xs
xsm
sm
md
lg

มท.สรุปร่าง กม.เลือกตั้งท้องถิ่นฉบับกำลังพิจารณาด่วนใน สนช. จี้ผู้ว่าฯ ทำความเข้าใจ ปชช.-อปท.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


มหาดไทย-กสถ.สรุปร่างกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่น ฉบับกำลังพิจารณาด่วนใน สนช.วาระแรก ส่งถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศทำความเข้าใจประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แบบแยกรายมาตราละเอียดยิบ

วันนี้ (4 ต.ค.) มีรายงานจากกระทรวงมหาดไทยว่า กองการเลือกตั้ง กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น (กสถ.) มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ทำความเข้าใจต่อประชาชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีความเข้าใจต่อร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่นทั้ง 6 ฉบับที่อยู่ในระหว่างการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่กำลังพิจารณาเรื่องด่วน โดยเมื่อผ่านการพิจารณาในวาระแรกของ สนช.แล้วจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการฯ จำนวน 3 ชุด เพื่อพิจารณาปรับแก้ก่อนนำเข้าพิจารณาวาระ 2-3 ต่อไป ซึ่ง สนช.ตั้งเป้าว่าจะพิจารณาต้องพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 6 ฉบับให้แล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้

ทั้งนี้ โดยเฉพาะให้ประชาชนรับรู้สาระสำคัญของร่างพระราขบัญญัติการเลือกตั้งสมาขิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. ... มีสาระสำคัญประกอบด้วย หน้าที่และอำนาจการจัดการเลือกตั้งกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีหน้าที่และอำนาจในการจัดการ เลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจมอบหมายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดการ เลือกตั้ง หรือจัดการเลือกตั้งเอง หรือมอบหมายให้หน่วยงานอื่นของรัฐซึ่งมิใช่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นดำเนินการแทน (มาตรา 5)

กำหนดระยะเวลาการจัดการเลือกตั้ง กำหนดให้จัดการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งครบวาระ หรือภายใน 60 วัน นับแต่วันที่สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหาร ท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นนอกจากครบวาระ เว้นแต่กรณีสมาชิก สภาท้องถิ่นมีวาระดำรงตำแหน่งเหลืออยู่ไม่ถึง 180 วัน จะไม่จัดให้มีการเลือกตั้งก็ได้ ทั้งนี้ กรณีมีความจำเป็นเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะมีคำสั่งให้ย่นหรือขยายระยะเวลาให้มีการเลือกตั้งโดยต้องระบุเหตุผลไว้ด้วย (มาตรา 10)

การประกาศให้มีการเลือกตั้ง เมื่อกรณีที่ต้องมีการเลือกตั้ง ให้ผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยความเห็นชอบของผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดประกาศให้มีการเลือกตั้ง การประกาศอย่างน้อยต้องมีเรื่อง ดังต่อไปนี้ 1) วันเลือกตั้ง 2) วันรับสมัครเลือกตั้ง ซึ่งให้มีการเริ่มรับสมัครไม่เกิน 10 วัน นับแต่ประกาศให้มีการเลือกตั้งและต้องกำหนดวันรับสมัครไม่น้อยกว่า 5 วัน 3) สถานที่รับสมัครเลือกตั้ง 4) จำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นที่จะมีการเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้ง

การบริหารจัดการการเลือกตั้ง จำนวนเขตเลือกตั้ง ต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับอำเภอหรือตำบลหรือเขตท้องที่ที่อยู่ภายในเขตเลือกตั้ง รวมถึงหลักฐานการสมัครรับเลือกตั้ง (มาตรา 11) และการบริหารจัดการการเลือกตั้ง สรุปสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องได้ โดยผู้ดำเนินการเลือกตั้งกำหนดให้หัวหน้าพนักงานส่วนท้องถิ่นเป็น ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น โดยมีหน้าที่และอำนาจดังต่อไปนี้ รับสมัครเลือกตั้ง, กำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง, แต่งตั้งและจัดอบรมเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง, ตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและดำเนินการเพิ่มชื่อหรือถอนชื่อ, ดำเนินการเกี่ยวกับการลงคะแนนเลือกตั้ง การนับคะแนน การประกาศ ผลการคะแนนเลือกตั้ง และดำเนินการอื่นอันจำเป็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง (มาตรา 24)

สำหรับคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ประกอบด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซื่งได้รับการแต่งตั้งจากข้าราชการและเจ้าหน้าที่ยื่นของรัฐในเขตจังหวัดหรือเขตอำเภอหรือแต่งตั้งจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง โดยมิให้แต่งตั้งข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เว้นแต่แต่งตั้งเป็นเลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการ มีหน้าที่เสนอแนะและให้ความเห็นชอบในการกำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง และการแต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ดำเนินการเลือกตั้ง เป็นต้น (มาตรา 25 และ 26)

คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง ไม่น้อยกว่า 5 คน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการออกเสียงลงคะแนนและการนับคะแนนของหน่วยเลือกตั้ง (มาตรา 27) เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย อย่างน้อย 2 คน มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำหน่วยเลือกตั้ง (มาตรา 27)

