xs
xsm
sm
md
lg

สทน. เปิดยุทธการ “ตรอกนองโมเดล” เมืองจันท์ ปราบแมลงวันทอง ขยายสู่ทั่วประเทศ เพิ่มรายได้ผลไม้ส่งออก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โดยมี ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธานกล่าวเปิดโครงการ ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร
ดร.กัญญวิมว์ กีรติกร กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีผลผลิตจากผลไม้มากมาย ในปี 2560 ไทยมีรายได้จากการส่งออกผลไม้มากกว่า 40,000 ล้านบาท และคาดว่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ แต่เกษตรกรยังต้องเผชิญกับปัญหาสำคัญ คือ ศัตรูพืชที่มารบกวนผลผลิต ซึ่งแมลงวันผลไม้จัดเป็นแมลงศัตรูพืชที่สำคัญ นอกจากจะทำให้ผลไม้เน่าเสียแล้วยังมีผลต่อคุณภาพการส่งออกผลไม้ หลายครั้งที่ผลผลิตถูกห้ามนำเข้าและต้องทำลายทิ้ง เกษตรกรมีวิธีการควบคุมกำจัดแมลงชนิดนี้หลายวิธี แต่ส่วนใหญ่จะใช้สารเคมีในการกำจัด ซึ่งไม่ค่อยได้ผลมากนัก เป็นอันตรายและทำให้ต้นทุนการผลิตสูง เมื่อใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานานจะส่งผลให้สารเคมีตกค้าง ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อ สุขอนามัยของเกษตรกร ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมด้วย

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สทน. จึงได้ศึกษาวิจัยและดำเนินการนำวิธีการทำหมันแมลงมาใช้ควบคุม และกำจัดแมลงวันผลไม้แบบพื้นที่กว้าง โดยเริ่มต้นจากพื้นที่ปลูกผลไม้ของตำบลตรอกนอง อำเภอขลุง จังหวัดจันทบุรี เป็นแห่งแรกก่อน ต่อมาพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผสมผสานกับวิธีการอื่นๆ จนประสบความสำเร็จ สามารถลดจำนวนประชากรแมลงศัตรูพืช ผลผลิตผลไม้จากตรอกนองมีคุณภาพ ปลอดภัยตามมาตรฐานการส่งออก ได้รับการยอมรับจากตลาดทั้งในและต่างประเทศ

“ยุทธการปราบแมลงวันทองด้วยตรอกนองโมเดล” ดำเนินโครงการโดย สทน. ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร ปฏิบัติงานใน 10 พื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ จันทบุรี ระยอง ตราด ชุมพร นครศรีธรรมราช พิษณุโลก ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา ขอนแก่น และราชบุรี
ดร.พรเทพ นิศามณีพงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ระบุว่า สทน. จะนำต้นแบบความสำเร็จจากตรอกนองโมเดล มาบูรณาการร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งเกษตรกรในพื้นที่ เพื่อสร้างเขตประชากรแมลงวันผลไม้ ได้รับการรับรองพื้นที่โดยกรมวิชาการเกษตร สร้างระบบควบคุม และกำจัดแมลงศัตรูพืชของผลไม้ สามารถผลิตไม้ผลที่มีคุณภาพ ปลอดภัยตามมาตรการสุขอนามัยพืช นอกจากจะเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าเกษตรของประเทศแล้ว ผลไม้ส่งออกของไทยยังสามารถแข่งขันในตลาดโลก เพิ่มรายได้ทางเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิต และส่งผลต่อสุขอนามัยที่ดีของประชาชนอีกด้วย
ด้านนายเฉลย สำเภาพันธุ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลตรอกนอง กล่าวว่า เมื่อก่อนเกษตรกรเผชิญกับปัญหาของต้นทุน มีการระบาดของแมลงวันทองค่อนข้างสูง ต้นทุนการผลิตก็สูงไปด้วย ทั้งปุ๋ย ยาฆ่าแมลง พยายามหาแนวทางว่าการผลิตอย่างไรจะลดการใช้สารเคมีให้ต่ำลง เกษตรกรก็ได้เข้ามาอบรมที่มหาวิทยาลัยบูรพาวิทยาเขตจันทบุรี ก็ได้องค์ความรู้จากตรงนี้ไป โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2548 ครั้งแรกได้วางกับดักก่อนเพื่อกำจัดแมลงวันทองโดยใช้สารเคมี แมลงเข้าไปกินแล้วก็ตาย การวางกับดักต้องทำเรื่อยๆ ใน 1 ฤดูกาลผลิตต้องวางกับดักหลายๆรอบ เมื่อปี 2552 เกษตรกรเริ่มเอาไข่ที่ฉายรังสีแล้วจากสทน.นำไปให้อบต.จำนวน 3-5 ล้านฟอง ซึ่งมีสมาชิกในกลุ่มประมาณ 50 กว่าราย โดยปล่อยในพื้นที่ประมาณ 10,000 กว่าไร่ ปล่อย 10 กว่าจุด โดยแมลงวันทองที่เป็นหมันที่เราปล่อยจะสังเกตได้ว่าเป็นหลังสีขาว ภายหลังจากการปล่อยแมลงวันทอง สามารถลดการใช้สารเคมีไปได้มากถึงล้านบาทต่อฤดูกาลผลิต แต่ก่อนผลไม้เปลือกบางแทบกินไม่ได้เลยอย่างกล้วยตัดมาทั้งเครือเอามาบ่มแทบจะกินไม่ได้เลยมีแต่หนอน ปัจจุบันไม่มีแล้ว อีกทั้งรายได้ก็เพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่ใช้สารเคมีจำนวนมากก็ลดไป 60-70 % เดี่ยวนี้ผลผลิตก็ได้เต็มจำนวน รายได้ก็เพิ่มมากขึ้น และมีสุขภาพดีขึ้น ผมว่าการใช้นิวเคลียร์ ดีกว่ากการใช้สารเคมีอีก.




กำลังโหลดความคิดเห็น