xs
xsm
sm
md
lg

ปชป.โวปฏิรูปพรรคเป็นตัวอย่าง ชูหยั่งเสียงเลือก หน.ล้ำกว่ากฎหมาย จี้ คสช.อย่าเอียงพรรคที่หนุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (แฟ้มภาพ)
"มาร์ค" โว ปชป.ยุคใหม่หยั่งเสียงเลือกหัวหน้าล้ำกว่ากฎหมาย หวังเป็นผู้นำพัฒนาประชาธิปไตย ติง คสช.ล้มเหลวปฏิรูปพรรค เตรียมทำให้ดูเป็นแบบ คาดได้หัวหน้าใหม่ พ.ย. "องอาจ" บี้ปลดล็อกยึดประโยชน์ประชาชนแทนพรรคที่หนุนตัวเอง ห่วงทำเพื่อตัวเองสร้างปัญหาไม่รู้จบ

วันนี้ (9 ก.ย.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กอธิบายถึงการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในชื่อเรื่อง "ประชาธิปัตย์ยุคใหม่กับการเลือกหัวหน้าพรรคโดยสมาชิก" มีเนื้อหาระบุถึงเรื่องที่เคยประกาศแนวคิดให้สมาชิกพรรคเลือกหัวหน้าพรรคตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "ประชาธิปัตย์ยุคใหม่" และเป็นการยืนยันถึงความเป็นสถาบันการเมืองของพรรคในระบบประชาธิปไตยที่เริ่มตั้งแต่ภายในพรรค ไม่มีใครคนใด คนหนึ่งเป็นเจ้าของ โดยพรรคได้พิสูจน์เรื่องนี้มากว่า 70 ปีแล้ว และเป็นพรรคเดียวที่มีการแข่งขันเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอย่างจริงจังมาหลายครั้ง โดยปัจจุบันที่ประชุมใหญ่ของพรรคประกอบด้วย ส.ส. และประธานสาขาพรรคเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นผู้มีสิทธิเลือกหัวหน้าพรรค สอดคล้องกับกฎหมายใหม่ที่ออกมา แต่ประชาธิปัตย์สามารถเป็นผู้นำและมีความก้าวหน้ามากขึ้นเพราะเห็นว่าการปฏิรูปการเมืองที่ดำเนินการโดย คสช.ในเรื่องนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง เห็นได้จากการหยั่งเสียงเลือกผู้สมัคร ส.ส.ที่กำลังวนกลับไปสู่ที่เดิม รวมไปถึงคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 53/60 ที่ส่งผลให้สาขาพรรคกว่า 150 แห่งทั่วประเทศถูกยุบ ทำให้องค์ประกอบของที่ประชุมใหญ่ขาดความหลากหลายและความเป็นประชาธิปไตย ประกอบกับสี่ปีที่ผ่านมาไม่มีการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง

ในขณะที่ความเปลี่ยนแปลงในสังคมโลกและในประเทศเกิดขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว จึงมีความจำเป็นที่สมาชิกพรรคและประชาชนในวงกว้างควรเข้ามามีส่วนร่วมมากกว่าการปล่อยให้การกำหนดตัวผู้บริหารและทิศทางของพรรคจำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มอดีต ส.ส.และผู้บริหารพรรคปัจจุบัน ดังนั้น การหยั่งเสียงหัวหน้าพรรคในครั้งนี้จะเป็นการสนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยภายในพรรค เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญของระบบการเมืองไทย โดยหวังว่าจะเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ การแข่งขันที่จะเกิดขึ้นไม่ควรถูกมองว่าเป็นเรื่องของความขัดแย้ง เพราะถ้ามองอย่างนั้นเท่ากับเป็นการไม่สนับสนุนให้เกิดกระบวนการประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง โดยการหยั่งเสียงจะอำนวยความสะดวกให้สมาชิกลงคะแนนผ่านแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ อย่างไรก็ตาม การที่กฎหมายพรรคการเมืองยังไม่รองรับเรื่องนี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ต้องแก้ไขข้อบังคับให้ที่ประชุมใหญ่ของพรรคซึ่งกฎหมายกำหนดให้เป็นผู้เลือกหัวหน้าพรรค จะต้องรับฟังผลของการหยั่งเสียงจากสมาชิก ซึ่งตนมั่นใจว่าที่ประชุมใหญ่จะทำเช่นนั้น