ส่วนการกำหนดเขตเลือกตั้ง หน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง ใน “เขตเลือกตั้งสำหรับสมาชิกสภาห้องถิ่นกรณีกรุงเทพมหานคร” ถือเขตเป็นเขตเลือกตั้ง กรณีองค์การบริหารส่วนจังหวัด ถือเขตอำเภอเป็นเขตเลือกตั้ง กรณีเทศบาลตำบลแบ่งเป็น 2 เขต กรณีเทศบาลเมืองแบ่งเป็น 3 เขต กรณีเทศบาลนครหรือเมืองพัทยา แบ่งเป็น 4 เขต กรณีองค์การบริหารส่วนตาบลถือเขตหมู่บ้านเป็นเขตเลือกตั้ง (มาตรา 18) สำหรับการเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นให้ใช้เขตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นเขตเลือกตั้ง (มาตรา 21)

กรณีของหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง กำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำหนดหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้ง ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน และการเปลี่ยนแปลงเขตของหน่วยเลือกตั้งและที่เลือกตั้งให้กระทำก่อนวับเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10 วัน (มาตรา 22) การรับสมัครเลือกตั้ง ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งยื่นต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมหลักฐานการสมัครและค่าธรรมเนียมการสมัครตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด (มาตรา 50) และให้ดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องของการสมัครและสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม รวมทั้งให้ประกาศจัดทำบัญชีรายชื่ออผู้สมัครรับเลือกตั้ง (มาตรา 51)

การจัดทำบัญชีรายขื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง กำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตรวจสอบบัญชีรายซื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดทำขึ้น และประกาศบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 25 วัน และแจ้งรายชื่อให้เจ้าบ้านทราบก่อนวันเลือกตั้ง ใม่น้อยกว่า 15 วัน (มาตรา 42)

ส่วนค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้ง กำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัครรับเลือกตั้งตามหลักเกณท์ วิธีการและระยะเวลาที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด (มาตรา 58) รวมทั้งกำหนดให้ผู้สมัครต้องจัดทำบัญชีรายรับ และรายจ่ายให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามความเป็นจริงต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดภายใน 90 วันนับจากวันเลือกตั้ง (มาตรา 60) การออกเสียงลงคะแนน กำหนดให้การลงคะแนนเสียงเลือกตั้งโดยใช้บัตรเลือกตั้ง หรือการลงคะแนนโดยใช้วิธีการอื่นที่มีใช่การใช้บัตรเลือกตั้ง (มาดรา 74)

ค่าใช้จ่ายในการจัดการเลือกตั้ง กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งทั้งหมด เว้นแต่ค่าใช้จ่ายชองคณะกรรมการการเลือกตั้งและผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ในกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดมีรายได้ไม่เพียงพอสำหรับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ให้คณะรัฐมนตรืจัดสรรค่าใช้จ่ายให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตามความจำเป็น (มาตรา 13) ระยะเวลาการออกเสียงลงคะแนน กำหนดให้เป็นการออกเสียง ลงคะแนนตั้งแต่เวลา 08.00 น.ถึงเวลา 16.00 น. แต่ในกรณีที่เห็นสมควรเพื่อประโยชน์ในการจัดการเลือกตั้งให้เรียบร้อย คณะกรรมการการเลือกตั้งจะกำหนดเวลาการออกเสียงลงคะแนนสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดเป็นอย่างอื่นก็ได้ แต่ต้องมีเวลาการออกเสียงลงคะแนนไม่น้อยกว่า 7 ชั่วโมง (มาตรา 76)

การนับคะแนนเลือกตั้งและการประกาศผลการเลือกตั้ง การนับคะแนนกำหนดให้นับคะแนนเมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนนเลือกตั้งแล้วโดยเปิดเผย ณ ที่เลือกตั้งของแต่ละหน่วยเลือกตั้ง ห้ามมิให้เลื่อนหรือประวิงเวลานับคะแนน และเมื่อรวมผลการนับคะแนน ณ ที่เลือกตั้งเสร็จสิ้นแล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งนั้น และรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นโดยทันที เพื่อรวบรวมผลการนับคะแนนของทุกหน่วยเลือกตั้งและประกาศผลการนับคะแนนเลือกตั้ง และรายงานแสดงผลการนับคะแนนเลือกตั้งต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดโดยเร็ว (มาตรา 95 และ 100)

ส่วนการประกาศผลการเลือกตั้ง กำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด หากเห็นว่าการเลือกตั้งและการนับคะแนนเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้รายงานผลการนับคะแนนเลือกตั้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อประกาศผลการเลือกตั้ง (มาตรา 104) และเมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกตั้งภายใน 30 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง (มาตรา 16)

ทั้งนี้ กำหนดให้ผูใดก็ตามเห็นว่า การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดมิได้เป็นไปด้วยความสุจริตและเที่ยงธรรม โดยมีหลักฐานตามสมควร มีสิทธิแจ้งเป็นหนังสือต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการตรวจสอบ หากไม่มีเหตุให้ยุติเรื่อง หากมีเหตุให้สั่งให้ดำเนินการไต่สวนโดยพลัน (มาตรา 111) และให้การกระทำผิดตามพระราชบัญญัตินี้อยู่ในอำนาจของศาลอุทธรณ์ในการพิจารณาพิพากษา (มาตรา 106)
กำลังโหลดความคิดเห็น