มี 6 เขื่อนที่มีปริมาณน้ำเพียง 50 เปอร์เซ็นต์ ประกอบด้วย ภาคเหนือ 2 เขื่อน คือ เขื่อนแม่กวง และเขื่อนแม่มอก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 เขื่อน คือ เขื่อนอุบลรัตน์ และเขื่อนลำนางรอง และภาคกลาง 2 เขื่อน คือ เขื่อนกระเสียว และเขื่อนทับเสลา จึงต้องมีการวางแผนบริการจัดการน้ำในเขตชลประทานที่ต่อเนื่องกับทั้ง 6 เขื่อนนี้อย่างละเอียด กำหนดความเร่งด่วนในการใช้น้ำ โดยจะให้ความสำคัญกับน้ำที่ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค เรื่องระบบนิเวศ การทำเกษตรต่อเนื่อง และการสำรองน้ำเพื่อใช้ในฤดูกาลต่อไป นอกจากนี้ จะจัดทำพื้นที่เสี่ยงภัยแล้งขึ้นทั้งประเทศ อาศัยข้อมูลจากสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า (GISTDA) ประกอบกับข้อมูลภาคพื้นดินจากกระทรวงเกษตรฯและกระทรวงมหาดไทย

“ช่วง 4 ปีที่รัฐบาลนี้เข้ามาบริหารจัดการน้ำ จากการวางแผนบูรณาการอย่างรอบคอบ ทำให้การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและน้ำแล้ง ใช้งบประมาณไป 18,594 ล้านบาท แต่หากย้อนหลังไป 4 ปีก่อนรัฐบาลนี้เข้ามา เราใช้เงินในการเดียวกันนี้ 89,755 ล้านบาท แสดงว่าหากมีการเตรียมการที่ดี บริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ จะประหยัดงบประมาณได้จำวนมาก และหากเทียบปริมาณน้ำระหว่างปี 2554 และปี 2560 พบว่ามีปริมาณเท่ากัน นอกจากนี้ ในปี 2558 ที่รัฐบาลนี้เข้ามา เราประสบภัยแล้งค่อนข้างรุนแรง น้ำในอ่างเก็บน้ำน้อยที่สุดในรอบ 10 ปี แต่เราสามารถจัดการจนลดผลกระทบต่อประชาชน” รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวต่อว่า นอกจากนี้ เรายังหารือถึงการรับมือกับฤดูฝนในปี 2562 จากปี 2561 ที่มีปัญหาเรื่องการบริหารน้ำในอ่างเก็บน้ำบางแห่งซึ่งมีปริมาณน้ำเกิน 100 เปอร์เซ็นต์ จึงส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ท้ายอ่าง โดยเราจะเปลี่ยนหลักเกณฑ์ เช่น การรักษาระดับน้ำตาม Rule curve หรือเกณฑ์ควบคุมที่มีอยู่เดิม ซึ่งก่อนหน้านี้เราทำเกณฑ์ควบคุมเป็นมาตรฐานเดียว ไม่มีการปรับแก้ วันนี้จึงต้องปรับให้ยืดหยุ่นได้ เช่น ถ้ามีปริมาณน้ำมากหรือปริมาณน้ำน้อยในแต่ละปี ควรปรับเกณฑ์ควบคุม ปรับการกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำตามเกณฑ์ควบคุมใหม่


กำลังโหลดความคิดเห็น