xs
xsm
sm
md
lg

จ่อชง “บิ๊กตู่” ลงนามร่างระเบียบสำนักนายกฯ บริหารทรัพยากรน้ำ ฉบับใหม่ ยกระดับ “สทนช.” ครอบคลุมป้องกันสาธารณภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


จ่อชง “บิ๊กตู่” ลงนามร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ฉบับใหม่ หลัง ครม.เห็นชอบ ยกระดับ “สทนช.” เป็นเจ้าภาพบริหารทรัพยากรน้ำ ทั้งในระดับประเทศและระดับลุ่มนํ้า เผย เตรียมครอบคลุมถึงการป้องกันสาธารณภัยทุกพื้นที่ ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าของประเทศ

วันนี้ (10 ก.ย.) แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบบาล เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) ได้นำส่งมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 4 ก.ย. ไปยังคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติ เพื่อพิจารณาร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ... ภายหลังเห็นชอบในหลักการ ตามที่สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เสนอ

ทั้งนี้ เป็นการเห็นชอบในหลักการที่มีการเสนอเพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้ครอบคลุมถึงการป้องกันสาธารณภัย โดย พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี ได้นำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบแล้ว ตามมติ กนช. เมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา โดย สทนช. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ยกร่างเสร็จแล้ว

โดยส่วนนี้เป็นการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ.2550 ปรับปรุงองค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ กนช.จากคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 24/2561 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการ กนช.

สำหรับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พ.ศ... ฉบับนี้ เพื่อให้การบริหารทรัพยากรน้ำเป็นไปอย่างมีเอกภาพและบูรณาการสอดคล้องสัมพันธ์กัน ทั้งในระดับประเทศและระดับลุ่มนํ้า

“จึงต้องปรับปรุงโครงสร้าง หน้าที่และอำนาจของคณะกรรมการทรัพยากรนํ้าแห่งชาติ และคณะกรรมการลุ่มนํ้า เพื่อทำหน้าที่ผลักดันและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรนํ้าของประเทศ จัดทำแผนบริหารจัดการนํ้า และแผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าว ให้บรรลุวัตถุประสงค์ เกิดผลส้มฤทธิ์ตามที่ตั้งไว้ และปรับปรุงโครงสร้างของฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการลุ่มนํ้าโดยให้สำนักงานทรัพยากรนํ้าแห่งชาติทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มนํ้า”

อย่างไรก็ตาม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ มีความเห็นว่า ร่างฉบับนี้จะดำเนินการไปพลางก่อน เพื่อให้การบริหารทรัพยากรน้ำอย่างมีเอกภาพและมีระบบ ก่อนที่ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ..ที่อยู่ในขั้นพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีผลบังคับใช้

มีรายงานว่า ร่างฉบับนี้จะเน้นการปรับปรุงอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการลุ่มน้ำ ให้ สทนช. เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการลุ่มน้ำ หลังจากที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) ได้ตัดโอนอัตรากำลังกับภารกิจจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสำนักงบประมาณ ได้สนับสนุนงบประมาณแล้ว

“เป็นการปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงาน โครงการ และงบประมาณ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ ซึ่งจากการรายงานของ สทนช. พบว่า งบประมาณบูรณาการด้านน้ำ ปี 2562 ที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 63,271 ล้านบาท แต่ยังคงมีบางหน่วยงานนำเสนอแผนงานด้านน้ำเพื่อขอรับงบประมาณจากแหล่งเงินอื่นๆ อีก เช่น งบจังหวัด งบกลุ่มจังหวัด หรือในลักษณะบูรณาการอื่นๆ โดย สทนช. ร่วมกับ สภาพัฒน์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ พิจารณาแนวทางในการปรับปรุงกระบวนการจัดทำแผนงานและโครงการจากทุกแหล่งเงิน เพื่อลดความซ้ำซ้อนกับแผนงานอื่น”


กำลังโหลดความคิดเห็น