นายอภิสิทธิ์ยังได้โพสต์แผนผังปฏิทินการเลือกหัวหน้าพรรคโดยสมาชิกของพรรคประชาธิปัตย์ยุคใหม่ไว้ โดยมีกรอบเวลาเริ่มตั้งแต่ คสช.คลายล็อกกลางเดือนกันยายน จากนั้น ประชาธิปัตย์ประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรคในช่วงปลายกันยายน ใช้เวลาในช่วงเดือนตุลาคมถึงพฤศจิกายนรับสมาชิกและผู้เข้ารับการหยั่งเสียง แบ่งเป็นสองช่วง คือ 2-3 สัปดาห์รับสมัครสมาชิกและผู้เข้ารับการหยั่งเสียง และอีก 2-3 สัปดาห์เป็นช่วงเวลาของการหยั่งเสียงและรับสมาชิกพรรคต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีการประกาศผลการหยั่งเสียงในเดือนพฤศจิกายน จากนั้น 7 วันจะมีการประชุมใหญ่เพื่อเลือกหัวหน้าพรรคตามกฎหมาย โดยกระบวนการเลือกหัวหน้าพรรคทั้งหมดจะเสร็จสิ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2561

ขณะที่นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกระบวนการคลายล็อก และปลดล็อก ที่ยังมีความไม่ชัดเจนอยู่ขณะนี้ว่า การที่ยังมีความไม่ชัดเจนจนก่อให้เกิดความเคลือบแคลงว่าจะคลายล็อกอะไรให้ทำได้บ้าง และจะปลดล็อกเมื่อไหร่ถึงจะเหมาะสมนั้นล้วนแล้วแต่เกิดจากการกระทำของ คสช. และ สนช. ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแม่น้ำห้าสายของ คสช. โดยในส่วนของ คสช.ล็อกพรรคการเมืองไม่ให้ปฏิบัติตามกฎหมายพรรคการเมืองที่มีผลบังคับใช้มานานเกือบหนึ่งปีแล้ว ขณะที่ สนช.ก็เขียนกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้เมื่อผ่านพ้นไป 90 วันหลังกฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษา
.
“การกระทำเช่นนี้ใครๆ ก็มองออกว่าเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจใน คสช. ที่กำลังจะแปรสภาพจากกรรมการมาเป็นผู้เล่นในสนามการเมือง ปลดล็อกเมื่อไหร่ หรือ จะคลายล็อกอะไรก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ คสช.จะกำหนดเองทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น คสช.จะต้องรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้น” นายองอาจกล่าว

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวด้วยว่า ขณะนี้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า กระบวนการคลายล็อก ปลดล็อกที่ คสช.จะกำหนดขึ้นมานั้นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่มีจุดยืนสนับสนุนผู้มีอำนาจใน คสช. ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น สร้างความไม่ชอบธรรมให้เกิดขึ้นในกระบวนการเลือกตั้ง อันส่งผลต่อการยอมรับผลการเลือกตั้งตามมา ในที่สุดอาจกลายเป็นการจุดชนวนปัญหาตามมาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาอย่างไม่จบสิ้น คสช.ไม่ควรคลายล็อกปลดล็อกอยู่บนพื้นฐานความคิดว่าพรรคการเมืองไหนจะได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ แต่ควรอยู่บนพื้นฐานความคิดว่าจะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างไร

เพราะในขณะที่เรากำลังเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของประเทศที่จะกำหนดอนาคตของตนเอง และประเทศชาติบ้านเมืองผ่านการเลือกตั้ง ควรมีสิทธิเสรีภาพที่จะศึกษาพิจารณานโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ อย่างกว้างขวางตั้งแต่บัดนี้ ว่าแต่ละพรรคมีนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องอย่างไร จะแก้ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำแบบไหน รวมถึงแนวทางการพัฒนาประเทศอีกมากมายหลายด้าน การคลายล็อกปลดล็อกจึงควรคำนึงถึงประชาชนเป็นศูนย์กลาง ให้ประชาชนได้ประโยชน์จากการมีส่วนร่วมทางการเมือง กับพรรคการเมืองอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมเปิดโอกาสให้พรรคการเมือง และประชาชนได้ทำกิจกรรมทางการเมือง ให้เป็นไปอย่างที่ควรจะเป็นตามธรรมชาติของระบอบประชาธิปไตยอย่างถ้วนหน้า ไม่ควรใช้การคลายล็อกอะไรได้บ้าง หรือปลดล็อกเมื่อไหร่ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของผู้มีอำนาจใน คสช. ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบตามมาไม่จบสิ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น